เรื่องดีที่ มวล. : พัฒนาแกนนำนักศึกษา ๔ ชั้นปี (๒)


การแสดงบทบาทสมมติสร้างบรรยากาศสนุกสนาน แต่ก็ได้คำแนะนำในการแก้ปัญหาที่เป็นสาระดีๆ

ตอนที่

หลังจากนั้นแต่ละกลุ่มเอาข้อมูลกลุ่มละ ๑ สถานีมาช่วยกันวิเคราะห์ จัดหมวดหมู่คำตอบที่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไรบ้าง แล้วนำเสนอ มีอาจารย์วิภาวรรณเป็นผู้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล ชวนตั้งคำถามและคิดต่อ คนในกลุ่มทั้งนักศึกษาและอาจารย์ที่ฟังช่วยให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

กิจกรรมสถานีรู้เขา รู้เรา ทำให้เราได้รู้ว่านักศึกษาเป็นอยู่อย่างไร ทำอะไรกันบ้าง ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น เช่น ในสถานีที่ ๑ พบว่านักศึกษาทุกชั้นปีมี facebook ของกลุ่มที่เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน บางทีก็ทำหน้าที่เหมือนศูนย์การค้าไปด้วย คนที่ไม่ชอบพูดก็เอาไว้ chat กับเพื่อน หลายคนรู้ว่าถ้าเล่น facebook มากไปก็มีข้อเสีย เสียเวลาในการทำงานอย่างอื่น

อาจารย์ก็ได้เพิ่มเติมให้เพิ่มความระมัดระวังในการติดต่อสื่อสารกับคนแปลกหน้า เพราะเพิ่งเจอปัญหาผู้ชายที่นักศึกษาหญิงเจอใน facebook ไม่กี่เดือน มาชอบพอให้ข้าวของเงินทอง แล้ววันหนึ่งก็ขอมีเพศสัมพันธ์ พอจะเลิกรา ก็ข่มขู่ พวกเราต้องเข้าไปช่วยเหลือ

ในสถานีที่ ๒ เรื่องที่นักศึกษาให้ความสนใจอยากรู้มากคือการศึกษาต่อ การทำงาน การใช้ชีวิต อยากรู้ว่าคนอื่น/สังคมคาดหวังอย่างไร มีเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ด้วย นักศึกษาเล่าว่ามีเพื่อนต่างสำนักวิชามาถามว่ามีแล้วไม่ได้ป้องกัน จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเอดส์หรือเปล่า นักศึกษามีความเห็นว่าการห้ามเป็นเรื่องยาก ควรรณรงค์เรื่องการป้องกันตนเอง และอย่ามองเป็นเรื่องที่น่าประนาม

 

การนำเสนอของกลุ่มสถานีที่ ๑ และ ๒

ในสถานีที่ ๓ ข้อมูลที่น่าคิดต่อคำถามที่ว่านักศึกษาเรียนรู้เรื่องที่สนใจจากใคร คำตอบที่มีความถี่มากที่สุดคืออินเทอร์เน็ต เพื่อนเป็นอันดับรองลงไป โดยเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่รู้ สำหรับรุ่นพี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องการเรียน แนวข้อสอบ การขึ้น ward มีนักศึกษาชายที่ฟังอยู่คนหนึ่งเสนอเพิ่มเติมว่า “อยากให้ให้ความสำคัญกับอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย”

ในสถานีที่ ๔ เราพบว่าเหตุผลที่นักศึกษาไม่ใส่หมวกกันน๊อกส่วนใหญ่อยู่ที่ห่วงเรื่องความสวยงาม เอาความสะดวกสบายมาก่อน ตามเพื่อน คิดว่าใกล้ๆ เอง มีส่วนน้อยที่ไม่ใส่เพราะไม่มีหมวก อาจารย์ทิพวรรณที่ใช้มอเตอร์ไซด์และใส่หมวกกันน็อกเป็นประจำให้คำแนะนำวิธีการเลือกและใส่หมวกที่ดี รวมทั้งนึกเห็นหน้าของดิฉันอยู่เสมอ

 

การนำเสนอของกลุ่มสถานีที่ ๓ และ ๔

สถานีที่ ๕ คุณลักษณะของนักศึกษาที่เราอยากเห็นมีทั้งด้านความรู้และบุคลิกภาพ เรื่องของ “น้ำคำ น้ำมือ น้ำใจ” ส่วนสถานีที่ ๖ ความท้าทายที่จะต้องทำ ต้องเริ่มจากตัวเองเป็นอันดับแรกขยัน ตั้งใจ พยายาม อดทน อยากให้คนเก่งช่วยคนไม่เก่ง แบ่งปัน ให้กำลังใจ ครูอาจารย์ ให้ความรู้ เอาใจใส่... นักศึกษาบอกว่าถ้าสอบตกสิ่งแรกคือบอกพ่อ-แม่ ซึ่งจะได้กำลังใจ ถ้าหาหนังสือไม่ทันก็หา “อากู๋” (Google)

 

การนำเสนอของกลุ่มสถานีที่ ๕ และ ๖

อาจารย์สายฝนที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลตลอดการนำเสนอ ได้สรุปภาพรวมให้เห็น พร้อมชี้แนะให้ได้คิด เช่น การใส่หมวกกันน็อกต้องปรับที่ตัวเอง ไม่ใช่เกิดจากความไม่รู้ การจะประสบความสำเร็จในการเรียนได้ต้องมีการจัดการตนเอง อดทน มุ่งมั่น มีแหล่งสนับสนุนคือเพื่อน อาจารย์ พ่อแม่ เป็นต้น เป็นการช่วยกันทำให้ปัญหาที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งปรากฏและเราทุกคนได้ลงมือทำ

นักศึกษาบอกว่ากิจกรรม ๖ สถานีทำให้เขาได้รู้ปัญหาที่ share ด้วยตัวเอง ได้สะท้อนถึงปัญหาที่มี วิเคราะห์และช่วยกันแสดงความคิดเห็น

ช่วยเพื่อนผ่าทางตัน
กิจกรรม “ช่วยเพื่อนผ่าทางตัน” ดิฉันและอาจารย์สายฝนประยุกต์มาจากกิจกรรมของทีมหมอฝน (อ่านที่นี่) โดยเอาโจทย์ปัญหาจริงที่นักศึกษาประสบอยู่ ให้นักศึกษาแต่ละกลุ่ม (ตามชั้นปี) ผลัดกันหาทางแก้ปัญหา ให้เวลาช่วยกันคิด ๑๕ นาที ไปแก้ปัญหาให้พี่/น้องโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ ๑๐ นาที สะท้อนความรู้สึกและฟังความเห็นจากอีก ๒ กลุ่มที่เป็นผู้สังเกตอีก ๕ นาที

 

ซ้าย-กลุ่มช่วยกันทำงาน ขวา-แสดงบทบาทสมมติ

เราได้เห็นความตั้งใจของนักศึกษาในการทำงานตามโจทย์ที่เราให้อย่างจริงจัง การแสดงบทบาทสมมติสร้างบรรยากาศสนุกสนาน แต่ก็ได้คำแนะนำในการแก้ปัญหาที่เป็นสาระดีๆ เช่น เมื่อปี ๒ มีปัญหาในการเรียน ปี ๓ เข้าไปช่วย มีคำแนะนำ เช่น ให้นึกถึงพ่อแม่ คนที่ส่งเสีย คนที่คอยอยู่ข้างหลัง ให้อัดเสียงอาจารย์ที่สอนมาฟังต่อพร้อมอ่าน sheet ไปด้วยจะได้เข้าใจมากขึ้น แบ่งเวลาให้ถูก วิชาที่ยากต้องใช้เวลาให้มากขึ้น ไม่ต้องแข่งกับเพื่อน ให้แข่งกับตัวเองดีกว่า ฯลฯ

นักศึกษาปี ๑ และ ปี ๔ ที่สังเกตบอกว่าชอบคำแนะนำแบบที่ให้กำลังใจ ชอบที่พี่เข้าไปหาน้อง ช่วยให้น้องดึงปัญหาของตัวออกมาเอง เวลาแก้ปัญหาก็ช่วยกันระดมความคิด ไม่ใช่เอาความคิดของคนใดคนหนึ่งไปใช้ และยังแนะนำเทคนิคของตัวเองเพิ่มเติม

ปี ๒ ก็มีวิธีการช่วยพี่ปี ๓ ที่เรียนหนักมาก โดยการให้กำลังใจ ให้ตั้งเป้าสั้นๆ จะได้ไม่กดดันตัวเองมาก หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ฯลฯ ปี ๔ ที่สังเกตอยู่ชื่นชมน้องปี ๒ ที่เข้ามาแบบอ่อนน้อมถ่อมตนและบอกว่าเป็นพี่บางทีก็ต้องฟังน้องบ้าง

ปี ๔ มีปัญหาเรื่องแฟนที่คบกัน ขอมีเพศสัมพันธ์ จะทำอย่างไรดี น้องปี ๑ มีคำแนะนำที่ดีว่าถ้าอยากปฏิเสธให้พูดหวานๆ ปรึกษาคนที่ไว้ใจได้ อย่าไปรับของจากเขา ฯลฯ พี่ๆ สะท้อนความรู้สึกว่าคำแนะนำของน้องเอาไปใช้ได้จริง และช่วยกันเพิ่มเติมว่า ปฏิเสธด้วยคำพูดหวานๆ แต่หนักแน่น นักศึกษามุสลิมแนะให้ใช้หลักศาสนา ซึ่งมีข้อห้ามในเรื่องนี้

ดิฉันดีใจที่นักศึกษาทุกคนตั้งใจทำกิจกรรมที่เรากำหนดให้และมีการเรียนรู้ทั้งจากการลงมือทำด้วยตนเองและจากการสังเกตผู้อื่น นักศึกษาเก็บได้มากกว่าคำพูดที่ได้ยิน เราหวังว่านักศึกษาจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ไปดูแลตนเอง ดูแลเพื่อน พี่ น้อง ต่อไป อาจารย์สายฝนให้อาสาสมัคร ๔ คนยกคนๆ หนึ่งขึ้นจากเก้าอี้ด้วยนิ้ว ๒ นิ้วของแต่ละคน เพิ่มพลังใจให้ทุกคนรู้ว่าถ้าทุกคนช่วยกัน แน่วแน่ เชื่อมั่นว่าทำได้ สิ่งที่ยากแค่ไหนก็ทำได้แน่นอน

นักศึกษาพูด AAR ให้ฟังว่าได้เกินความคาดหวัง อยากให้เพื่อนคนอื่นได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย เกิดความรู้สึกประทับใจ รู้สึกดีขึ้นมาทันที อายุต่างกันก็คุยกันได้ กิจกรรมไม่น่าเบื่อ ได้รู้สถานการณ์ของนักศึกษาที่เขาจะช่วยสานต่อได้ น้องปี ๑ บอกว่ามาเรียนที่นี่คนเดียว ไม่มีใคร พอได้มาเจอพี่ๆ รู้สึกมีความสุขมาก

สิ่งที่อยากให้ปรับปรุงคือการแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง อยากให้นักศึกษาทุกชั้นปีทุกคนได้เข้าร่วม อยากให้จัดกิจกรรมตอนน้องปี ๑ มาใหม่ๆ

 

AAR ที่นักศึกษาเขียนในหัวใจที่แจกให้ (อ่านที่นี่)

นักศึกษาหลายคนบอกว่ามีความสุขที่ได้ร่วมกิจกรรมในวันนี้ ทำให้ทีมทำงานยิ้มได้ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจ มีกำลังใจที่จะพัฒนานักศึกษาทุกทางควบคู่ไปกับการเรียนการสอน ที่ต้องคิดกันต่อไปคือจะจัดกิจกรรมอย่างไรที่จะให้นักศึกษาทุกชั้นปีเข้าร่วมได้กันทุกคน ตามที่นักศึกษาหลายคนเสนอแนะไว้

 

ป้ายชื่อที่ "ตากริม" ทำให้

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 460180เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2011 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 01:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท