ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๒๔. เรียนรู้วิธีใช้การประเมินเพื่อพัฒนา



          ผมเคยบันทึกว่าวงการการศึกษาไทยตาบอดเรื่องการประเมิน (ที่จริงสมองบอด) ที่นี่   หรือที่จริงยิ่งกว่าบอด คือมีมิจฉาทิฐิ หรือเดินผิดทาง  

          เราหลงใช้การประเมินเพื่อใช้ตัดสินได้-ตก (summative evaluation) เป็นหลัก   ในทางจิตวิทยา นี่คือผลจากการที่สังคมมีจริตแบบอำนาจนิยม   บุคคลหรือหน่วยงานผู้มีอำนาจ แสดงอำนาจผ่านการประเมิน   ทำให้บุคคลหรือหน่วยงานที่ถูกประเมินรู้สึกถูกบีบคั้น กดขี่   เมื่อหาทางต่อสู้ไม่ได้ก็หาทางหลอกเสียเลย   เราจึงมีผลการประเมินแบบหลอกๆ เต็มแผ่นดิน   เช่นประเมิน “ผลงาน” เพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่ง คศ.   ประเมินตามเกณฑ์ กพร. เพื่อให้ได้โบนัส   ประเมินตามข้อกำหนดของ สมศ. เป็นต้น 

          ผลร้ายยิ่งกว่าผลกระทบจากการประเมินหลอกๆ คือ มันสร้างวัฒนธรรมตอแหล   ทำให้เรามีวัฒนธรรมตอแหลเต็มแผ่นดิน   เป็นผลร้ายต่อสังคมอย่างยิ่ง 

          ขออภัยครับ ที่เขียนบันทึกผิดกติกาการเขียน บล็อก ที่ต้องเน้นเชิงบวก   ต่อไปนี้เป็นเชิงบวกครับ 

          เช้าวันที่ ๓ ส.ค. ๕๔ ผมไปร่วมงาน Quality Day ที่ศิริราช   และเกิดความเข้าใจเทคนิควิธีการใช้การประเมินเชิงบวก ที่เรียกว่า empowerment evaluation ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการประเมินเพื่อพัฒนา (formative evaluation)   ที่ก่อผลต่อศิริราชอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ  ก่อผลเชิงพัฒนา เชิงการเรียนรู้ต่อเนื่อง ที่จะทำให้ศิริราชมีการพัฒนาคุณภาพอย่างยั่งยืน   เป็นการสร้างวัฒนธรรมคุณภาพของแท้  ที่ศิริราชมีงาน Quality Day ราวๆ เดือนสิงหาคมทุกปี   ใครอยากเข้าใจ empowerment evaluation ให้ไปสัมผัสของจริงที่นั่น   จุดสำคัญคือ เป็นการประเมินที่มีเป้าหมายเชิงปฏิบัติอย่างชัดเจน   และประเมินที่การปฏิบัติจริง ไม่ใช่ที่รายงาน (หลอกๆ) อย่างที่หลายหน่วยงานทำกัน

          เพราะมีการสร้างสัมมาทิฐิต่อการประเมิน คือรู้ว่าประเมินแล้วหน่วยงานและตนเองมีแต่ได้กับได้   คือได้เห็นโอกาสพัฒนา   หรือถ้าผ่านเกณฑ์ก็ได้รับการยกย่อง   เจ้าหน้าที่ของศิริราชจึงต้องการรับการประเมิน   ดังตัวอย่างเมื่อคณะผู้ตรวจเยี่ยมของ สรพ. ไปเยี่ยมเพื่อประเมิน HA ครั้งที่ ๓   หน่วยงานต่างแย่งกันเสนอตัวเข้ารับการตรวจเยี่ยม   และเมื่อคณะตรวจเยี่ยมไปตรวจด้วยเวลาจำกัด และตรวจไม่ทั่วถึง ก็มีเจ้าหน้ามาขอร้อง “ไปตรวจของหนูหน่อย อยากให้ช่วยดูเพื่อขอคำแนะนำ” 

          ผมตีความว่า เคล็ดลับคือ ที่ศิริราชใช้การประเมินด้วยท่าทีที่ไม่ใช้อำนาจ ไม่ใช้การประเมินเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ   แต่ใช้เป็นเครื่องมือของคนทำงาน   ผู้บริหารมีท่าทีว่า กำลังรอว่าเมื่อไรจะได้ชื่นชมหน่วยงานนี้ 

          ผมกระเซ้าท่านคณบดี ศ. (คลินิก) นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ ว่า ท่านมีความสามารถยิ้มสดชื่นได้ตลอดเวลาที่แจกโล่แจกรางวัลกว่า ๒๐๐ รางวัล   ท่านบอกว่าท่านปลื้มใจกับผู้ได้รับรางวัลจริงๆ ถือเป็นวันสำคัญ เวลาสำคัญของท่านเหล่านั้น   นี่คือตัวอย่างของผู้บริหารสูงสุดใช้ empowerment attitude

          เช้าวันเสาร์ที่ ๖ ส.ค. ๕๔ ผมกำลังนั่งสบายอารมณ์ที่ระเบียงบ้าน  คิดเตรียมการณ์เขียนบันทึกนี้   ลูกสาวคนโตเปิดประตูรั้วหน้าบ้านเข้ามา   ก็มีการทักทายกันว่าคิดว่าจะไม่มาเสียแล้ว   เขาบอกด้วยความสดชื่นว่าต้องมาเพราะมีของมาอวด   เขาได้รับโล่รางวัลอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดในคณะในช่วงปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๔  โดยที่ทั้งเนื้อทั้งตัวเพิ่งมีผลงานวิจัยตีพิมพ์เรื่องเดียว   คือเรื่องนี้   เมื่อประกาศผลก็มีคนสงสัยว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลผิดหรือเปล่า   เพราะเขาไม่ได้มีชื่อเสียงด้านการวิจัยเลย   ผมเข้าไปค้น Google Scholar อ่านบทความและบอกสาวน้อยว่า ได้ลงใน JADA เชียวนะ   สาวน้อยถามว่า JADA คืออะไร   ผมบอกว่าก็คือ JAMA ในวิชาชีพทันตแพทย์

          คำสนทนานี้หมายความว่า ลูกสาวเขาส่งผลงานวิจัยไปลงวารสารคุณภาพสูง ลงตีพิมพ์ยาก   เมื่อได้ลงก็ย่อมเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพทางหนึ่งแล้ว   ยืนยันโดยจำนวนครั้งที่ได้รับการอ้างอิง

          ผมบอกเขาว่าทำวิจัยอีกซี   ทำคล้ายๆ กันนี่แหละ ซึ่งก็คล้ายๆ กับที่แม่เคยทำสมัยทำงานอยู่ที่ มอ.  จะเห็นว่าไม่ยากเย็นอะไร   เขาตอบว่ากำลังคิด แล้วจะขอปรึกษา

          “แล้วจะปรึกษา” นี่คือประโยคที่ให้ความสุขความชุ่มชื่นแก่พ่อ   เพราะที่ผ่านมาพ่อมีลูกที่เป็นอาจารย์เหมือนพ่อแม่อยู่คนเดียว   และพ่อแม่มีประสบการณ์ที่จะให้คำแนะนำได้มากมาย   แต่ไม่กล้าเอ่ย   เพราะเกรงจะก่อความเครียดให้ลูก   ว่าเราไปเร่งรัดให้เขาทำวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่ชอบ 

          จะเห็นว่าลูกสาวคนโตของผมได้รับกำลังใจ หรือกระตุ้นแรงบันดาลใจ อย่างแรง   จากการประเมินแบบ empowerment evaluation  เขาเกิดความคิดที่จะทำวิจัยเรื่องอื่นต่ออีก   ซึ่งจะก่อผลดีทั้งต่อตัวเขาเอง และต่อคณะทันตแทพยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

วิจารณ์ พานิช
๖ ส.ค. ๕๔

                    
          
                    
           

หมายเลขบันทึก: 458583เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เป็นเรื่องที่น่าแปลกครับ
  • ทั้งทั้งที่เรา ใช้ประเมินเพื่อพัฒนา
  • แต่
  • หลายๆแห่ง ตั้งหน้าตั้งตา "ฟาดฟัน ด้วยค่าคะแนน"
  • ดูแล้ว "แค้น(แน่น อึดอัด) หัวใจ นักพัฒนา นะ ครับ"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท