ชาครธมโม
นาย สมชาย ชาครธมโม ชินวานิชย์เจริญ

เล่าเรื่องการพัฒนาร้านยา ตอนที่ 1 การจัดหมวดหมู่ยา


เล่าเรื่องการพัฒนาร้านยา ตอนที่ 1 การจัดหมวดหมู่ยา

เล่าเรื่องการพัฒนาร้านยา ตอนที่ 1 การจัดหมวดหมู่ยา

ผู้เขียน (เภสัชต้น)ในฐานะกรรมการชมรมร้านยาจังหวัดอุดรธานี จากการประชุมคณะกรรมการชมรมเมื่อวันที่ 21 กันยายน 54 มีมติเกี่ยวกับการพัฒนาร้านยาในบริบทหรือมุมมองของคนที่มีชีวิตอยู่กับยามาตลอดชีวิต ทั้งนี้เรื่องแรกที่ตกลงกันนั้นคือเรื่องการจัดหมวดหมู่ยา ซึ่งต่อไปนี้คงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เล่าสู่กันฟัง และก็ไม่ได้หมายความว่า ร้าน ก สัมพันธ์เภสัช ที่จะเล่าเป็นตัวอย่างนี้จะเป็นโมเดลที่ดีที่สุด เพียงเป็นตัวอย่างหนึ่งให้เพื่อนมวลสมาชิกได้เรียนรู้ร่วมกัน อันดับแรกเราคงต้องมาดูกันก่อนว่าการจะจัดหมวดหมู่ยาได้นั้นต้องรู้อะไรบ้าง โดยใช้ตัวอย่างจากร้าน ก สัมพันธ์เภสัชนะครับ

1 การจัดหมวดหมู่ยาและสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยพิจารณาจากลักษณะของยา ได้แก่ ยาในรูปแบบของแข็ง ของเหลว ของกึ่งแข็งกึ่งเหลว และกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ซึ่งของแข็งได้แก่ ยาเม็ด ยาแคปซูล ของเหลวได้แก่ยาน้ำใช้ภายนอก ใช้ภายใน ของกึ่งแข็งกึ่งเหลว ได้แก่ ขี้ผึ้ง ยาหม่อง ยาครีม เจลต่างๆ

2  การจัดหมวดหมู่ยา โดยพิจารณาจากบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ กล่อง หลอด ขวด เป็นต้น โดยจะเห็นว่ายาในรูปแบบต่างๆ ก็จะมีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คล้าย ๆ กัน เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ก็จะบรรจุในขวด ในกล่อง ในขวดก็จะมีขวดเล็ก กลาง ใหญ่  ในกล่องก็จะมีกล่องรวมแผง 50 แผงบ้าง 10 แผงบ้าง หรือกล่องละแผงบ้างก็มี หรือยาน้ำก็ไล่ไปตั้งแต่ 60 มล. เช่นพวกยาน้ำเด็กให้เด็กกิน หรือยาน้ำกลุ่มเคลือบกระเพาะ ก็จะมักจะมีขนาด 240 มล.บ้าง 450 มล.บ้าง 1000 มล.บ้าง หรือกลุ่มยาสตรีแบบน้ำมีขวดเล็ก ขวดใหญ่ เป็นต้น

3 การจัดหมวดหมู่ยา โดยพิจารณาจากระบบของร่างกายที่ยานั้นจะไปทำงานด้วย โดยแบ่งแบบง่าย ๆ จากการพิจารณาส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไล่ไปตั้งแต่ หัว อก ท้อง และระบบกล้ามเนื้อ

ทั้งนี้การจัดหมวดหมู่ยาของร้าน ก สัมพันธ์เภสัช ได้ผสมผสานการจัดหมวดหมู่ตามข้อ 1 2 และ 3 มาประกอบการพิจารณาดังนี้ โดยเรียงลำดับจากด้านหน้าร้าน

ตู้ที่ 1 กลุ่มยาสมุนไพรและยาสตรี ยาในกลุ่มนี้มีในแบบยาเม็ด ยาน้ำ ซึ่งผู้จัดได้นำยาสตรีทั้งแบบน้ำ แบบเม็ด มาจัดวางไว้ โดยให้ยาน้ำอยู่กับยาน้ำ ยาเม็ดอยู่ส่วนยาเม็ดและจัดแบ่งเรียงไปตามบรรจุภัณฑ์ยาน้ำมีขวดขนาดใกล้เคียงกัน มีทั้งขวดเล็ก ขวดใหญ่และขวดใหญ่มาก ในส่วนของยาเม็ดก็จะอยู่ในกล่องและขวด ก็นำมาจัดเรียงลดหลั่นกันไปเพื่อความสวยงาม

ตู้ที่ 2 กลุ่มอาหารเสริมสุขภาพ ในกลุ่มนี้มีทั้งอยู่ในกล่อง ในขวด โดยทางร้านได้จัดเป็นกลุ่มตามอาการหรือ Indication หรือฤทธิ์ที่จะไปเสริม เช่นบำรุงสมอง  , บำรุงสายตา , เหมาะกับเด็ก , ช่วยลดไขมัน  แต่ให้จัดแบบมีช่องไฟ ไว้เป็นกลุ่ม ๆ

ตู้ที่ 3 กลุ่มยาครีม ในกลุ่มนี้มักจะอยู่ใยบรรจุภัณฑ์แบบหลอด โดยทางร้านได้จัดทำถาดสำหรับเลื่อนเข้าออกจากตู้ และ Label หรือติดป้ายว่าเป็นยากลุ่มอะไรบ้าง โดยถ้าดูจากการออกฤทธิ์ของยาครีมก็จะมีกลุ่มยาฆ่าเชื้อรา ยาแก้ผิวหนังอักเสบ ยาแก้แผลเป็น ยานวดร้อน ยานวดเย็น ยาทาแก้ฟกช้ำบวม

                ทั้งนี้ในตู้นี้ได้จัดยาคุมกำเนิดมาเข้าตู้นี้ไว้ด้วย

ตู้ที่ 4 กลุ่มยาน้ำแก้โรคในช่องท้อง เนื่องจากยาในกลุ่มนี้จะมีลักษณะพิเศษตรงที่มีขนาดของขวดค่อนข้างใหญ่ และมีน้ำหนักมาก จึงนำมาจัดไว้ในด้านล่างของตู้

ตู้ที่ 5 กลุ่มยาหม่อง ยาน้ำมัน แยกออกมาเพื่อบางครั้งบางทีลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้เอง

ตู้ที่ 6 กลุ่มยาและอุปกรณ์ทำแผล

ตู้ที่ 7 กลุ่มยาอม

ตู้ที่ 8 กลุ่มยาหูคอจมูก

ตู้ที่ 9 กลุ่มยาเม็ดกระป๋องใหญ่ กลุ่มนี้มีการแบ่งเป็นกลุ่มยาแก้โรคในหัว อก ท้อง กล้ามเนื้อ และกลุ่มยาฆ่าเชื้อ

ตู้ที่ 10 กลุ่มยาเม็ดกระป๋องเล็ก กลุ่มนี้มีการแบ่งเป็นกลุ่มยาแก้โรคในหัว อก ท้อง กล้ามเนื้อ และกลุ่มยาฆ่าเชื้อเช่นกัน

ตู้ที่ 11 กลุ่มยาน้ำสำหรับเด็ก แบ่งเป็นยาแก้โรคในหัวคือยาแก้ไข้ , ยาแก้โรคในอก ได้แก่ ยาแก้หวัดคัดจมูก แก้ไอ , ยาแก้โรคในท้อง ได้แก่ยาฆ่าพยาธิ ยาแก้ปวดท้องเจ็บท้อง และกลุ่มยาฆ่าเชื้อแบบน้ำ หรือแบบผงแห้ง

ทั้งนี้คำว่า “ตู้” ไม่ได้หมายถึงเราต้องมีตู้ตามนั้นนะครับ เพียงแต่เราแบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่ม ๆ กันไป เอาละเล่ามาถึงตรงนี้หวังว่าเพื่อนมวลสมาชิกคงได้เห็นภาพว่าการจัดหมวดหมู่ยาในร้านคงทำได้ง่ายขึ้นนะครับ ซึ่งแต่ละร้านคงต้องค้นหาความต้องการของทางร้าน และลูกค้าของตนเองว่าการจัดแบบไหนให้ดูดี สะดวกในการหยิบจับ แต่ที่สำคัญคือต้องไม่เกิดการหยิบผิด ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ก็คงต้องหาความรู้เพิ่มเติม ลองดูนะครับ

เที่ยวหน้าเราคงได้คุยกันเรื่องประโยชน์ของความสะอาด เกริ่นไว้นิดนึงก่อนว่า ฝุ่น 1 อณู จะมีเชื้อโรคเกาะอยู่จำนวนมาก

คำสำคัญ (Tags): #ร้านยาคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 461985เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2011 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท