วัฏจักรน้ำมันแพง+เศรษฐกิจตกต่ำ [EN]


สำนักข่าว The Globe and Mail จากแคนาดา ตีพิมพ์เรื่อง 'Oil price spikes and recession intertwined' = "ราคาน้ำมันพุ่งพรวดกับเศรษฐกิจตกต่ำสัมพันธ์กัน", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
  • [ spike ] > [ s - ไป้ - k ] > http://www.thefreedictionary.com/spike > noun = เดือยแหลม ยอดแหลม เส้นกราฟที่พุ่งสูงขึ้นเร็ว-ลงเร็ว (peak)
  • [ recession ] > [ หรี่ - เซ้ส - เฉิ่น ] > http://www.thefreedictionary.com/recession > noun = เศรษฐกิจตกต่ำ ชะลอตัว
  • [ intertwine ] > [ อิน - เถ่อ - t - ว่าย ]http://www.thefreedictionary.com/intertwine > verb = ร้อยกัน สานกัน (คล้ายสานตะกร้า), สัมพันธ์แบบใกล้ชิดกัน
สมาชิกโอเปคหรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ส่วนใหญ่ดูจะชื่นชอบกับการลดการผลิต เพื่อให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทว่า... ซาอุดี อารเบียกลับเป็นแกนนำอีกด้านหนึ่ง คือ ไม่สนับสนุนให้ราคาน้ำมันสูงเกิน และเพิ่มการผลิตเป็นพักๆ เพื่อป้องกันราคาน้ำมันสูงเกิน
.
ซาอุฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยมีกองทุนมั่งคั่ง ลงทุนในพันธบัตรและกิจการทั่วโลก น่าจะคิดว่า น้ำมันแพงเพิ่มโอกาสการเกิดพลังงานทางเลือก รวมทั้งเพิ่มเสี่ยงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าลดลง คนใช้จ่ายน้อยลง และใช้น้ำมันน้อยลงตามไปด้วย
.
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2, ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงมากมักจะตามมาด้วยเศรษฐกิจตกต่ำ และสงครามหรือความขัดแย้งในภูมิภาคที่มีการผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะตะวันออกกลาง-เขตซะฮาราตอนเหนือของอาฟริกา
.
ปี 2008/2551 ราคาน้ำมันพุ่งไปเกือบ $150/บาร์เรล ก่อนเศรษฐกิจตกต่ำ โดยร่วมแจมกับฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ และการล้มละลายของเลฮ์แมน บราเตอส์
.
ซาอุฯ ผลิตน้ำมัน 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมีกำลังผลิตสำรองอีก 4-6 ล้านบาร์เรล/วัน
.
 [ theglobeandmail ]
.
ภาพจาก 'The Globe and Mail': กราฟสีแดงแสดงราคาน้ำมัน, จุดแดงแสดงช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง 5 ครั้ง (กราฟสูงขึ้น-แต้มสีกลักจีวร) และตามมาด้วยเศรษฐกิจตกต่ำ คือ น้ำมันแพงก่อน-เศรษฐกิจตกต่ำตาม
.
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีปรากฏการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงกับเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว 5 ครั้งดังต่อไปนี้ (ให้นำ 543 ไปบวกปี คศ. - ถ้าต้องการแปลงเป็นปี พศ.)
.
(1). OPEC Embargo (1973-1974) / โอเปคสั่งห้ามค้าขาย
.
สงครามอาหรับ-อิสราเอล ทำให้สมาชิกชาติอาหรับกลุ่มโอเปค (ส่งออกน้ำมัน) ห้ามส่งน้ำมันขายสหรัฐฯ-อิสราเอล ทำให้การผลิตลดลง 7.5% เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกลง 2.5% ในไตรมาส (ไตร = 3; มาส = เดือน) แรกของปี 1974
.
(2). Revolution and war (1978-1981) / การปฏิวัติและสงคราม
.
การปฏิวัติในอิหร่านและสงครามอิรัก-อิหร่าน ทำให้การผลิตน้ำมันในโลกตกลง 6-7% ในปี 1978 และกษัตริย์ชาแพ้ในปี 1980 ทำให้อิหร่านผลิตน้ำมันได้ 1/2 ของยุคก่อนปฏิวัติ
.
ผลคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำตลอดครึ่งแรกปี 1980 และหดตัว 1.5% ในปี 1981 (เริ่มจากไตรมาสสองปี 1981)
.
(3). First Persian gulf war (1990-1991) / สงครามอ่าวเปอร์เชียครั้งแรก (1990-1991)
.
ซัดดัมบุกคูเวตในเดือนสิงหาคม 1990 ทำให้อัตราการผลิตของอิรักตก = 9% ของการผลิตน้ำมันโลก ตามมาด้วยราคาน้ำมันดิบเพิ่มเป็น 2 เท่าใน 2-3 เดือน
.
ซาอุดีฯ ประกาศผลิตเพิ่มในเดือนพฤศจิกายน ทว่า... ไม่ทัน, เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกลง 0.1% นาน 1 ปี โดยเริ่มจากไตรมาสสามของปี 1990
.
(4). Demand shock (1999-2000) / ช็อคอุปสงค์ (ความต้องการน้ำมันพุ่งพรวด)
.
ปี 1999 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้เศรษฐกิจเอเชียตกต่ำ ความต้องการน้ำมันลดฮวบจนราคาตกเหลือ $10/บาร์เรล
.
โอเปคและผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น เม็กซิโก นอร์เวย์ ฯลฯ รวมหัวกันลดการผลิต = 7% ผลผลิตโลกในเดือนมีนาคม 2009 แต่ปรากฏว่า เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวเร็วผิดคาด ทำให้ความต้องการพุ่งสูง
.
สหรัฐฯ กดดันให้ซาอุฯ และประเทศผู้ผลิตรายอื่นเพิ่มการผลิต แต่ไม่ทัน... เกิดเศรษฐกิจตกต่ำในเดือนมีนาคม 2001
.
(5). Supply shock (2007-2008) / ช็อคอุปทาน (กำลังการผลิตเพิ่มไม่ทัน)
.
รอบนี้ไม่เหมือน 4 รอบที่ผ่านมา คือ ไม่มีสงครามหรือความขัดแย้งครั้งใหญ่ มีเพียงความไม่สงบในอิรักและไนจีเรีย (ไม่รุนแรง)
.
ราคาน้ำมันพุ่งพรวดเป็น $147/บาร์เรลในเดือนกรกฎาคม 2008 เนื่องจากจีนและประเทศเศรษฐกิจใหม่หลายประเทศโตเร็ว ต้องการน้ำมันมากขึ้น เช่น จีนใช้น้ำมันเพิ่ม 840,000 บาร์เรล/วัน ในช่วงปี 2005-2007 ฯลฯ
.
กำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกเกือบไม่เพิ่มเลยหลังปี 2008 (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบ่อน้ำมันเก่าผลิตได้น้อยลง ยกเว้นในรัสเซียที่เพิ่มจนเป็นผู้ผลิตอันดับ 1) เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง
.
และแล้ว... เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็หดตัวลง 0.7% ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2007 และไตรมาศ 4 ปี 2008
.
สรุป คือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังการก่อเกิดของกลุ่ม OPEC พบว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจะตามมาด้วยเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยวิกฤติมีระยะห่างกันแบบ 7.5 กับ 10.5 ปีได้แก่ [ 7.5-10.5-10.5-7.5 ] หรือเฉลี่ยทุกๆ 9.1 ปี
 .
และถ้านับเพิ่มอีก 1 รอบในปี 2011 ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงก่อนเศรษฐกิจตกต่ำรอบใหม่จะพบว่า วิกฤตินี้เกิดบ่อยขึ้นเป็นทุกๆ 5 ปีใน 2 รอบสุดท้าย
.
ถ้าคนทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ใช้พลังงาน (น้ำมัน-แก๊ส) เปลือง, หาพลังงานทางเลือกที่ราคาใกล้เคียงกับน้ำมันไม่ได้ และ... โลกยุคใหม่อาจจะเสี่ยงเศรษฐกิจตกต่ำทุกๆ 5 ปี
.
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความน่ากลัวอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจตกต่ำซ้ำซาก เช่น เกิดติดกัน 2 รอบ (double-dip recession), เกิดติดกัน 3 รอบ (triple-dip recession) ฯลฯ
.
คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน-ผู้บริโภคจะเป็นแบบ "หัวหดตดหาย" กลายเป็นโรคปอด(แหก)... ทำให้อะไรๆ ร้ายกว่าที่คิด
เนื่องจากผุ้ผลิตกลัว... ไม่กล้ากู้มาลงทุน, ผู้บริโภคก็กลัว... ไม่กล้ากู้มาใช้จ่าย หรืออาจกลัวมากจนเก็บเงินไว้เฉยๆ ประหยัดสุดๆ แบบคนสูงอายุในญี่ปุ่น
.
มหาอำนาจรัสเซีย ซึ่งผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก มีนโยบายขายน้ำมัน-แก๊สลดราคาให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์กับรัสเซียดีเป็นพิเศษ + นักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทยมาก... ไทยควรรีบปรับปรุงความสัมพันธ์อันนี้ เพราะอาจเป็นทางเลือกทางรอดของไทยในอนาคตได้
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 4 กันยายน 2554. ยินดีให้ท่านนำบทความทั้งหมดไปใช้ได้ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 458542เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท