โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)
โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เทศบาลนครนคราชสีมา

เคล็ดไม่ลับ วิธีการส่งเสริมลูกให้เรียนเก่ง


กรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นปัจจัยครึ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกฉลาด ส่วนปัจจัยที่เหลือ จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมจากการอบรมเลี้ยงดู

 

 

 

     

        คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้  คงจะทราบข้อมูลว่า  กรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากคุณพ่อคุณแม่  เป็นปัจจัยครึ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกฉลาด   ส่วนปัจจัยที่เหลือ  จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมจากการอบรมเลี้ยงดู   รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ  ดังนั้น  หากจะกล่าวว่าคุณพ่อคุณแม่  คือ  ปัจจัยสำคัญที่สุด  ในการส่งเสริมให้ลูกฉลาดคงจะมิใช่การกล่าวที่เกินจริง

                                                                   

        คุณ พ่อคุณแม่ควรต้องทราบ  และตระหนักถึงความสำคัญว่า   "เด็กสามารถเรียนรู้และมีพัฒนาการดีที่สุด  ในช่วงอายุ 3 ปีแรก”   สำหรับในครอบครัวที่มีกรรมพันธุ์ที่ดี   ก็ถือว่าเด็กมีต้นทุนชีวิตที่ดี   การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดจนพัฒนาการต่าง ๆ  ให้กับลูกก็จะไม่ยุ่งยากมากนัก   แต่สำหรับในบางครอบครัว  หากรู้สึกว่าไม่มีปัจจัยเรื่องของกรรมพันธุ์ช่วยส่งเสริม   ก็ขอให้ทราบและมั่นใจว่าสิ่งแวดล้อมจากการอบรมเลี้ยงดู  และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ  เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างและกำหนดได้ค่ะ

      

คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการส่งเสริมลูกให้เรียนเก่ง

ลองใช้เคล็ดไม่ลับเหล่านี้ดูค่ะ

 

1. คุยกับลูกบ่อยๆ 

         มีผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับว่า  เด็กทารกสามารถจำและตอบสนองต่อเสียงของแม่ได้เกือบนาทีแรกหลังคลอด   และยังมีข้อสนับสนุนที่บอกว่า  ทารกได้ยินเสียงของแม่ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์   ทารกที่เกิดสัปดาห์ต่อมาจะสามารถสบตากับผู้ที่กำลังพูดกับเขาได้   ดังนั้น   เมื่อคุณพ่อคุณแม่อุ้มลูก   ให้มองสบตาลูกและให้หน้าของคุณห่างกับเขาประมาณ 30 เซนติเมตร   แล้วพูดกับเขาช้า ๆ ชัด ๆ   และรอการตอบสนองจากเขาค่ะ

 

2. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

       เด็กเล็กยังอ่านเองไม่ได้ คุณจึงควรอ่านหนังสือให้เขาฟังบ่อยๆ เริ่มจากการเลือกหนังสือที่เหมาะกับวัย เช่น นิทานสำหรับเด็ก เพื่อช่วยให้ลูกได้ยินลักษณะของคำพูด และฝึกให้เขาออกเสียงพูด ลูกจะได้คุ้นเคยและเรียนรู้ที่จะเลียนแบบ ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับลูกต่อไป

 

3. ฟังลูกอ่าน

          เมื่อลูกรู้จักอ่านหนังสือ   คุณควรส่งเสริมเขา   ด้วยการช่วยลูกเลือกหนังสือเพื่อนำมาอ่านด้วยกัน  ให้เขาอ่านให้ฟัง  ฟังความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาอ่าน   การที่คุณฟังเขาอ่าน   และฟังความคิดเห็นของเขา  จะทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า  ที่สำคัญการอ่านหนังสือกับลูกเป็นการปลูกฝังความคิดว่า   คุณเห็นคุณค่าของการเรียนรู้  และทำให้เขาทราบว่ากิจกรรมที่ทำอยู่เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์   และเป็นการสร้างความอบอุ่นที่ดีอีกด้วย

 

4. ชื่นชมและให้รางวัลกับความสำเร็จของลูก 

         อาจเป็นการกล่าวชม  กอด  หอมแก้ม  ทำของโปรดให้เขาทาน  หรือ พาไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ   เพื่อบอกให้ลูกทราบว่าความสำเร็จของเขาเป็นเรื่องสำคัญและน่ายินดี   บางครั้งการใช้โอกาสของความสำเร็จของลูกในการจัดงานเลี้ยงเล็ก ๆ  ในครอบครัว  ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพได้อีกวิธีหนึ่ง

 

5. ส่งเสริมการเล่นของลูก

           คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจและยอมรับว่า  การเล่นคือธรรมชาติของเด็ก  การเล่นจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้  ช่วยให้เขาสนุกสนาน  ของที่มีอยู่รอบตัวก็เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี   ของเล่นของลูกที่ดีไม่จำเป็นต้องแพง   เพียงแต่เลือกให้เหมาะสมกับวัย   ยุคนี้ของเล่นที่มีคุณภาพส่วนใหญ่จะระบุอายุของเด็กไว้ให้ด้วย   การจัดตารางการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมก็เป็นเรื่องจำเป็น   ที่สำคัญอย่าปล่อยให้ลูกเล่นมากหรือน้อยเกินไปค่ะ

 

6. คุยเรื่องชีวิตประจำวันกับลูก

       อาจใช้คำถามลักษณะว่า   "วันนี้เราทำสลัดผักทานกัน ไหนคนเก่งลองบอกแม่สิ  ว่ามีผักอะไรบ้าง”    “วันอาทิตย์หน้าคุณพ่อจะพาเราไปเที่ยวสวนสัตว์ตามสัญญา  ดีใจไหมลูก  แล้วลูกชอบสัตว์อะไรมากที่สุด  ทำไมถึงชอบคะ"   การพูดคุยกับลูกจะช่วยให้เขาคิดได้  ให้เขาได้รู้จักการโต้ตอบ  ทำให้เขาจะรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ  หากจะมีบางครั้งเขาอาจพูดผิด  ถ้าไม่เสียหายก็ปล่อยไปบ้าง  แต่หากส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขา  ต้องค่อย ๆ บอกว่าสิ่งใดถูก  โดยไม่ทำให้เขารู้สึกว่าผิด  และอย่าดุลูกในขณะที่คุณคุยกับเขาค่ะ

 

7. นับเลขเล่นกับลูก

         เริ่มจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว  เช่น  ถามว่าครอบครัวเรามีกี่คน   ตุ๊กตาตัวโปรดของลูกมีกี่ตัว   วันนี้ลูกใช้เงินไปเท่าไหร่   และเก็บเงินใส่กระปุกได้กี่บาท  เป็นต้น

 

8. ให้เด็กบอกสีของสิ่งต่าง ๆ 

      เช่น  ดอกไม้  เสื้อผ้า  หรือของใช้ต่าง ๆ  เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

 

9. สร้างบรรยากาศให้ลูกสบายใจกับการไปโรงเรียน

       ทำให้เขามีความสุข   อาจให้รางวัลลูกเป็นอุปกรณ์ทางการศึกษา  เช่น  กล่องดินสอใหม่  กล่องดินสอสี เ สื้อผ้าชุดใหม่  เมื่อเขาทำความดี  หรือคุณอาจเขียนคำว่า  "แม่รักลูก”  หรือ  “พ่อรักลูก”  สอดไว้ในหนังสือ  เป็นต้น

 

10. ควรมีมุมหนังสือและที่นั่งอ่านหนังสือสบาย ๆ ในบ้าน

      หากมีพื้นที่เพียงพอ  เพื่อที่ทุกคนในครอบครัว  จะได้ใช้เป็นที่อ่านหนังสือ  ทำการบ้าน  มุมทำงาน  และมุมนั่งพักผ่อนได้สบาย ๆ ของทุกคนได้พร้อมกัน

                                                                        

       สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม   คือ   ควรฝึกให้ลูกตื่นนอนเป็นเวลาตั้งแต่ยังเล็ก  เพื่อที่จะได้ไม่ต้องบังคับเคี่ยวเข็ญให้ลูกต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน

 

       เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงแค่นี้   คิดว่าคุณพ่อคุณแม่คงจะทำได้ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ   หากเทียบกับผลตอบแทนที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลที่คุณและลูกจะได้รับ

ที่มา : วารสารสตรีและครอบครัว ฉบับพิเศษ ปีที่ 3 ฉบับที่ 13 ประจำเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2550
สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
 

     

P

ครูสุภาภรณ์

ครูสุภาภรณ์ พลเจริญชัย

โรงเรียนเทศบาล4(เพาะชำ)

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.familynetwork.or.th/node/15671
หมายเลขบันทึก: 462007เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2011 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท