การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและการวางกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและการวางกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

                ในการกำหนดวิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์ และเป้าประสงค์ได้นั้น เราจะต้องมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในด้วย

             สภาพแวดล้อมภายนอก
             ประกอบ ด้วยสภาพแวดล้อมทั่วไป ได้แก่ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมในการดำเนินการ ได้แก่ สถานภาพการแข่งขัน ลูกค้า Suppliers  แรงงาน และสถานการณ์นานาชาติ

             สภาพแวดล้อมภายใน
             โดย วิเคราะห์ขีดสมรรถนะขององค์การ ทั้งในด้านโครงสร้าง กระบวนการทำงาน บุคลากร การเงิน เทคโนโลยี และการบริหารงานทั่วไป ซึ่งก็คือ การทำ SWOT Analysis นั่นเอง

             ซึ่งในการทำ SWOT Analysis นั้น จะนำไปสู่การคิดเชิงกลยุทธ์ ทำให้เราสามารถวางกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยการวิเคราะห์ SWOT จะทำให้เราได้สถานการณ์ที่เป็นไปได้ 4 สถานการณ์

             1. กลยุทธ์เชิงรุก คือ องค์กรอยู่ในสถานการณ์ที่มีโอกาส และมีจุดแข็งมาก ส่งผลให้สามารถบุกตลาด โดยการขยายงาน ขยายโอกาส เพื่อให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น

             2. กลยุทธ์การปรับตัว คือ มีโอกาสมาก แต่ตัวองค์การเองมีจุดอ่อนมาก ก็ต้องปรับตัวองค์การให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อใช้โอกาสที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์

             3. กลยุทธ์การชะลอตัว คือ องค์การมีจุดแข็งมาก แต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย จะบุกตลาดต่อไปไม่ได้ จึงต้องชะลอตัว

             4. กลยุทธ์การตัดทอน คือ องค์การมีจุดอ่อน และสภาพการณ์ภายนอกก็เป็นภัยคุกคาม ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงอาจจะต้องตัดทอนบางอย่าง เพื่อให้องค์การคงอยู่ต่อไปได้

 

กลยุทธ์ในการดำเนินการ

             ในตำราทางด้าน MBA มีกลยุทธ์ที่เป็นสูตรสำเร็จมาตรฐานอยู่ 5 รูปแบบ คือ

             1. กลยุทธ์การเจาะลึก (Concentration)
                  หลังจากที่วิเคราะห์ SWOT แล้ว มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถขยายขอบเขตการทำงานได้ เราจึงอาจจะต้องหันมาเน้นในจุดที่องค์การมีความชำนาญหรือเก่งมากที่สุด และทำในจุดนั้นก่อน

             2. กลยุทธ์การประคองตัว (Stability)
                  ใช้ในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถบุกตลาดต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย จึงต้องรอดูท่าทีก่อน

             3. กลยุทธ์การขยายตัว (Growth)
                  ใช้ในสถานการณ์ที่โอกาสเปิดให้ และองค์การมีจุดแข็ง สามารถทำอะไรได้มาก ก็สามารถใช้  กลยุทธ์ในเชิงรุก ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
                  - การบูรณาการในแนวนอน (horizontal integration) คือ การซื้อกิจการของคู่แข่ง
                  - การบูรณาการแนวดิ่ง (vertical integration) คือ การบูรณาการทั้ง backward และ forward ซึ่งการบูรณาการในด้าน backward คือ การมองถอยหลังไปถึงกระบวนการผลิต และควบคุมปัจจัยการผลิตเพื่อให้เกิดแน่นอน เช่น ถ้าทำธุรกิจจำหน่ายเบียร์ ก็ทำ backward integration ก็คือการมีไร่ปลูกข้าวมอลต์เพื่อใช้ทำเบียร์ และการตั้งโรงงานผลิตขวดเป็นของตัวเองสำหรับบรรจุเบียร์ ส่วนการบูรณาการในด้าน forward หรือ forward integration นั้น คือ การเข้าไปควบคุมทางด้านการตลาดด้วย เช่น การเปิดร้านเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือเบียร์เองด้วย
                  - การแตกตัว (diversification) คือ การขยายธุรกิจ เช่น เดิมเป็นพ่อค้ารับเหมาก่อสร้าง ก็ขยายธุรกิจออกไปทำคอนโดมิเนียม สนามกอล์ฟ เป็นต้น รวมไปถึงการแตกไลน์ธุรกิจไปในหลาย ๆ ด้าน
                  - การร่วมทุน (joint venture) คือ การร่วมทุนกับองค์การอื่นในการขยายธุรกิจ ในกรณีที่องค์การของเรายังไม่มีความพร้อม

             4. กลยุทธ์การพัฒนา (Development)
                  - การพัฒนาตลาด (market development) คือ สินค้าตัวเดิมแต่มองหาตลาดใหม่ ๆ
                  - การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (product development) คือ การพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่ตลาดเดิมและตลาดใหม่
                  - นวัตกรรม (innovation) คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด

             5. กลยุทธ์การตัดทอน (Retrenchment)
                  ใช้ในสถานการณ์ที่มองว่าองค์การไปไม่รอด เพราะขาดจุดแข็ง และพบภัยคุกคาม ดังนี้ สิ่งที่จะต้องทำก็คือ
                  - การพลิกฟื้น (turnaround) เช่น การเปลี่ยน CEO โดยนำ CEO ใหม่เข้ามาบริหาร เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์
                  - การถอนการลงทุน (divestment) เช่น ขอคืนทุน หรือถอนหุ้นออกจากกิจการที่เห็นว่าไปไม่รอดแล้ว
                  - การเลิกกิจการ (liquidation)

             ทั้งนี้ กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น จะใช้เมื่อไหร่ หรือใช้กลยุทธ์ใด ก็ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์สถานการณ์
              นอกจากนี้ ในการกำหนดกลยุทธ์นั้น ยังมีการแยกออกเป็นหลาย Level ด้วย โดยเฉพาะในองค์การใหญ่ ๆ ได้แก่

             1. Corporate-level Strategy หรือ ภาพรวมของตัวองค์การ

             2. Business-level Strategy หรือ การมองในแต่ละประเภทของธุรกิจ/ภารกิจ

             3. Functional-level Strategy เช่น ในด้านการผลิต การตลาด ฯลฯ

ที่มา//http://www.stou.ac.th/knowledgemanagement/infoserve/kmdb/read_kb.asp?db_id=9&kmdb_id=4

หมายเลขบันทึก: 460747เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2011 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท