ปลาสามตัว


คนไทยสมัยนี้มีนิสัยนิยมแต่ของที่ห่างไกล อะไรที่เป็น “ของนอก” จะคิดว่าดีกว่าของเราเองไว้ก่อน

ปลาสามตัว

 

ประเทศไทยใหญ่อุดม แต่น่าแปลกมีปลาทะเลเพียงแค่สามตัว คือ เก๋า สำลี กระพง ไม่เชื่อลองไปสั่งอาหารทะเลกินดูสิ จากเหนือจรดใต้ มีแค่สามตัวนี้จริงๆ

 

ส่วนปลาน้ำจืดก็มีเพียงสองตัวคือ  นิล กับทับทิม  ขนาดร้านริมกว๊านพะเยาอันแสนกว้าง ยังคุยด้วยความภาคภูมิใจว่ามีแค่สองตัวนี้แหละ สั่งตรงมาจากกรุงเทพเลยเชียวนะ ไอ้เราอยากกินปลาจากกว๊าน ตระเวณไปสิบร้านก็ไม่เจอ เพราะไม่มีคน(กล้า)ขาย  ก็มันเสี่ยงว่าเป็นเพียง”ปลาพื้นบ้าน” ไม่โก้หรูเท่ากับปลาเลี้ยงส่งตรงมาจากแถวๆ ชานกรุงหรอก ขืนออกรายการอาหารมา (เมนู) มาก็คงไม่มีคน “กล้า” สั่งกิน

 

ของฝรั่งเขาจะภูมิใจในท้องถิ่น ขายแต่ปลาในแม่น้ำของเขา และราคาแพงมาก (เพราะหากินที่ไหนไม่ได้ มีแต่ในแม่น้ำนี้เท่านั้น ) เช่น ที่สหรัฐฯถ้าอยากกินปลาวอลลาย (Wall eye) ต้องไปที่เมืองคลีฟแลนด์เท่านั้น เขาจะติดป้ายตัวโตๆโฆษณากันเลย

 

เดี๋ยวนี้ตามตลาดสดในชนบทก็หาผักปลาเห็ดชนบทกินได้ยาก  มีแต่ผักปลูกที่กินตามคนกรุงเทพ เช่น คะน้า บรอคคอลลี่ แครอท ผักกาดหอม ส่วนปลาก็ นิล ดุก ช่อน  ทับทิม  เห็ดก็มีแต่นางฟ้า กระด้าง ฟาง หอม ส่วนอาหารพื้นบ้านเช่น เห็ดเผาะ ผึ้ง ตับเต่า  ปลากระสูบ ขาว หรด ผักแต้ว กระถิน ชะอม ตำลึง ถั่วพู หาได้ยากมาก

 

ส่วนผลไม้ก็นิยมของนอกเป็นหลัก คือ แอปเปิ้ล องุ่น พลับ แพร์ ไปจนถึงเชอรี พลัม แอปปริคอท โน่น ผลไม้พื้นเมืองไทยหาได้ยากจริงๆ เช่น มะเฟือง มะไฟ หว้า ชมพู่ ละมุด น้อยโหน่ง กระท้อน

 

ไปแม่ฮ่องสอนก็หาอาหารที่ปรุงด้วย “ถั่วเน่า” กินไม่ได้ แม้ค้าจะอายถ้าถามหา แต่ถ้าคาดคั้นหนักๆจะบอกว่า พรุ่งนี้มาใหม่จะทำให้กินเป็นพิเศษ ทั้งที่พวกเขาก็กินถั่วเน่ากันทุกบ้าน คนไทยใหญ่ก็อายความเป็นไทยเหมือนกับคนไทยน้อย เป็นลักษณะนิสัยเดียวกัน

 

น่าแปลกแท้ๆ ทำไมคนไทยสมัยนี้มีนิสัยนิยมแต่ของที่ห่างไกล อะไรที่เป็น “ของนอก” จะคิดว่าดีกว่าของเราเองไว้ก่อน เช่น ถ้าเป็นพระเขมร พระพม่าเนี่ยเรามักคิดว่าต้องเก่งดีไปหมด อาคมของพวกนี้จะขลัง กว่าพระไทย ... หมอดูพม่านี่จะเก่งกว่าหมอดูไทยเสมอ  

 

บ้าไปแล้ว(โว้ย)

...คนถางทาง (๒๕๕๐)

 

 

หมายเลขบันทึก: 459701เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2011 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท