แนวคิดการบริหารขยะด้วยหลัก 3R


แนวคิดการบริหารขยะด้วยหลัก 3R

       บ่อยครั้งที่แรงบันดาลใจของผมได้มาจากการพูดคุยกับบุคคลต่างๆ แนวคิดหรือวิถีของการเรียบเรียงในสมองของคนบางคนน่าสนใจ น่าสนใจในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น “คิดแบบนี้ได้อย่างไร” “ทำไมต้องเป็นแบบนี้ด้วย” “อะไรทำให้ท่านคิดได้ถึงเพียงนี้” เป็นต้น

       วันนี้ดูเหมือนจะเป็นวันพุธปกติ ที่ต้องประชุมทีมบริหารของภาควิชาสูติฯในช่วงบ่าย อาจารย์หมอสุธรรม (สำเนียงบ้านๆดีนะครับ) ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ได้นั่งคุยสัพเพเหระกับผมจนมาออกเรื่องที่ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “มหัศจรรย์ห้องคลอด ห้องดนตรี และเปิงมาง” ที่สาระบางส่วนได้พูดถึงการจัดการขยะแบบต่างๆ และท่านได้บอกเล่าถึงหลักในการจัดการขยะให้ผมได้ฟัง จนเกิดแรงขับให้ผมออกมาปลดปล่อยอยู่ ณ ขณะนี้ เพราะถ้าไม่เขียน คนอื่นก็คงไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ผมได้ ลองติดตามดูนะครับ

       โดยทั่วไปแล้ว หลักในการจัดการกับขยะนั้น เขาใช้หลัก 3R นั่นคือ Reduce Re-use และRecycle

Reduce คือการลดการใช้ ลดการก่อให้เกิดขยะ

Re-use คือการนำสิ่งของต่างๆที่ยังไม่หมดหรือเสื่อมสภาพ มาใช้ต่อไป ทั้งนี้ยังคงหมายถึงการซ่อมแซมจนของต่างๆมีสภาพดีขึ้นมาและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ผ้าเช็ดมือ หมวกคลุมผมและผ้าปิดจมูกที่เป็นผ้า ที่สามารถนำกลับไปซักแล้วเอามาใช้ใหม่ อันนี้คือ Re-use

Recycle คือการนำสิ่งของที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบเดิมไม่ได้แล้ว หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นขยะ นำไปจัดการด้วยกระบวนการต่างๆแล้วแปรรูปมาเป็นสิ่งใหม่ จากนั้นก็นำมาใช้ใหม่ เช่น กระดาษทิชชู่เช็ดมือ ที่เมื่อใช้เสร็จก็ถูกโยนลงถังขยะ และจะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งรณรงค์ให้นำทิชชู่เหล่านั้นมาชั่งกิโลขาย แล้วเขาก็เอาทิชชู่จากทั่วสารทิศไปโรงงาน แปรรูปมันใหม่จนออกมาเป็นกระดาษอีกรูปแบบหนึ่ง นี่คือ recycle

       มองแบบนี้ก็อย่างเพิ่งหลงระเริง ว่าเราเป็นผู้ที่มีแนวคิดแนวปฏิบัติโดยใช้หลัก 3R อย่างแท้จริง มิฉะนั้น มายาคติบางอย่างอาจจะปิดตาเราได้

       มีคำถามหนึ่งซึ่งโดนใจผมมากๆนั่นคือ “จาก 3R ที่ว่ามานี้ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด” หลายคนอาจจะตอบถูกว่า “reduce” เพราะนั่นเป็นต้นตอของการแก้ไขปัญหาทั้งปวง การลดหรือการไม่สร้างสิ่งที่เป็นขยะ ทำให้เราไม่ต้องมานั่งจัดการเรื่อง re-use หรือ recycle เนื่องจากการลดการใช้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด องค์กรที่เจริญแล้ว จึงมักจะรณรงค์ให้บุคลากรทุกระดับได้ตระหนัก และลดการใช้ทรัพยากรต่างๆอย่างไม่จำเป็น ไม่ประหยัดและไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การรณรงค์ให้เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ การลดการใช้กระดาษแล้วหันมาใช้ e-mail หรือหนังสือเวียนทางอิเลคโทรนิก ลดความต้องการบางอย่างที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แถมยังเป็นการสิ้นเปลืองโดยไร้เหตุผล เช่น ไม่จำเป็นต้องทุบพื้นปูนที่ยังใช้ได้ดีเพื่อที่จะสร้างพื้นขึ้นมาใหม่ อันนี้สิ้นเปลือง และเกิดขยะมหาศาล เพราะพื้นเก่านั้นต้องนำไปทิ้งและกำจัด ซึ่งบางทีก็กำจัดไม่ได้ (แต่กำจัดออกจากโรงพยาบาลได้) เป็นต้น

       การ recycle นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่นั่นเราก็อย่างเผลอไผลไปคิดว่า เราศิวิไลซ์เพราะรู้จักการ recycle นะครับ เพราะการที่เรามีของให้ recycle ได้นั้นหมายความว่าเรามีของใช้ ใช้ และใช้ จนการ reduce ลดลงไปนั่นไงครับ การ recycle นั้นดี ไม่มีใครถียง แต่ในกระบวนการของการ recycle นั้นยังคงมีต้นทุนจากการผลิต การขนส่ง ของเสียจากกระบวนการต่างๆ ต้นทุนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาระของสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงไหมครับ ลองมาดูตัวอย่างที่สุดจะคลาสสิกอย่างหนึ่งที่ผมได้พบเจอมา เช่น การเปลี่ยนจากผ้าเช็ดมือแล้วหันมาใช้กระดาษทิชชู่ หลายคนอาจจะบอกว่า ต้นทุนของโรงพยาบาลต่ำกว่าการซื้อกระดาษมาใช้ แต่ในแนวคิดเช่นนี้ ลองมองกลับกันสักเล็กน้อยก็จะพบว่า การใช้กระดาษเช็ดมือนั้น เราต้องไปซื้อกระดาษทิชชู่ กระดาษก็มีการผลิตมาจากการตัดต้นไม้ (อย่าเพิ่งเถียงว่า กระดาษนั้นอาจจะมาจากการ recycle นะครับ เดี๋ยวจะไม่จบ) ทิชชู่ที่ใช้แล้วก็จะถูกขนส่งกลับไปโรงงาน ใช้น้ำปริมาณมหาศาลในกระบวนการแปรสภาพและนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เห็นไหมครับ ฟังแค่เรื่องนี้ก็เริ่มรู้สึกสลด เพราะพวกเราถูกกล่อมเกลาว่า การใช้กระดาษเช็ดมือที่ซื้อมา ช่วยลดต้นทุน (การซักล้าง) ของโรงพยาบาล นั่นเป็นเพียงภาพที่ทำให้เราหลงทางเซซัดไปเล็กน้อย เราไม่ได้มองรอบด้านจริงๆ เรามองแต่ตัวเอง เราไม่ได้มองสิ่งแวดล้อมเลยใช่ไหมครับ ถึงตรงนี้ อยากขอบคุณหอผู้ป่วยพิเศษสูติกรรม ที่อุตส่าห์ไปหาผ้าเช็ดมือมาให้ผมได้ใช้แทนกระดาษทิชชู่นะครับ

       เรื่องของการใช้ของชนิดที่ใช้แล้วทิ้งยังมีให้เห็นอีกเรื่องก็คือ ผ้าปิดจมูก (mask) แนวคิดของโรงพยาบาลถ้าให้คาดเดาก็คงเป็นเรื่องต้นทุนการซักล้างอีกเช่นเคย ผมอยากให้ท่านๆลองไปดูการใช้หมวกคุมศีรษะและ mask ในห้องผ่าตัดดูนะครับ และลองคำนวณคร่าวๆว่าเราใช้วัสดุ 2 สิ่งนี้วันละประมาณเท่าไหร่ ตาถั่วๆอย่างผมพอจะประเมินได้คร่าวๆว่า พวกเราใช้กันสนุกมาก เดี๋ยวใส่ เดี๋ยวถอดทิ้ง ล้นตะกร้าให้เห็นอยู่ทุกวัน จากสิ่งเล็กๆน้อยๆเพียงเท่านี้ เราก็จะพบว่า สัจธรรมอันหนึ่งของการ recycle นั่นก็คือ วัฒนธรรมการประหยัดหดหายไปใช่ไหม (ปุดโธ่ กะอีแค่กระดาษทิชชู่เพียงแผ่นเดียว มันเคยทำให้มือผมแห้งเสียที่ไหนกัน)

       ท่านๆยังจำวิกฤติไข้หวัด 2009 ได้ไหมครับ ในช่วงเวลานั้น เรามีความจำเป็นที่ต้องการใช้ mask เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สินค้ามันขาดตลาด เพราะคนแห่ซื้อกันอย่างมากมาย ในสถานการณ์แบบนี้ หากเราใช้ mask ที่เป็นผ้า เราก็คงไม่พบปัญหาการขาดแคลนของที่ต้องหาซื้อในตลาด (เพราะเราผลิตเองได้) ถึงแม้จะมีคนมาเอาไปใช้เองที่บ้าน เอาไปฝากญาติ หมดเร็ว เราก็ยังตัดเย็บได้ใหม่อีก ในยามที่ประเทศเกิดวิกฤติ เราจะมาหวงของไม่ได้ใช่ไหมครับ ถึงยามนั้นเปลืองก็เปลือง เพราะเราเป็นโรงพยาบาลของหลวง คนมาเอา mask ไปใช้ เราต้องเสิร์ฟลูกเดียว

       เขียนบทความวันนี้ จบลงด้วยความรู้สึกสลดไปเล็กน้อย เพราะรู้สึกว่าหลักการคิดเรื่อง 3R ในการจัดการขยะของเราถูกเบี่ยงไป อาจจะเป็นการถูกเบี่ยงเบนด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การให้และรับรู้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน การหล่อหลอมวัฒนธรรมขององค์กร เป็นต้น จนตอนนี้มันเกิดวัฒนธรรม 3R revise เกิดขึ้น คือ Renovation คือการรื้อทำลายและสร้างใหม่ Relaxation คือการไม่ได้ใส่ใจ (หรือไม่เข้าใจก็ไม่ทราบ) และ Refinance คือการจัดกระบวนการการใช้จ่ายแบบใหม่ อุแม่เจ้า...

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 459214เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2011 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีคะ อาจารย์

ขึ้นต้น 3 R กับลงท้าย 3 R เหมือนกันแต่แตกต่าง

เห็นด้วยคะ หนังสือเวียน ที่วางไว้บนโต๊ะนั้น เพียง 3 เดือน เยอะเป็นรีม

น่าเศร้าใจว่า แต่ละฉบับมีอายุสั้นแค่วันเดียว

สวัสดีครับ CMUpal

ยิ่งเป็นของหลวง ยิ่งใช้ง่าย เพราะมันไม่ใช่ของเรา แต่ลืมนึกไป ว่าภาษีเรา

เรียนอาจารย์หมอ

หลอกให้หลงลวงให้ใช้ให้ง่าย..สะอาด

เราจึงพลาดถูกผลักสู่วังวน

สะสางสะอาด สะดวกสบายยิ่งสับสน

ด้วยเพราะคน"มักง่ายง่าย" ๆม่ชอบคิด

ตรงเลยครับ ท่าน วอน-ผู้เฒ่า-natachoei--

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท