ตามหาความสุขกาย ใจ จิต


การทำสงครามกันนั้นโดยรากฐานแท้จริงแล้วก็เพื่อพัฒนาความสุขของสังคมตนให้สูงยิ่งขึ้นนั่นเอง

(บทความข้างล่างนี้ ตัดตอนมาจากบทความผมใน(ร่าง)ตำรา "การพัฒนาคุณภาพชีวิต" ที่ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้แต่งร่วมด้านวิทยาศาสตร์  แต่แล้วก็ไม่ได้คลอดออกมา เพราะเปลี่ยนผู้บริหารเสียก่อน เผอิญท่านนี้ไม่ชอบอุจาระพักตร์ผม เพราะไม่นบนอบพิเทา เอาแต่ด่า  อิอิ....)

 

ห่วงโซ่คุณภาพชีวิต..สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี ความคิด 

 

                คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามนุษย์ที่เกิดมาและมีจิตใจสมประกอบทุกคน ต่างก็หวังความสุขด้วยกันทั้งสิ้น ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เช่น การที่นักพรตบางคนยอมทรมานตนเองอย่างสาหัส ด้วยการนอนบนเตียงตะปู ก็นับได้ว่าเป็นเพียงการลงทุนทางวิญญาณเพื่อหวังว่าจะได้รับความสุขอันยิ่งใหญ่กว่า คือการหลุดพ้นทางวิญญาณนั่นเอง และการที่นักศึกษาทุกคนยอมลำบากและเสียเงินมาเรียนมหาวิทยาลัยก็เพื่อจะได้รับปริญญาและใช้มันเป็นเครื่องมือในการหาเงินเพื่อแสวงหาความสุขและความมั่นคงให้แก่ชีวิตมิใช่หรือ

                สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคุณภาพชีวิต มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างลึกซึ้งมาโดยตลอด โดยมีสิ่งที่เรียกกันว่า”ความสุข”เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าด้วยกัน อาจแสดงให้เห็นได้ว่าสังคมและวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานให้เกิด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวัฏจักรของการเกี่ยวเนื่องกันอันมิรู้จบอยู่เช่นนั้น และทั้งสองสิ่งย่อมเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตทั้งในด้านของชีวิตส่วนบุคคลและชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เป็นการไม่ยากจนเกินไปนักที่จะจินตนาการให้เห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้เพราะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงแนวทางและรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมากมายมหาศาลและอย่างรวดเร็วจนเห็นกันได้แม้ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง แต่เป็นการยากพอสมควรที่จะจินตนาการให้เห็นว่าสังคม วัฒนธรรม มีผลกระทบต่อ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย สิ่งที่ทำให้เห็นได้ยากเป็นเพราะเงื่อนไขของเวลานั่นเอง เพราะสังคมต้องใช้เวลานานหลายชั่วอายุคนในการหล่อหลอมให้เกิดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

                หากสังคมและวัฒนธรรมจะไม่ได้มีวิวัฒนาการจนหยั่งรากลึกถึงระดับหนึ่งเสียแล้ว มนุษย์ในสังคมคงไม่มีเวลาและความสงบพอที่จะคิดค้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รวมทั้งศิลปศาสตร์) ด้านต่างๆได้เลย เพราะจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาปัจจัยสี่มาประทังชีวิตเสียเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจขัดแย้งกันรุนแรงจนใช้เวลาส่วนใหญ่ทำสงครามรบพุ่งกันตลอดเวลา (เช่นสงครามศาสนาที่เกิดขึ้นในยุคกลางของยุโรปและตะวันออกกลางที่เรียกกันว่าสงครามครูเสดซึ่งใช้เวลารบพุ่งนานถึง 200 ปีเป็นต้น) หากจินตนาการย้อนยุคไปจนถึงสมัยหินก็จะเห็นถึงความเกื้อกูลกันของสังคมและวัฒนธรรม กับ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด เช่นการค้นพบไฟทำให้มนุษย์รู้จักการถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน ทำให้ไม่ต้องออกล่าสัตว์ทุกวัน ซึ่งทำให้สังคมได้มีเวลาพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆได้ นอกจากการพัฒนาตนเองของสังคมแล้ว การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคมยังทำให้ได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันอีกด้วย ทำให้เกิดการกระจายและการเจริญขึ้นของความรู้ได้อย่างรวดเร็ว

                นอกจากนี้ระบบการปกครอง และระบบการบริหารจัดการสังคมโดยรวม (หรือที่บางครั้งเรียกกันว่า “เทคโนโลยีสังคม” ) ก็มีส่วนสำคัญในการชักนำให้เกิดการสร้างและการกระจายของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วอีกด้วย  ได้มีการวิเคราะห์กันว่าโลกเริ่มพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีตมากนั้นเป็นเพราะเทคโนโลยีสังคมที่ประเทศอังกฤษได้เริ่มคิดค้นและพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณสัก 500 ปีมาแล้ว ทั้งนี้เพราะได้มีการประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกของโลก ทำให้นักคิด นักค้นคว้าทั้งหลายไม่ต้องปกปิดการคิดค้นของตนเป็นความลับอีกต่อไป สามารถนำมาเปิดเผยและได้รับการคุ้มครองสิทธิแห่งการคิดค้นนั้น ซึ่งผิดกับส่วนอื่นๆของโลกเช่นในสังคมจีนและไทยโบราณนั้น ความรู้และการคิดค้นด้านต่างๆมักถูกปกปิดเป็นความลับ ความรู้จำนวนมากต้องตายไปพร้อมกับผู้คิดค้น ทำให้ไม่เกิดการต่อยอดเพื่อพัฒนาต่อไป การนำความรู้มาเปิดเผยก็คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารนั่นเอง ทำให้ผู้อื่นนำไปพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น หรือเป็นฐานให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ๆออกมาได้อีกมาก จะสังเกตเห็นได้ในปัจจุบันว่า หากมีการจดสิทธิบัตรที่เป็นการคิดค้นใหม่อันหนึ่ง (เช่นในสหรัฐอเมริกา)  ก็จะมีการจดสิทธิบัตรการคิดค้นย่อยเพื่อประกอบสิทธิบัตรหลักอันนั้นโดยนักคิดค้นอื่นๆอีกนับร้อยรายทีเดียว

ความสงบสุขของสังคมทำให้มนุษย์มีเวลาเหลือสำหรับใช้พัฒนาความรู้ด้านต่างๆได้ แต่ในขณะเดียวกันแรงขับเคลื่อนให้เกิดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีผลกระทบสูงขึ้นมาได้นั้นต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการในการป้องกันตนเอง หรือความต้องการในการรุกรานสังคมอื่น (กล่าวคือ การสงคราม) เช่น การหล่อหลอมปืนใหญ่ในยุคก่อน (เช่น สมัย ต้นกรุงศรีอยุธยา) ย่อมมีอานิสงส์ต่อการหล่อหลอมเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆด้วย เช่น มีด ภาชนะ ดุมล้อเกวียน เป็นต้น และในสมัยที่ชาวยุโรปออกล่าอาณานิคมทั่วโลก ก็ทำให้เกิดเทคโนโลยีการต่อเรือเพื่อเดินทางข้ามมหาสมุทร รวมทั้งเทคโนโลยีการสร้างปืนใหญ่ให้ทนทานกว่าเดิม ยิงได้ไกลกว่าเดิม แม่นกว่าเดิม ในสมัยกษัตริย์นโปเลียนมหาราชของฝรั่งเศสนั้นแม้แต่นักคณิตศาสตร์ก็ต้องทำงานวิชาการเพื่อหาสูตรการขยายตัวของกระบอกปืนใหญ่อันเนื่องจากการเกิดขึ้นของความร้อนในการยิง(เพื่อนำไปสู่การยิงให้แม่นยิ่งขึ้น) จนเกิดความรู้ทางคณิตศาสตร์อันลึกซึ้ง เช่น ฟูริเยร์ซีรี (Fourier’s series) ที่นักคณิตศาสตร์และวิศวกรยังใช้กันอย่างกว้างขวางในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนถึงทุกวันนี้

ในยุคอวกาศทุกวันนี้ก็เช่นกัน สงครามได้ช่วยพัฒนาเครื่องบิน  ทำให้มนุษย์สามารถเดินทางติดต่อสื่อสารและท่องเที่ยว(เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต)ได้อย่างรวดเร็ว ไมโครชิพตัวแรกของโลก (ซึ่งเป็นหัวใจของเครื่องคอมพิวเตอร์) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมของทหาร และอินเตอร์เน็ทก็ถูกพัฒนาขึ้นในยุคแรกๆเพื่อกิจกรรมทางทหารเช่นเดียวกัน (พัฒนาขึ้นโดยองค์การ DARPA ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งย่อมาจาก Defense Advanced Research Project Agency)  จึงเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์ตามมาด้วย เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกชนิดย่อมสามารถใช้เพื่อให้คุณหรือให้โทษได้เสมอ หากให้คุณก็ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่หากให้โทษก็เท่ากับว่าช่วยบั่นทอนคุณภาพชีวิตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งเช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ แรงขับดันให้มนุษย์พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็คือความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้สูงยิ่งขึ้นนั่นเอง การทำสงครามกันนั้นโดยรากฐานแท้จริงแล้วก็เพื่อพัฒนาความสุขของสังคมตนให้สูงยิ่งขึ้นนั่นเอง เช่นการรุกรานผู้อื่นก็เพื่อครอบครองและกอบโกยผลประโยชน์ต่างๆเพื่อมาสร้างความสุขให้แก่สังคมตน หรือ เพื่อขจัดเสี้ยนหนามที่เชื่อว่าจะนำความทุกข์มาให้แก่สังคมตนในอนาคต

 

หมายเลขบันทึก: 458103เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2011 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท