ผู้ชนะในสังคมแห่งปัญญา


 

file:       wealth creation (dr.kriengsak)

folder:    SCB mag-issue 2011-03-text for lay out

ผู้ชนะในสังคมแห่งปัญญา

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์

 

                ความคิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

                โลกขับเคลื่อนด้วยพลังความคิด การเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคเกิดจากการที่มนุษย์รู้จักใช้ความคิดปฏิวัติ สังคม

มนุษย์ต้องรู้จักคิดเป็น จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ อย่างชาญฉลาด เหมาะสม จนนำไปสู่ การสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะผู้ที่รู้จักใช้ความคิดจะเป็นผู้นำที่อยู่บนยอดคลื่น และสังคมที่อยู่บน ยอดคลื่นจะเป็นสังคมที่นำหน้าผู้อื่น

                ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์  ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา เจ้าของผลงาน หนังสือชุด “ผู้ชนะ 10 คิด” เปิดเผยถึงการพัฒนาทักษะการคิดเพื่อนำไปสู่สังคมแห่งปัญญาในคลื่นลูกที่ 5* ซึ่ง ใกล้เข้ามาทุกขณะ

คลื่นแห่งปัญญา : ปราชญสังคม

                ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า สังคมในคลื่นลูกที่ 5 เป็นสังคมแห่งสติปัญญา (Wisdom Society) หรือ ปราชญสังคม โดยมีเครื่องมือแห่งยุค คือ นักคิด นักบูรณาการ เป็นยุคของการคิด การบูรณาการความรู้และใช้ ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สังคมใดสามารถพาตนสู่การเป็นปราชญสังคมได้สำเร็จ สังคมนั้นจะ เจริญล้ำหน้ากว่าใครในโลก

                สังคมโลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมแห่งองค์ความรู้ไปสู่สังคมแห่งปัญญา สัญลักษณ์ของ สังคมแห่งองค์ความรู้คือมหาวิทยาลัย ซึ่งจะสังเกตได้ว่าประเทศที่เป็นสังคมแห่งองค์ความรู้จะมีลิขสิทธิ์ทาง ความรู้ สิทธิบัตรทางปัญญามากกว่าประเทศอื่นๆ ผู้ที่มีความรู้จึงเป็นผู้ที่ได้เปรียบและกลายเป็นผู้มีอำนาจ ขณะ ที่สังคมแห่งปัญญาจะเป็นศิลปะการประยุกต์ความคิดใช้กับความรู้อย่างถูกที่ ถูกคน ถูกโอกาส ถูกเวลา จนทำให้เกิด ปัญญา

                “ปัญญาคือความสามารถในการเอาความรู้ (ศาสตร์) มาผสมผสานปฏิสัมพันธ์กับความคิด (ศิลป์) ความคิดเป็นทักษะที่ฝึกกันได้ และเมื่อนำความคิดไปประยุกต์ใส่ความรู้ก็จะเกิดเป็นมิติทางปัญญาต่างๆ เช่น นำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์กับความรู้ด้านดีไซน์ก็จะเกิดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งมีพลังมากมายมหาศาลในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ”

                ศ.ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ความคิดเป็นพื้นฐานที่ลึกที่สุดของความเป็นมนุษย์ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต ประเภทเดียวที่รู้จักใช้ความคิดและนำความคิดไปทำสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ จนเกิดนวัตกรรมขึ้นมา โลกยุคใหม่จึงเป็น โลกที่ต้องใช้ทุนทางความคิด (Thinking Capital) ให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่จุดที่สมบูรณ์เท่าที่เป็นไปได้ กระทั่งนำไปสู่สังคมแห่งอารยะ หรือสังคมแห่งความดี ที่ผู้คนจะสามารถยกมาตรฐานจิตใจ พัฒนา ฝึกฝน ให้กลายเป็นคนที่ คิดอารยะ พูดอารยะ ทำอารยะ ในท้ายที่สุด

จุด “ประกายความคิด” สร้างสรรค์สังคมแห่งอนาคต

เมื่อพลังความคิดเป็นเรื่องของโลกยุคใหม่ แนวทางในการสร้างความเข้มแข็งทางความคิดจึงประกอบ ด้วย 3 ฐาน ได้แก่ ฐานแรกการทำความคิดให้เป็นศาสตร์ - ความรู้หรือองค์ความรู้  ฐานที่สองการทำความคิดให้เป็นศิลป์ - ความคิดที่ประยุกต์อย่างมีศิลปะ และสามฐานการทำความคิดให้มีปัญญา – ศาสตร์ร่วมกับศิลป์ ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะฐานแรก ได้แก่ การทำความคิดให้เป็นศาสตร์ โดยจัดทำหลักสูตรสอนให้คนได้คิดตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง มหาวิทยาลัยเพื่อสร้างคนให้มีทักษะทางความคิดที่ลึกลงไปถึงระดับสัญชาตญาณเข้าไปในตัวตนของบุคคลนั้นๆ การเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาให้สอดรับกันทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย, และการเปลี่ยนบริบท ให้เอื้ออำนวยต่อการเป็นสังคมใช้ความคิด

                “การทำให้คนรุ่นใหม่คิดเป็นจะเป็นกุญแจไขไปสู่โลกยุคใหม่ เพราะหากเราเป็นสังคมที่คิดไม่เป็น เรา จะเป็นฝ่ายตามหลังเขาไปเรื่อยๆ ซึ่งเสียเปรียบในโลกยุคใหม่แน่นอน และการที่จะทำให้คนในประเทศสามารถ คิดเป็นได้นั้นจำเป็นต้องได้รับการเปิดทางและแนะแนวให้มีความสามารถในการคิด ซึ่งผมเคยนำเสนอไว้มี 10 มิติด้วยกัน ได้แก่ คิดเชิงวิพากษ์, คิดเชิงวิเคราะห์, คิดเชิงสังเคราะห์, คิดเชิงเปรียบเทียบ, คิดเชิงมโนทัศน์, คิดเชิงสร้างสรรค์, คิดเชิงประยุกต์, คิดเชิงกลยุทธ์, คิดเชิงบูรณาการ และคิดเชิงอนาคต ถ้าเราฝึกฝนกัน อย่างจริงจังต่อเนื่องในเรื่องเหล่านี้ ก็จะช่วยให้คนมีพลังแห่งความคิดที่แวววาวเหมือนเพชรที่งดงาม เพราะมีสิบเหลี่ยมมุมจรัสเจิดจ้า และมีโอกาสมีความท้าทายใหม่ๆ ให้เราได้คิดอีกหลายมิติ

                ผมพูดเรื่องความคิดทั้งสิบมิตินี้เมื่อ 20 ปีก่อน ขณะเดียวกันผมได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ 20 ปีก่อนเช่นกันว่า โลกจะเคลื่อนไปสู่สังคมแห่งปัญญา ซึ่งขณะนั้นบริบทต่างๆ ยังเป็นเรื่องข้อมูลข่าวสาร เมื่อโลกก้าวเข้าสู่สังคม แห่งปัญญาแล้ว ต่อไปเราจะก้าวสู่คลื่นลูกที่ 6 คือสังคมแห่งอารยะ โดยมี อารยบุคคล ที่มีความดี ความเก่ง และความกล้า เป็นแกนนำในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมให้เคลื่อนไปด้วย ความดี ความงาม ความจริง ทำให้คนในสังคมเป็น อารยชน และมีระดับจิตใจสูงขึ้น”

                ในตอนท้าย ดร.เกรียงศักดิ์ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้กำลังเขียนหนังสือ “สยามอารยะ” จำนวน ทั้งสิ้น 80 บท อย่างมุ่งมั่น โดยหนังสือเล่มดังกล่าวจะแสดงถึงหลักคิดในการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เกิด อารยะ ซึ่งหมายถึงการเจริญเติบโต งอกงามอย่างสมดุล ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งมิติทางด้านวัตถุ ความอยู่ดีกินดี มิติด้านจิตใจ และมิติด้านคุณธรรม เพื่อก้าวไปสู่สังคมแห่งความดีที่ทุกคนฝันร่วมกัน

 

 

 

*ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ จำแนกคลื่นของการเปลี่ยนแปลงโลกในแต่ละยุคไว้ว่า คลื่นลูกที่ 0 คือสังคมเร่ร่อน คลื่นลูกที่ 1 คือสังคมเกษตรกรรม คลื่นลูกที่ 2 คือสังคมอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่ 3 คือสังคมข้อมูลข่าวสาร คลื่นลูกที่ 4 คือสังคมความรู้ คลื่นลูกที่ 5 คือสังคมปัญญา และ คลื่นลูกที่ 6 คือสังคมความดีหรือสังคมอารยะ[1] (Araya Society)

 

____________________________

(quote)

“ความคิดและจิตใจที่ดีงามนำไปสู่สังคมแห่งอารยะ”

 

“เปลี่ยนความคิดชีวิตก็เปลี่ยน”

____________________________

 

(ล้อมกรอบ)

ผู้ชนะ 10 คิด

 

การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

                หมายถึงความตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่เห็นคล้อยตามข้อเสนออย่างง่ายๆ แต่ ตั้งคำถามท้าทายหรือโต้แย้งสมมุติฐานที่อยู่เบื้องหลัง และพยายามเปิดแนวทางความคิดออกสู่ทางต่างๆ ที่แตก ต่างจากข้อเสนอนั้น เพื่อให้สามารถได้คำตอบที่สมเหตุสมผลมากกว่าข้อเสนอเดิม

 

การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)

                เป็นการจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัม พันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น

 

การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking)

                หมายถึงความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่างๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตาม ความประสงค์ที่ต้องการ

 

การคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking)

                หมายถึงการพิจารณาเทียบเคียงความเหมือนและ/หรือความแตกต่างระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ เพื่อให้ เกิดความเข้าใจ สามารถอธิบายเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการคิด การแก้ปัญหา หรืการหาทาง เลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking)

                คือความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้อย่างไม่ขัดแย้ง แล้ว นำมาสร้างเป็นความคิดรวบยอดหรือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ 

 

การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

                คือการขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ สู่ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

 

การคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking)

                หมายถึงความสามารถในการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมไปปรับใช้ประโยชน์ในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดย ยังคงหลักการของสิ่งเดิมไว้

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)

            หมายถึงความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุด ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ เพื่อบรรลุเป้า หมายที่ต้องการ

 

การคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking)

                เป็นความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแกนหลักได้อย่าง เหมาะสม เพื่ออธิบายหรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

การคิดเชิงอนาคต (Futuristic Thinking)

                หมายถึงความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม



[1] สังคมอารยะ หมายถึง การพัฒนาสังคมให้เกิดความเจริญงอกงามอย่างสมดุลและยั่งยืนในทุกด้านทั้งทางด้านวัตถุ จิตใจ และคุณธรรมภายใต้ลักษณะพหุเอกานิยม ที่มีเอกภาพในความแตกต่างหลากหลายคนทุกกลุ่มได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีใครถูกทอดทิ้ง และไม่มีใครยากจนยกเว้นสมัครใจ เพื่อนำสังคมสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 457047เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ความคิดที่ ๕ เป็นความคิดเชิงมโนทัศน์ หรือที่เรียกว่าคิดออกมาเป็นภาพ

เป็นความคิดที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ซึ่ง

แนวคิดทั้ง ๑๐ ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้นานมาก ศ.เกียงศักดิ์ นำมาปรับใช้ นับว่าทันสมัยขึ้น

  • “เปลี่ยนความคิดชีวิตก็เปลี่ยน”  ยากเหมือนกันนะคะ ผอ.  แต่จะพยายามค่ะ

ตามมาขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะท่าน ผอ.

“ความคิดและจิตใจที่ดีงามนำไปสู่สังคมแห่งอารยะ”

เป็นความคาดหวังของคนดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท