เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนองไทยเดิม ตอนที่ ๓๘ เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนอง “ลาวดวงเดือน”


เพลงไทยสากลที่ตั้งชื่อบ่งชี้ทำนอง “ลาวดวงเดือน” ได้แก่เพลง “ดวงเดือน” และเพลง “ดวงเดือนดวงใจ”

 

เพลงลาวดวงเดือน

 

เพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงไทยเดิมที่ฮิตที่สุดเมื่อเทียบกับเพลงไทยเดิมด้วยกัน หากจะถามคนไทยว่ารู้จักเพลงไทย (หรือเพลงไทยเดิม) เพลงอะไรบ้าง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักเพลงลาวดวงเดือน ถ้าเปิดเพลงลาวดวงเดือนให้ฟังแล้วถามว่าเป็นเพลงอะไร คนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจะตอบได้ และหากถามว่าร้องเพลงไทยเพลงอะไรได้บ้าง คนส่วนหนึ่งจะร้องเพลงลาวดวงเดือนได้ แม้จะร้องได้ไม่จบเพลงก็ตาม

 

เพลงลาวดวงเดือน ทรงพระนิพนธ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พ.ศ.๒๔๒๕-๒๔๕๒) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดามรกฎ ทรงศึกษาด้านเกษตรกรรมจากประเทศอังกฤษ เมื่อเสด็จกลับได้ทรงเข้ารับราชการเป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก รวมทั้งตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงเป็นต้นราชสกุล "เพ็ญพัฒน์"

 

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงสนพระทัยดนตรีไทยมากถึงกับมีวงปี่พาทย์วงหนึ่งเรียกกันว่า  “วงพระองค์เพ็ญ” พระองค์เล่นดนตรีได้หลายชนิด ทรงเป็นนักแต่งเพลงที่มีความสามารถ โดยได้ทรงแต่งเพลง “ลาวดำเนินเกวียน”  ซึ่งเป็นเพลงที่นิยมกันแพร่หลายกันจนถึงปัจจุบัน ในชื่อเพลง “ลาวดวงเดือน” สำหรับเพลงลาวดำเนินเกวียนนี้  พระองค์ท่านแต่งขึ้นต้องการให้มีสำเนียงลาว เนื่องจากโปรดทำนองและลีลาเพลง “ลาวดำเนินทราย” เมื่อคราวที่เสด็จตรวจราชการภาคอีสาน (บางตำราว่าเสด็จภาคเหนือ) ระหว่างที่ประทับแรมอยู่ตามทางจึงทรงแต่งเพลง “ลาวดำเนินเกวียน” ขึ้น  เพื่อให้คู่กับเพลงลาวดำเนินทราย กล่าวกันว่า แรงบันดาลใจที่พระองค์ทรงแต่งเพลงนี้นั้นเนื่องจากผิดหวังในความรัก คือ เมื่อพระองค์จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เสด็จขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่ ทรงชอบพอกับเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ พระธิดาในเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ธรรมลังกา ณ เชียงใหม่ กับเจ้าหญิงคำย่น (ณ ลำพูน) ณ เชียงใหม่ พระองค์สนพระทัยมากจนถึงกับให้ผู้ใหญ่ในมณฑลพายัพเป็นเถ้าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับคำตอบจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ว่าขอให้เจ้าหญิงชมชื่นอายุ  ๑๘  ปีก่อน  เพราะขณะนั้นเจ้าหญิงอายุเพียง  ๑๖  ปี  และขอให้ได้รับพระบรมราชานุญาตด้วย  เมื่อกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมกลับถึงกรุงเทพฯ  ก็ได้รับการทัดทานจากพระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์ได้รับความผิดหวัง จึงระบายความรักความอาลัยลงในพระนิพนธ์บทร้อง  “เพลงลาวดำเนินเกวียน”  ซึ่งเป็นเพลงที่มีความหมายไพเราะอ่อนหวาน จับใจผู้ฟังมาจนทุกวันนี้

 

สาเหตุที่คนทั่วไปเรียกชื่อเพลง "ลาวดำเนินเกวียน" เป็น "ลาวดวงเดือน" เนื่องจากเนื้อร้องของเพลงมีคำว่า “ดวงเดือน” ซึ่งเป็นคำหลักของเพลงและมีอยู่หลายแห่ง

 

เพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงในอัตรา ๒ ชั้น มี ๓ ท่อน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ครูมนตรี ตราโมท (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๓๘) ราชบัณฑิตในประเภทวิจิตรศิลป์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้แต่งขยายเพลงลาวดวงเดือนเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียวจนครบเถา ตั้งชื่อใหม่ว่า “โสมส่องแสง” โดยคำว่า “โสม” แปลว่า “พระจันทร์” หรือ “ดวงเดือน” นั่นเอง

 

เนื้อร้องเพลงลาวดวงเดือน ๒ ชั้น

 

เที่ยวต้น

(ท่อน ๑) โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย พี่มาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง โอ้ดึกแล้วหนอ พี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย

(ท่อน ๒) ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม (เออ...เอย) พี่นี้รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม หาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย หาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย

(ท่อน ๓) หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ ช่างหอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูของเรียมเอย หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชย เอ๋ยเราละเหนอ

เที่ยวกลับ

(ท่อน ๑) โอ้ละหนอนวลตาเอย พี่นี้รักแสนรักดังดวงใจ โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย

(ท่อน ๒) เห็นเดือนแรมเริดร้างเวหา (เออ...เอย) พี่แต่เบิ่งดูฟ้า (ละหนอ) เห็นมืดมน จะทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

(ท่อน ๓) เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย ถึงจะหวานเสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่เหมือนทรามเชย เอ๋ยเราละเหนอ

 

 

เพลงไทยสากลที่ตั้งชื่อบ่งชี้ทำนอง “ลาวดวงเดือน” ได้แก่เพลง “ดวงเดือน” และเพลง “ดวงเดือนดวงใจ”

 

(๑) เพลงดวงเดือน ของวงสุนทราภรณ์ คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ดัดแปลงทำนองเพลงลาวดวงเดือน ๒ ชั้น ร้องแบบไทยเดิม

 

เนื้อร้องเพลงดวงเดือน

                                                                                                                      

(ญ) โอ้ละหนอรักพี่เอย พี่อย่าห่างน้องเลย รักจริงจงเชยชิดชื่นทรวง
(ช) โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง นะเจ้าพุ่มพวงเพราะเดือนจะล่วงลับดวงไป
(ญ) ชื่นฉะนี้นะพี่เอย พี่จงอยู่ชิดเชยแม้เดือนจะเลยลับสิ้นดวง
(ช) โธ่ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง สาวเจ้าอย่าหน่วงเพราะเดือนจะล่วงจากฟ้าไป
(ญ) ถึงเดือนจะล่วง เหตุใดจะล่วงตามเดือน
(ช) ใช่พี่บิดเบือนร้างเลือนเบื่อใจ
(ญ) พี่คงซ่อนชู้ หรือนัดคู่คนใหม่
(ช) รักพี่ไม่มีที่ไหน เว้นไว้แต่แก้วตา
(ญ) เล่ห์ลิ้นหลงกินก็ตาย ลิ้นลมผู้ชายหวานได้ต่อหน้า
(ช) หากใจเป็นฟักแฟงแตงกวา น้องเอยพี่จะผ่าควักมาทันที
(ญ) ฮึ ปากละว่ารัก
(ช) ใช่รักแต่คำพร่ำ
(ญ) ล่อหลอกจนชอกช้ำ
(ช) ใช่ช้ำเพราะมือพี่
(ญ) ไม่ใช่เพราะพี่ ก็นี่เพราะใคร
(ช) ไหนเล่าที่ชอกช้ำ
(ญ) มันช้ำในดวงจิต
(ช) มะ พี่จะคลายพิษ
(ญ) อย่าชิดเข้ามาต้อง
(ช) เหตุใดน้องจึงป้อง
(ญ) ไม่ป้องก็ช้ำใจ
(ช) โถเจ้าแสนงอนร้าวรอนอาวรณ์ไปไย
(ญ) อย่าคว้า อย่าไขว่ ไปไหนก็ไป
(ช) ไม่ไปแล้วแก้วตา
(ญ) อย่าคว้า อย่าไขว่ ไปไหนก็ไป
(ช) ไม่ไปแล้วแก้วตา
(ญ) ฮึ ปากละว่ารัก
(ช) ใช่รักแต่คำพร่ำ
(ญ) ล่อหลอกจนชอกช้ำ
(ช) ใช่ช้ำเพราะมือพี่
(ญ) ไม่ใช่เพราะพี่ ก็นี่เพราะใคร
(ช) ไหนเล่าที่ชอกช้ำ
(ญ) มันช้ำในดวงจิต
(ช) มะ พี่จะคลายพิษ
(ญ) อย่าชิดเข้ามาต้อง
(ช) เหตุใดน้องจึงป้อง
(ญ) ไม่ป้องก็ช้ำใจ
(ช) โถเจ้าแสนงอนร้าวรอนอาวรณ์ไปไย
(ญ) อย่าคว้า อย่าไขว่ ไปไหนก็ไป
(ช) ไม่ไปแล้วแก้วตา
(พร้อม) ชื่นชู้คู่อุรา ไม่ร้างไม่ราต่อไปแล้วเอย

 

 

(๒) เพลงดวงเดือนดวงใจ คำร้อง-ทำนองโดยสง่า อารัมภีร ดัดแปลงคำร้องและทำนองเพลงลาวดวงเดือน ๒ ชั้น ร้องแบบไทยเดิม ใช้ดนตรีสากล แต่ท่อน ๑ ร้องครั้งที่ ๒ ได้นำเอาเนื้อร้องเที่ยวกลับมาดัดแปลงร้องด้วย ท่อน ๓ ดัดแปลงโดยใส่ “เอ๊ะ” เข้าไปด้วย

 

เนื้อร้องเพลงดวงเดือนดวงใจ

 

โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย

โอ้ละหนอขวัญตาเอย พี่นี้รักแสนรักดังดวงใจ โอ้เป็นกรรมหนอต้องจำจากไป อกพี่อาลัยรักเจ้าดวงเดือนเอย

ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม (เออ...) พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ (เอ๊ะ) หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูเรียมเอย ถึงจะหอมกรุ่นครันหอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชยเอ๋ยเราละเหนอ

 

ม.ร.ว.ถนัดศรี  สวัสดิวัฒน์ http://www.4shared.com/audio/PVBVqtGY/--_online.htm

 

วิพล นาคพันธ์

๓  กันยายน  ๒๕๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 458107เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2011 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

เป็นบันทึกที่มีคุณค่า และน่าประทับใจมากค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ บันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ^^

เชิยมาอ่าน  บันทึกนี้กัน  เยอะๆนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท