ครูควรสอนเด็กให้สร้างความรู้ด้วยตนเอง


สอนแบบสร้างความรู้

              การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ต้องควบคู่ไปกับการสอนที่ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองเนื่องจาก  การสอนแบบเดิมคือครูให้ความรู้โดยการบอกสอน ป้อนความรู้ให้กับผู้เรียนมากจนเกินไปทำให้ผู้เรียนขาดทักษะ กระบวนการในการเรียนรู้ เป็นการรับรู้พยายามทำความเข้าใจแต่ไม่เกิดองค์ความรู้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้เรียนทุกคนมีประสบการณ์เรียนรู้ที่แตกต่างกัน มีพื้นฐานความรู้เดิมที่แตกต่างกัน แต่ครูจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้นำความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยงกับประสบการณ์ใหม่  ๆ  จนเกิดความรู้ความเข้าใจผนวกเป็นความรู้ใหม่ของตนเอง

การสร้างความรู้ด้วยตนเอง

                ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ตามแนวคิดของเพียเจต์ มีความเชื่อว่า “ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม” รากฐานสำคัญของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) เป็นปรัชญาที่อธิบายในเชิงญาณวิทยาเกี่ยวกับการรู้และการได้มาของการรู้  ปรัชญานี้มีหลักการว่าความรู้และความเชื่อจะเกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้ให้ความหมายแก่ประสบการณ์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงประสบการณ์ ความรู้ และความเชื่อของตนเอง และการเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคมซึ่งเกิดขึ้นโดยการสืบเสาะร่วมกัน(วรรณจรีย์  มังสิงห์ : ๒๕๔๑ : ๕-๗) 

 

ความสำคัญของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง

ทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์รวมทั้งโครงสร้างทางปัญญาและความเชื่อที่ใช้ในการแปลความหมายเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ เป็นกระบวนการ ที่ผู้เรียนจะต้องจัดกระทำกับข้อมูล นอกจากกระบวนการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ภายในสมองแล้ว ยังเป็นกระบวนการทางสังคมด้วย การสร้างความรู้จึงเป็นกระบวนการทั้งด้านสติปัญญาและสังคมควบคู่กันไป  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีนี้จะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการสร้างความรู้  เป้าหมายของการสอนจะเปลี่ยนจาก

การถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้รับสาระความรู้ที่แน่นอนตายตัวไปสู่การสาธิตกระบวนการแปลและสร้างความหมายที่หลากหลายผู้เรียนจะต้องเป็นผู้จัดกระทำกับข้อมูลหรือประสบการณ์ต่างๆ และจะต้องสร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นด้วยตนเอง โดยการให้ผู้เรียนอยู่ในบริบทจริงในการจัดการเรียนการสอนครูจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศทางสังคมจริยธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ได้มีบทบาทในการเรียนรู้อย่างเต็มที่โดยผู้เรียนจะนำตนเอง และควบคุมตนเองในการเรียนรู้ บทบาทของครูจะเป็นผู้ให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้เรียนในการเรียนรู้ ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้ตามทฤษฎีนี้มีลักษณะที่ยืดหยุ่นกันไปในแต่ละบุคคล การประเมินควรใช้วิธีการที่หลากหลาย การวัดผลจะต้องใช้กิจกรรมหรืองานในบริบทจริงด้วย

 

การเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง

                การเรียนที่ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองนั้น ผู้เรียนต้องมีความรู้ที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนและเป็นความรู้ที่มีความหมายสำหรับตนเอง ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ เกิดจากผู้เรียนได้สร้างความรู้ที่มีความหมายเพื่อทำให้ตนเองเกิดความเข้าใจและผู้เรียนเป็นผู้ค้นพบความหมายด้วยการกระทำของตนเอง    มีลักษณะดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

  1. ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง 

ผู้เรียนแต่ละคนจะสร้างความรู้ที่มีความหมายสำหรับ

ตนเองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสมองของแต่ละบุคคล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการทำงานของสมองและประสบการณ์ของตนเอง

   2. การเรียนรู้ของผู้เรียนต้องใช้ความรู้ และประสบการณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเรียนรู้ใหม่จะถูกตีความจากความรู้พื้นฐานและความเข้าใจของผู้เรียน การเรียนรู้จึงต้องใช้พื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิมซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย

   3. การเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคมที่

เกิดจากการที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ผู้เรียนจะถูกกระตุ้นให้รับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองโดยการร่วมมือกันเรียนรู้ และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้คิดและสร้างความรู้ใหม่ ทำให้ผู้เรียนได้พบกับมุมมองที่แตกต่างกัน และได้รับการกระตุ้นให้มีการแสดงถึงการสร้างความรู้ของตนเองซึ่งมีความแตกต่างจากผู้อื่น

บทบาทของครู

                ครูมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และนำความรู้ที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนที่แตกต่างกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ในตัวผู้เรียนเอง ดังนี้ 1) ขั้นนำ  ครูต้องสร้างความสนใจในการเรียนรู้ โดยการนำเสนอถึงจุดมุ่งหมายและอภิปรายร่วมกับผู้เรียนถึงความสำคัญของบทเรียน ครูเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนรู้ และจัดให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม 2) ขั้นสอน  ครูจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถในการสร้างความรู้ โดยการทบทวนความรู้ ที่มีเอกสารประกอบการสอน แผนภาพ อุปกรณ์จริง ให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ในสถานการณ์การเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง 3 ) ขั้นสรุป  ครูควรอภิปรายร่วมกับผู้เรียนและให้ผู้เรียนสรุปความคิดรวบยอดและเนื้อหาที่ได้จากการเรียนรู้ จะเห็นได้ว่า การสอนให้ผู้เรียนสร้างความรู้ตามหลักการสอนนั้น ทำให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้โดยตัวผู้เรียนเอง และข้อควรคำนึงถึงคือ สิ่งที่ครูสอนนั้นต้องมีความหมายและความสำคัญกับผู้เรียน

บทบาทของผู้เรียน

                ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีก็ต่อเมื่อสิ่งที่เรียนรู้นั้นมีความหมายและความสำคัญต่อตนเอง การเรียนรู้จากพื้นฐานความรู้เดิม และประสบการณ์ใหม่ ที่ตรงกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียน จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ พยายามทำความเข้าใจจนสร้างความรู้ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญ คือ 1) ผู้เรียนต้องมีความตั้งใจในการเรียนรู้และมีการเตรียมความพร้อม โดยการศึกษาถึงจุดมุ่งหมายและความสำคัญของบทเรียน 2) ผู้เรียนควรทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องและแสดงออกถึงความรู้ที่มีอยู่เดิม และอภิปรายร่วมกันกับครูเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน 3) ผู้เรียนควรฝึกสรุปความคิดรวบยอดและเนื้อหาที่ได้จากการเรียนรู้ และบันทึกเป็นความรู้ความเข้าใจของตนเอง  เมื่อผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติตามที่ได้กำหนดไว้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองและสามารถสร้างความรู้จากสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย พัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองได้อย่างดี

ความรู้ที่เกิดจากการสร้างความรู้ด้วยตนเอง

                ขอยกตัวอย่างการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง My family ครูสร้างความสนใจโดยการให้เด็กดูภาพคำศัพท์ที่เกี่ยวกับครอบครัว ต่อมาครูพาอ่านออกเสียงคำศัพท์ทีละคำพร้อมทั้งแปลความหมาย ดังนี้(mother , father , daughter , son ,)หลังจากนั้นให้เด็กอ่านเอง เมื่อเด็กอ่านได้แล้วครูให้อ่านคำศัพท์ในหน้าถัดไป พร้อมทั้งแปลความหมายโดยให้เด็กอ่านเอง ดังนี้(grandmother, grandfather, granddaughter , grandson) เมื่อเด็กพบคำศัพท์ที่รู้แล้ว กับคำศัพท์ที่พบใหม่ทำให้เกิดความสนใจที่อยากเรียนรู้ เด็กก็พยายามอ่านออกเสียงและแปลความหมายของคำศัพท์ที่พบ เด็กก็ซักถามกับเพื่อนภายในชั้นเรียน เพราะอยากรู้ว่าอ่านออกเสียงและแปลความหมายถูกต้องหรือไม่ ส่วนครูก็อภิปรายในส่วนที่เด็ก ซึ่งคนที่อ่านและแปลความหมายได้ เพราะมีพื้นฐานความรู้เดิมของคำศัพท์บ้างแล้ว ทำให้เชื่อมโยงความรู้นั้นและใช้การจำคำศัพท์ในการอ่านและแปลความหมายด้วยตนเอง เด็กบอกว่าจำคำศัพท์จากคำว่า grand เมื่อไปผสมกับคำอื่นก็ทำให้ความหมายของคำศัพท์เปลี่ยนไป จากนั้นครูก็ให้เด็กวาดภาพ Family Tree โดยเขียนคำศัพท์ใต้ภาพให้ตรงกับภาพที่เด็กวาด เพื่อสรุปความรู้ความเข้าใจของเด็ก จะเห็นได้ว่าถ้าสิ่งที่เรียนรู้นั้นมีความหมายกับผู้เรียนนั้น เขาจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างดี และเมื่อเกิดประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนก็ทำให้เขาได้พยายามทำความเข้าใจในความรู้นั้น ๆ มากขึ้น...

คำสำคัญ (Tags): #-
หมายเลขบันทึก: 457738เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2011 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท