ปิดฉากเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4


สิ่งที่ผมยังคงสัมผัสได้คือมิตรภาพที่ยังคงเชื่อมโยงด้วยความผูกพันและความคิดถึง

หลังจากที่เยาวชนกว่า 500 คนได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันมา ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทุกคนก็ได้มารวมตัวกันในพิธีปิดงาน ในวันที่ 26 สิงหาคม ก่อนจะแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา

ขอประมวลภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ในค่าย มาให้ชมกันที่นี่นะครับ

วันเสาร์ที่ 20 เป็นวันลงทะเบียน แต่ละประเทศก็เริ่มทะยอยกันมาตลอดทั้งวัน

วันอาทิตย์ที่ 21 เป็นพิธีเปิด โดยจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุม BITEC บางนา
โดยมี พณฯ รัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี
โดยได้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์ต้อนรับตัวใหม่ล่าสุดของ สวทช. ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อพิธีเปิดนี้ด้วย

ในช่วงเช้าของงาน เป็นการแสดงกลองสะบัดชัย ที่เรียกเสียงฮือฮา ด้วยการลากเอาผู้เข้าร่วมงานชาวต่างชาติ ขึ้นมาเล่นลาวกระทบไม้กันบนเวทีด้วย
รวมถึงมีการจัด Plenary Session ที่นำเอานักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากต่างประเทศ 3 ท่านและของประเทศไทย 1 ท่าน มาร่วมเสวนากัน ในหัวข้อ From Nature to Technology
เมื่อเสร็จสิ้นการบรรยาย วิทยากรทั้ง 4 ท่านก็ให้เกียรติอยู่ตอบข้อซักถามแก่ผู้เข้าร่วมงานอย่างเป็นกันเองบริเวณด้านล่างของเวที ซึ่งผู้เข้าร่วมงานก็ให้ความสนใจเข้ารุมล้อมซักถามและถ่ายภาพทุกท่านกันอย่างใกล้ชิด

ในช่วงบ่ายของวันนั้น ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสเที่ยวชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกันอย่างสนุนสนาน และในช่วงเย็นได้มีการจัด Dinner Talk ในหัวข้อเรื่องพลังงานแห่งอนาคต โดยได้มีการนำเอาโมเดลเครื่องบินที่บินด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มาจัดแสดงให้ชมด้วย
นอกเหนือจากนี้ การแสดงละครหุ่นโจหลุยส์ก็เรียกเสียงฮือฮาต่อผู้ร่วมงานได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำเอาหนุมานและเบญจกาย กระโดดลงมาจากบนเวที มาเล่นสนุกกันทางด้านล่างอีกด้วย

หลังจากเข้าค่ายกันมาอย่างเต็มที่ ในช่วงเย็นของวันที่ 22 มีการจัดกิจกรรม Foresight โดย ดร.นเรศ ดำรงชัย ซึ่งก็ได้มีกิจกรรมให้เยาวชนลองคิดภาพอนาคตร่วมกันเป็นกลุ่มๆ โดยจะได้นำภาพที่ได้ มาร้อยเรียงกันเป็น Mosaic เพื่อจัดแสดงในพิธีปิดอีกด้วย

เสียดายที่ช่วงเย็นของวันอังคาร ซึ่งมีการแสดง Science Show จากทาง อพวช. ผมไม่ได้เข้าร่วมด้วย จึงไม่ได้มีภาพมาให้ดูกัน แต่ในช่วงเย็นของวันพุธ เป็นคืน Music Night ซึ่งน้องๆได้ออกมาแสดงความสามารถทางดนตรีกันอย่างหลากหลาย ทั้งการขับร้อง การเต้นรำ เป่าฟลุต แต่งเพลง ซึ่งผมเองก็ได้มีโอกาสร่วมเล่นกับหลายๆคน โดยเฉพาะน้อง Michelle จากประเทศจีน ที่ร่วมบรรเลงเปียโนเพลง The Moon Represents My Heart กับเสียง Soprano Sax ของผมด้วยกัน

คืนวันพฤหัส เป็นคืนที่น่าจดจำอีกคืนหนึ่ง ที่ทุกชาติขนเอาศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง มาร่วมแสดงให้ชมด้วยกัน รวมถึงมีการประกาศรางวัลการตั้งชื่อหุ่นยนต์ต้อนรับตัวใหม่ ที่ได้ชื่อ ข้าวต้มมัด เป็นชื่อ Popular Vote และชื่อ Robot Nine เป็นชื่อที่ได้รับการ Vote จากคณะกรรมการ

พิธีปิดในวันศุกร์ที่ 26 เริ่มขึ้นด้วยการแสดงโครงงานวิทยาศาสตร์ที่น้องๆได้จัดทำกันขึ้น น้องๆต่างก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

เมื่อเข้าสู่พิธีการใน Stadium น้องๆที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของค่าย ต่างก็ขึ้นเวทีมาเล่าประสบการณ์ต่างๆที่ได้เรียนรู้จากในค่ายที่ผ่านมา รวมถึงได้มีการนำเสนอผลการจัดกิจกรรม Foresight บนเวทีอีกด้วย

เพื่อส่งท้ายด้วยความรู้สึกอบอุ่นแบบไทยๆ เราจึงได้เชิญ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เจ้าของเสียงขลุ่ยในเพลง Made in Thailand อันลือลั่นของวงคาราบาว มาบรรเลงเพลงขลุ่ยที่แสนจะไพเราะ โดยมี อ.ยุทธนา ศรีมูลชัย นักเปียโนผู้พิการทางสายตา กับผม ขึ้นมาร่วมเล่นแบคอัพให้อีกหนึ่งเพลง ซึ่งในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสกับ อ.ธนิสร์ อย่างใกล้ชิด ด้วยการที่อาจารย์ลงไปบรรเลงเพลงขลุ่ยในบริเวณที่น้องๆนั่งกันอยู่ สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี

ปิดท้ายด้วยการที่ตัวแทนครูจากประเทศต่างๆ มานำเด็กๆขับร้องเพลง Auld Lang Sine ร่วมกันในแต่ละภาษา ตามมาด้วยคำกล่าวปิดจากน้องข้าวต้มมัด หุ่นยนต์ต้อนรับที่ได้ชื่อมาแล้ว และปิดท้ายด้วยการร่วมกันขับร้องเพลง Auld Lang Sine พร้อมกันในทุกภาษา

นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้
แม้ว่างานจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่สิ่งที่ผมยังคงสัมผัสได้คือมิตรภาพที่ยังคงเชื่อมโยงด้วยความผูกพันและความคิดถึง ที่ปรากฏอยู่บน Social Network ของงาน ที่ยังคงมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพวกเราก็คาดหวังเอาไว้ว่า มิตรภาพในครั้งนี้จะยังคงสืบทอดต่อไปกลายเป็นความร่วมมือที่สำคัญ เมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นมามีบทบาทสำคัญในอนาคตอันไม่ไกลนี้...

ขอขอบพระคุณทุกๆท่านที่ช่วยสนับสนุนให้งานในครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดีครับ...

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สวทช.
หมายเลขบันทึก: 457744เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2011 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท