สว่าง ไชยสงค์


ผญายังไม่ตาย วรรณกรรมท้องถิ่นยังมีลมหายใจอยู่เสมอ สำหรับการบริหารจัดการเพื่อลดความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองชองชุมชน

บทบาทของผญาและวรรณกรรมท้องถิ่นในการช่วยลดความขัดแย้งความคิดทางการเมืองของคนในชุมชน

 

ผญาและวรรณกรรมพื้นบ้านอันเป็นมรดกของวัฒนธรรมศรีโคตรบูร สามารถยืนหยัดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมได้อย่างยาวนาน ภาพสะท้อนของวรรณกรรมพื้นบ้านสำหรับบทบาทวรรณกรรม ที่โดดเด่นที่สุด คือ สินไซ “ หรือ สังข์สินไชย  เป็นวรรณกรรมนิทานพื้นบ้านในแถบวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง  โดยเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมไทย ลาว ได้มีการสืบทอดต่อกันมาและหลอมรวมความเชื่อความศรัทธาเข้ากับพุทธศาสนาทำให้  ตำนานเรื่องเล่า “สินไซ”  กลายเป็นความนิยมในยุคโดยเฉพาะแถบภาคอีสานของไทยได้มีการส่งต่อสู่รูปแบบศิลปกรรมในลักษณะต่าง ๆ  ตามความนิยม  นับแต่การเทศน์สินไซ  หมอลำสินไซ  หนังประโมทัย  ท่าฟ้อนรำ  ท่วงทำนองดนตรี  และภาพกิจกรรมฝาผนัง เป็นต้น วรรณกรรมสินไซในมิติต่างๆสามารถบ่งบอกถึงความเป็นเอกแห่งวรรณกรรมอันเป็นมูนมังของบรรพชน ที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ซึ่งคุณค่าความดี สินไซยังมีชีวิตมีลมหายใจโลดแล่นอยู่ในยุคสมัยของเราในวิถีวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย ในรูปแบบต่างๆ ทั้งอนุรักษ์ ประยุกต์ หรือสร้างใหม่ จากคุณค่าที่ซ่อนแฝงอยู่ใน ความงามจนเทศบาลนครขอนแก่น เห็นความสำคัญของการผลักดันให้เด็กและเยาวชน  สำนึกรักท้องถิ่น  สร้างเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ได้แก่  ซื่อสัตย์กล้าหาญ  กตัญญู  และพอเพียง  ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ตรงกับตัวละครของวรรณกรรมสินไซ  การริเริ่มแนวคิดการสร้างสินไซให้เป็นตัวแทนของเมืองขอนแก่นจึงเกิดขึ้น  เพื่อนำเสนอคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมของตนเองที่มีอยู่ผ่านกระบวนการและกิจกรรมต่างๆ  โดยใช้สินไซเป็นตัวขับเคลื่อน

หากถามว่าทำไมต้องเป็นเรื่อง สินไซ ? คำตอบก็คือ ภาคอีสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-23 อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรของชนชาติลาวแถบลุ่มน้ำโขง  ต่อมาภายหลัง แม้สูญเสียเอกราชให้แก่สยาม แต่วัฒนธรรมทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี ยังคงมีอิทธิพลต่อคนในภาคอีสาน อีกทั้งคนอีสานในหลายพื้นที่ก็สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบางของล้านช้าง สินไซ เปรียบเสมือนมรดกทางวรรณกรรมอันล้ำค่าของชาวล้านช้าง เป็นวรรณกรรมเก่าแก่ซึ่งเดิมเป็นหนังสือเทศน์ แต่งเป็นคำกลอนโดยท้าวปางคำใน พ.ศ. 2192 ต่อมามีการพิมพ์เป็นภาษาไทยและลาวอย่างกว้างขวาง  วรรณกรรมเรื่องนี้นอกจากมีความงดงามทางภาษาแล้ว เนื้อหายังสนุกสนานน่าติดตามด้วยการผจญภัย “หกย่านน้ำ เก้าด่านมหาภัย” ของสินไซ ทั้งยังสอดแทรกเรื่องคุณธรรมหลายอย่าง  คนอีสานส่วนใหญ่เชื่อว่า สินไซเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า โดยเป็นแบบปัญญาสชาดกหรือชาดกนอกนิบาต จึงไม่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

นอกจากนิทานพื้นบ้านแล้ว ผญา เป็นคำที่คนแถบลุ่มน้ำโขงสั่งสอนลูกหลานให้ประพฤติตนอยู่ในฮีตคอง (จารีต- ประเพณี) ไม่ออกนอกลู่นอกทาง คำคมเหล่านี้รู้จักกันทั่วไป ในชื่อ "ผญา" หมายถึง ปัญญา ปรัชญาการพูดผญาเป็นการพูดที่กินใจ ทำให้ผู้ฟังและผู้พูดเกิดสติปัญญา สนุกเพลิดเพลิน ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้เกิด ความรัก ความสมัครสมานสามัคคี ช่วยลดความขัดแย้งทางความคิดของบุคคลผ่านทางคำสอน โดยเฉพาะความคิดทางการเมือง อันเกิดจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งสีแบ่งขั้ว  ดังนั้น ผญา จึงเป็นเหมือนมนต์ขลัง ที่ตรึงจิตใจคนอีสานอยู่มิรู้ลืม แม้ผ่านยุคสมัยมายาวนานก็ตาม

ผญาที่ชักจูงให้ผู้คนเกิดความเข้าใจกันรักกัน สามัคคีกันมากที่สุด คือ ผญาคำสอน เช่น

คันได้กินลาบซิ้นอย่าลืมแจ่วแพวผัก ได้กินพาเงินพาคำอย่าลืมกระเบียนฮ้าง
คันเจ้าได้อยู่ยอดฟ้าผาสาทประดับมุข อย่าได้ลืมเฮียมทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า
คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมชาวนาผู้ขี่ควายคอนกล้า
คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มสัปทน อย่าได้ลืมคนจนผู้แห่นำตีนซ้าง
คนเฮานี้ ต้องเผิ่งอาศัยกัน  คือดังปลาอาศัยน้ำ น้ำกะเผิ่งวังปลา  ปลาอาศัยวังเวิน จึ่งล่องลอย

นาน้ำ ทามอาศัยห้วย งัวควยอาศัยแอก  ตาแฮกอาศัยไก่ต้ม จึงโดนตุ้มจากคอน คือดังคอนอาศัยไม้ นกใส่อาศัยโกน คนกะอาศัยคน เผิ่งกันโดยด้าม  คามอาศัยหม้อ หมอมออาศัยส่อง ฆ้องอาศัยไม้ฆ้อน ตีต้องจึงค่อยดัง 

สามัคคีกันไว้ คือข้าวเหนียวนึ่งใหม่  อย่าได้เพแตกม้าง คือน้ำถืกข้าวเหนียว
              สามัคคีกันไว้ คือฝนแสนห่า  ตกลงมาจากฟ้า ไหลโฮมโห่งอยู่หนอง

ส่วนฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป
ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณได้วางฮีตสิบสองไว้ดังนี้ เดือนอ้าย – บุญเข้ากรรม เดือนยี่ - บุญคูณลาน
เดือนสาม – บุญข้าวจี่ เดือนสี่ – บุญพระเวส เดือนห้า – บุญสงกรานต์ เดือนหก – บุญบั้งไฟ เดือนเจ็ด – บุญซำฮะ เดือนแปด – บุญเข้าพรรษา เดือนเก้า – บุญข้าวประดับดิน เดือนสิบ - บุญข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ด - บุญออกพรรษา เดือนสิบสอง – บุญกฐิน

สำหรับ คองสิบสี่  เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับ        ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ คอง คือคำว่า ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ

ถ้าเรานำนำผญาและวรรณกรรมท้องถิ่นมาสื่อสารระหว่างผู้คนในชุมชนและนำตัวละครในนินทานพื้นบ้านมาสร้างเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนเช่นเทศบาลขอนแก่น เพื่อสร้างสังคมให้สันติสุขน่าจะเป็นนโยบายการปกครองที่ดี นอกจากนี้การนำนิทานพื้นบ้านคำสอนผ่านผญาภาษิต ให้คนในสังคมรักสามัคคีอยู่ร่วมกันอย่างพี่อย่างน้อง เช่นสังคมในอดีตบ้านเมืองคงจะน่าอยู่ไม่น้อย

 

สว่าง ไชยสงค์

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 457642เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2011 03:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีอะไร ก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

คึดฮอดหลาย

ขอความอนุเคราะห์กลอนวันพ่อ แบบแต่งสด กลอดแปด กาพย์ยานี 11 หน่อยนะคะ ขอบพระคุณมากนะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท