แพทย์แผนไทย..รุ่งเรือง ถดถอย ฟื้นฟู


เมื่อรักษาหายแล้วจึงรับค่ารักษาแบบสมัครใจเป็นจำนวนมาตรฐานเช่น หกบาท จะให้มากกว่านั้นก็ไม่ได้เพราะเชื่อว่าจะทำให้วิชาอาคมเสื่อมถอยไปได้ นับเป็นอุบายในการสร้างจริยธรรมทางการแพทย์ได้อย่างดียิ่ง

ตัวสีแดงนี้ตัดตอนมาจากบทความ ผจก. ออนไลน์ ดังลิงค์นี้) 

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000048184

 

....การแพทย์แผนไทยเคยรุ่งโรจน์ทั้งในราชสำนัก ในสำนักสงฆ์ และในสำนักเชลยศักดิ์ (หมอเอกชน) ยามใดที่ชาติจะล่มจม ทุกสำนักจะออกมาช่วยเหลือกันและกันอย่างพร้อมเพรียง สามัคคีกันตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา มาจนถึงการสร้างศิลาจารึกตำรายาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้การแพทย์แผนไทยมีการรักษาควบคู่กับการแพทย์แบบฝรั่งในโรงพยาบาล และกำหนดให้มีการเรียนการสอนการแพทย์แผนไทยในโรงเรียนแพทย์ นับเป็นการพัฒนาการแพทย์แผนไทยไปสู่การบูรณาการอย่างสมบูรณ์
       
           แต่มาจนเมื่อหลังแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง การแพทย์แผนไทยถูกทำลายอย่างย่อยยับสูญหายไปจากโลก ชาวตะวันตกได้พยายามผลักดันทุกวิถีทางให้การแพทย์แผนไทยสูญสิ้น และทำได้สำเร็จ เป็นผลให้ประชาชนชาวไทยต้องคิดแต่เรื่องการแพทย์แบบฝรั่ง ใช้ยาฝรั่ง หลงใหลในอิทธิพลการรักษาแบบฝรั่งมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

 

เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยพร้อมกับระบบเทคโนโลยีตะวันตก ก็ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเมื่อยามป่วยไข้ของชาวไทยเป็นอันมาก เพราะจากการที่เคยรักษากันตามพื้นบ้านโดยหมอมักมาดูแลอาการให้ถึงบ้าน ก็กลายเป็นว่าต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อเข้าคิวรักษา ระบบการรักษาถึงบ้านแบบไทยโบราณนั้นนับว่ามีผลดีด้านจิตใจมากเพราะได้อยู่ในบ้านของตนเอง ห้อมล้อมด้วยญาติมิตร ทำให้เกิดความอบอุ่นใจ ทำให้เกิดกำลังใจได้มาก และกำลังใจนั้นได้รับการยอมรับแม้โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ของตะวันตกแล้วว่ามีผลต่อการหายจากโรคได้มากทีเดียว

ผิดกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามระบบการรักษาแนวตะวันตกที่แยกญาติออกจากคนไข้ คนไข้ได้รับการดูแลจาก”นางพยาบาล” ที่ไม่ใช่ญาติสนิท ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยไม่มากก็น้อย สำหรับตัวหมอเองนั้นก็มีทัศนคติที่แตกต่างกันมากระหว่างหมอแผนโบราณของไทยกับหมอแผนปัจจุบันแนวตะวันตก เพราะในอดีตหมอรักษาคนไข้ในลักษณะเอาบุญมากกว่าเอาค่าตอบแทน เมื่อรักษาหายแล้วจึงรับค่ารักษาแบบสมัครใจเป็นจำนวนมาตรฐานเช่น หกบาท จะให้มากกว่านั้นก็ไม่ได้เพราะเชื่อว่าจะทำให้วิชาอาคมเสื่อมถอยไปได้ นับเป็นอุบายในการสร้างจริยธรรมทางการแพทย์ได้อย่างดียิ่ง แต่ในสมัยปัจจุบันนี้โรงพยาบาลจะรักษาใครมากแค่ไหนก็ต้องขอชั่งน้ำหนักกระเป๋าสตางค์ของผู้ป่วยเสียก่อน ผู้ที่กระเป๋าเบาอาจได้รับการปฏิเสธการรักษา ส่วนผู้ที่กระเป๋าหนักก็อาจกลายเป็นกระเป๋าเบาไปได้ภายในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ที่อยู่โรงพยาบาล

 

สรรพคุณยาสมุนไพรไทยนั้นเป็นที่เลื่องลือว่าฉมังนัก เป็นการรักษาแบบเชื่อมโยงกายกับใจเข้าด้วยกัน ตัวผู้เขียนเองเมื่อสมัยวัยเด็กอายุประมาณ 10 ขวบได้เคยป่วยเป็นโรคท้องร่วงอย่างรุนแรง (เรียกกันว่าเป็นบิด) ต้องนอนซมลุกไม่ขึ้นอยู่หลายวัน เผอิญคุณตาเป็นหมอโบราณ  เมื่อท่านทราบข่าว (คุณแม่ต้องเดินทางไปบอกเพราะไม่มีโทรศัพท์) ท่านก็เดินทางมารักษา (เดินด้วยเท้าเป็นระยะทางประมาณ 3 กม.) การรักษากระทำด้วยการเอารากพืชแห้งที่เรียกว่ารากย่านางแดงฝนกับกระดูกงูเหลือม (แม้ป่วยนอนซมอยู่ยังขยับปากถามคุณตาว่าฝนยาอะไรให้ทาน) โดยใช้น้ำเป็นตัวประสาน น้ำที่ออกมาแดงมาก รสเย็นฝาด กินยาสักครึ่งวันอาการหายเป็นปลิดทิ้ง รอดชีวิตมาเขียนเอกสารนี้ได้จนทุกวันนี้

จะเห็นได้ว่ายาโบราณไทยบางขนานมีสมุนไพรเป็นสิบอย่าง ถามดูได้ความว่าสุมนไพรที่ออกฤทธิ์รักษาโรคมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นสมุนไพรที่ระงับผลร้ายข้างเคียงของตัวยานั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันล้ำลึกมากของหมอยาโบราณของไทยเรา

ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องเล่าจากผู้เล่าที่น่าเชื่อถือได้หลายราย รวมทั้งได้เห็นด้วยตาตนเองอีกหนึ่งราย ที่ผู้ป่วยเป็นโรคมมะเร็งขั้นสุดท้าย จนแพทย์สมัยใหม่แนวตะวันตกวินิจฉัยเด็ดขาดว่าไม่ควรมีชีวิตอยู่ได้เกิน 1 เดือนเป็นอย่างมาก และหมดทางรักษาแล้ว ญาติจึงได้นำมารักษาที่บ้านด้วยยาสมุนไพรไทย ปรากฏว่าหายขาด (สองราย) อีกรายหนึ่งอยู่ต่อมาได้อีก 5 ปีจึงเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนอื่น (รายนี้เป็นแม่ของเพื่อนผู้เขียนเอง)

 

...คนถางทาง (๙ กย. ๕๔)

 

หมายเลขบันทึก: 459511เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2011 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หมอพื้นบ้านรุ่นเก่า เคยเห็นไปบ้านคนไข้ มีทั้งเดินไปเอง ขี่จักรยาน

แม้จะเจ็บป่วยก็ตาม แต่ช่างเป็นความอบอุ่นอะไรปานนั้น เพราะบ้านคนป่วยมีญาติพี่น้องเต็มบ้านไปหมด กำลังใจเพียบเลย

หมอในหมู่บ้านมักเป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ และก็เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชนมากด้วย

หมอ คนไข้ ญาติ ล้วนเป็นคนบ้านเดียวกัน รู้จักกันทั้งนั้น ตรวจอาการเสร็จ มียาให้กิน หรือให้ไปหายาสมุนไพรใกล้ตัว จะนำมาปรุง ต้ม ฝน ทา กวาดคอ กิน ตามโรคที่เป็น

ทำการรักษาเสร็จ เจ้าของบ้านก็หุงหาอาหาร ทั้งหมอและญาติพี่น้องกินข้าวร่วมกัน

 

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราวในบันทึกนี้ค่ะ

พร้อมกับมาเรียนรู้ด้วยนะคะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท