กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๓๔) : การเรียนรู้ที่สำคัญ


 

 

วันที่ ๖ ก.ย. ๕๔  ชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของคุณครูนุ่น – พรพิมล เกษมโอภาส  มีผู้เข้าสังเกตการณ์มากกว่าวันอื่นๆ  นอกจากจะมีเพื่อนครูที่เพลินพัฒนาแล้ว ยังมีเพื่อนครูจากโรงเรียนทอสี และปัญญาประทีป เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย

 

คุณครูนุ่นเป็นหนึ่งในกลุ่มครูที่เข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการ Lesson Study มาตั้งแต่ปลายปีการศึกษาที่แล้ว และเมื่อฝ่ายวิชาการเปิดโครงการ Open Class เพื่อสร้างการเรียนรู้ของกลุ่มครูไปบนหน้างานจริง

 

คุณครูนุ่นเป็นคุณครูคนแรกที่อาสานำห้องเรียนคณิตศาสตร์ชั้น ๔ ที่ตนดูแลอยู่  เปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ของคุณครูที่สนใจศึกษาห้องเรียนมีการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach และสนใจเข้าร่วมเป็นกลุ่ม Lesson Study เพื่อเรียนรู้ทั้งในขั้นเตรียมสร้างแผนการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับความรู้ก่อนหน้า (met before)   ขั้นจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน   และขั้นการสะท้อนหลังสอนร่วมกันอย่างเข้มข้น

 

วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการ Open Class ช่วงสะท้อนหลังสอนจึงเป็นช่วงของการตกผลึกประสบการณ์ที่ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อนๆ หลายคนสะท้อนว่าคุณสมบัติสำคัญที่ครูนุ่นมีคือความพร้อมรับฟังคำแนะนำของทุกคน และสามารถที่จะนำเอาคำแนะนำนั้นไปพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของห้องได้ทันที ทำให้คุณภาพของห้องเรียน และคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนดีขึ้นทุกครั้ง

 

ตัวคุณครูนุ่นเองสะท้อนว่า “กระบวนการ Lesson Study ในครั้งนี้ทำให้ตัวเองได้พบว่าจะทำให้การทำงานเป็นการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันได้อย่างไร  ทำให้ได้อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างชัดเจนดดยไม่ต้องไปปฏิบัติธรรม  การลดความคาดหวัง ลดความตื่นเต้นที่กำลังเกิดขึ้น เป็นการได้รู้จักจริงๆ ว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่

 

ขณะที่เราเป็นคนสอน ต้องรู้ว่าตอนนี้เรากำลังฟังเด็ก ตอนนี้เราเขียนกระดาน ตอนนี้เรากำลังคิดกับความคิดของเด็ก ขณะที่ทำแผนก็เหมือนกัน  LS ทำให้ได้อยู่กับชีวิตที่เป็นชีวิตจริงๆ  รู้สึกกับการอยู่กับปัจจุบันขณะได้จริงๆ แล้วนุ่นก็คิดเสมอว่างานที่เลือกทำในชีวิตต้องเป็นงานที่ได้พัฒนาศักยภาพตลอด เป็นงานที่ต้องท้าทายเรา  นุ่นไม่เคยมองงานครูเลย เพราะเราเคยเห็นมาว่าครูสอนเสร็จก็ไปเที่ยวไปทำนั่นทำนี่

 

พอมาทำงานเป็นครูที่เพลินพัฒนา แล้วได้มาเจอ LS  จึงทำให้ได้เห็นว่างานครูเป็นงานที่ท้าทายศักยภาพอยู่ตลอดเวลา  แล้วครูก็ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งนุ่นชอบงานที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือเหมือนกับว่าได้สนุกที่จะพัฒนาไปในทุกเรื่อง  พอมาเจอ LS ก็ยิ่งชัดกับการทำงาน และเอาไปใช้กับชีวิตได้  LS เหมือนธรรมะด้วย ต้องอยู่กับปัจจุบันขณะจริงๆ  แล้วจะมีความสุขกับชีวิตทุกขณะจริงๆ เพราะเราอยู่กับตรงนั้น  ไม่ต้องไปคาดหวังถึงวันข้างหน้า  เพราะเรารู้ว่า LS นำพาไปอยู่แล้ว

 

เราได้เห็นตัวเองจากการกระทำในอดีตว่าเพราะเราทำอย่างนั้น มันมี met before  มันถึงงอกเงยออกมาเป็นอันนี้  ตัวนุ่นเองมีความสุข แม้ว่าจะมีความคาดหวังหรือความเครียดแต่ว่าได้เห็นตัวเอง  และได้แก้ปัญหาบางอย่างในชีวิตของเราได้ชัดเจนขึ้น เพราะได้วิธีการ

 

ที่ผ่านมานุ่นจะคอยเช็คตัวเองตลอดว่าตอนนี้ต้องแก้ปัญหาอะไร แต่พอคิดเองจะไม่มีวิธีแก้ เพราะเรามองจากมุมที่ทำให้เกิดปัญหาอยู่  แต่คราวนี้มีคนอื่นมาช่วยคิดด้วย นุ่นชอบเวลาที่มีคนมา comment  ชอบที่เขามาช่วยเรา  เพราะเขาไม่ได้บอกแค่ว่าเราไม่ดีอย่างไรแต่เขาบอกวิธีการแก้มาด้วย ซึ่งทำให้นุ่นรู้สึกว่านุ่นได้กำไรจากการทำ LS เยอะมาก 

 

การที่เขาต้องสละเวลามาหลายครั้ง (เพื่อมาช่วยคิดกระบวนการในการจัดการเรียนรู้  มาดูการสอน และมาสะท้อนหลังสอน - ผู้บันทึก)  ทำให้นุ่นเป็นคนเดียวที่ได้เยอะมาก  นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจที่อยากแบ่งปันให้คนอื่นได้รับเหมือนกัน”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 461575เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2011 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขณะที่เราเป็นคนสอน ต้องรู้ว่าตอนนี้เรากำลังฟังเด็ก ตอนนี้เราเขียนกระดาน ตอนนี้เรากำลังคิดกับความคิดของเด็ก ขณะที่ทำแผนก็เหมือนกัน  LS ทำให้ได้อยู่กับชีวิตที่เป็นชีวิตจริงๆ  รู้สึกกับการอยู่กับปัจจุบันขณะได้จริงๆ 

จิตอยู่กับปัจจุบัน..ทำงานเหมือนปฎิบัติธรรม 

ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท