กลุ่มทฤษฎีองค์การแบบคลาสสิค


ทฤษฎีและแนวความคิดทางการบริหาร

1.  กลุ่มทฤษฎีองค์การแบบคลาสสิค  (Classical  Organization  Theory) 

             ทฤษฎีองค์การแบบคลาสสิค  จะประกอบไปด้วยทฤษฎีที่สำคัญ ๆ  ดังนี้คือ

                      1.1  ทฤษฎีการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์  (Scientific  Management) 

                   เฟรดเดอริค ดับเบิ้ลยู เทย์เลอร์ (Frederic W.Taylor) คือ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการบริหารงานแบบวิทยาศาสตร์ เทย์เลอร์นั้นมีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกร โดยที่การนำเสนอทฤษฎีการบริหารงานแบบวิทยาศาสตร์นั้น ได้มีขึ้นหลังจากที่เทย์เลอร์ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย ในขณะนั้นปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรมที่ประเทศอเมริกาในขณะนั้นประสบอยู่คือปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจากความด้อยในเรื่องประสิทธิภาพในการผลิต ของโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยทำการผลิตในระดับจุลภาคได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอเมริกาในระดับมหภาคคือทำให้ประเทศอเมริกาในขณะนั้นประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นเทย์เลอร์จึงพยายามแก้ไขปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพการผลิต โดยในระยะแรกของการแก้ปัญหา เทย์เลอร์ได้ให้ความสนใจไปในการปรับปรุงเครื่องจักร เครื่องไม้ เครื่องมือ ตลอดจนไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน แต่ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก  ดังนั้นเทย์เลอร์จึงได้เปลี่ยนแนวความคิดใหม่ โดยได้ลองทำการสังเกตวิธีการทำงานของคนงานแต่ละคน จากการสังเกตเทย์เลอร์พบว่าคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมของเขานั้นมีวิธีการทำงานตามหลักความเคยชิน ซึ่งลักษณะการทำงานตามหลักความเคยชินนั้น ในการทำงานเพื่อให้ได้ผลงานอย่างเดียวกันนั้นคนงานจะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันหลายวิธี และวิธีการทำงานที่แตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับความเคยชินของคนงานแต่ละคน โดยจากการสังเกตของเทย์เลอร์ พบว่าวิธีการทำงานที่แตกต่างกันตามความเคยชินของคนงานแต่ละคนนั้นมักก่อให้เกิดการอู้งานได้ และการอู้งานก็ทำอย่างเป็นระบบโดยได้รับการรู้เห็นเป็นใจจากผู้นำสหภาพแรงงานในโรงงาน

                      นอกจากปัญหาการอู้งานแล้ว เทย์เลอร์ยังพบว่าในอดีตฝ่ายบริหารได้เข้าไปควบคุม ดูแลคนงานน้อยมาก และปล่อยให้คนงานมีอิสระในการเลือกวิธีการทำงานตามใจชอบ ดังนั้นในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เทย์เลอร์จึงได้นำเสนอการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้คือ (Frederic W.Taylor  อ้างในพิทยา  บวรวัฒนา,  2543  หน้า  27)

                   1.1.1 จะต้องมีการกำหนดวิธีการทำงานเพื่อให้ได้วิธีที่ดีที่สุด  โดยวิธีที่ดีที่สุด จะต้องเป็นวิธีการทำงานที่ใช้เวลา ทรัพยากร และพลังงานในการทำงานน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน

                              1.1.2 การคัดเลือกคนงานจะต้องมีการนำเอากฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการคัดเลือก เพื่อให้ได้คนงานที่มี ทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เหมาะกับตำแหน่งงาน

                            1.1.3   จะต้องมีการพัฒนาคนงานโดยการสอนวิธีการทำงานให้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการ เพื่อที่จะขจัดวิธีการทำงานตามหลักความเคยชินให้หมดไปจากคนงานเดิม

                             1.1.4   ต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหารกับคนงาน อันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน

                 หลักวิทยาศาสตร์การจัดการตามแนวความคิดของเทย์เลอร์ นับว่ามีประโยชน์ต่อการบริหารงานในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในปัจจุบันวิทยาศาสตร์การจัดการเองก็ยังคงมีการนำมาประยุกต์ใช้อยู่ในการบริหารงานในองค์การ และหน่วยธุรกิจต่าง ๆ

                       1.2  การจัดการตามแบบระบบราชการ (Bureaucratic Management)

                   แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เป็นชาวเยอรมัน และเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่ ที่มีความรอบรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ เช่น วิชากฎหมาย การเมือง การปกครอง ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ และได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการจัดการตามแบบระบบราชการ ในการทำความเข้าใจองค์การแบบระบบราชการนั้น มีหลักการที่สำคัญดังนี้คือ  (Hodge  Anthony  &  Gales  อ้างในทองใบ  สุดชารี,  2543  หน้า  5)

                1.2.1  หลักของการแบ่งงานกันทำ  (Division  of  Labour)  หมายถึง  หลักในการสร้างความชัดเจน และความสมดุลระหว่างอำนาจหน้าที่กับความรับผิดชอบโดยให้ถูกต้องตามกฎ  ระเบียบขององค์การ การแบ่งงานกันทำตามวิธีนี้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่เป็นทางการ

                 1.2.2  หลักของการกำหนดอำนาจหน้าที่ตามสายการบังคับบัญชา  (Hierarchy  of  Authority)  หมายถึง  การกำหนดตำแหน่งต่างๆ ที่ให้อำนาจหน้าที่ลดหลั่นลงมาตามสายการบังคับบัญชา  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในสายการบังคับบัญชา

                 1.2.3  หลักของความสามารถ  (Technical  Competency)  หมายถึง  หลักการสำคัญในการจัดบุคคล เพื่อบรรลุหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามหลักความรู้ความสามารถของบุคคล  โดยการใช้กระบวนการทดสอบ  การฝึกอบรม  และการศึกษาของบุคลากร

                 1.2.4  หลักของกฎ  ระเบียบ  ความมีวินัย  และการควบคุม  (Rules,  Disciplines  and Control) หมายถึง การบริหารงานโดยใช้กฎระเบียบเป็นหลัก และกำหนดรูปแบบไว้ให้ชัดเจนในการบริหาร  จะต้องยึดระบบเอกสารเป็นสำคัญ  โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว

                  1.2.5 หลักของความเป็นกลางทางการบริหาร  (Administrative  Officials)  หมายถึง  ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ  เป็นผู้ที่มีเกียรติ  มีอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ  เป็นองค์ประกอบในการทำงานตามตำแหน่งนั้น  อุปกรณ์  และเครื่องมือจะอยู่คู่กับตำแหน่งไม่ใช่คู่กับบุคคล

                             1.2.6  หลักของการเป็นบุคลากรของฝ่ายบริหารและได้รับเงินเดือนประจำ (Career  Official  and  Fixed  Salary)  หมายถึง  ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารจะต้องเป็นบุคลากรประจำ  มีการจ้างงานตลอดชีพ  และจัดให้มีเงินเดือนประจำในอัตราคงที่ในแต่ละปี

                    

หมายเลขบันทึก: 458783เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท