เต๋าเต้อจิง บทที่ 67 Version สำหรับใช้เตือนตัวเอง


ได้มีโอกาสฟังคำอธิบายเนื้อหาในคัมภีร์เต๋าเต้อจิง บทที่ 67 จากอาจารย์จ้าวเมี่ยวกว่อ

          เมื่อเช้านี้ (27/8/54) ผมได้ไปร่วมงานอธิษฐานจิตสลายภัยพิบัติฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่จัดโดยมูลนิธิเต้าเต๋อซิ่นซี . . ได้มีโอกาสฟังคำอธิบายเนื้อหาในคัมภีร์เต๋าเต้อจิง บทที่ 67 จากอาจารย์จ้าวเมี่ยวกว่อ จนเกิดแรงบันดาลใจกลับมาอ่านคัมภีร์บทนี้ทั้งที่อยู่ในหนังสือภาษาอังกฤษและภาษาไทยรวมแปดเล่ม จนร้อยเรียงออกมาเป็น Version เพื่อใช้เตือนใจตัวเอง ดังต่อไปนี้

 

                   บทที่ 67 สมบัติล้ำค่าสามสิ่ง

 

คนมักพูดกันว่าคำสอนเรื่องเต๋าเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา

 แต่ทว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่นัก ใหญ่จนดูเหมือนไม่มีอะไร

หากเต๋าไม่ใช่เรื่องธรรมดาก็น่าจะหมดความสำคัญไปนานแล้ว


ข้าพเจ้ามีสมบัติล้ำค่าอยู่สามอย่าง

อย่างแรกคือ ความรักความเมตตา

อย่างที่สองเรียกว่า ความเรียบง่าย ความพอดี

อย่างที่สามคือ ความไม่ต้องการจะเป็นเอกในโลก

 

เพราะมีความเมตตา จึงนำมาซึ่งความกล้าหาญ

เพราะรู้จักความพอดี จึงมีจิตใจโอบอ้อมอารี

เพราะไม่แก่งแย่งชิงดี จึงมีที่ให้ยืนอยู่ข้างหน้า

สามารถเป็นเอกในบรรดาผู้นำได้

  

ผู้ที่ไม่มีความเมตตา แต่อวดกล้า ลองดี

ผู้ที่ไม่มีความเรียบง่าย ใช้จ่ายอย่างไร้คุณค่า

ผู้ที่ต้องการจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำ โดยที่ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน

ชีวิตย่อมดำเนินไปสู่ความวิบัติ

 

เพราะเปี่ยมด้วยเมตตา จึงยากที่จะมีศัตรู

นี่คือกลยุทธ์ในการป้องกันตนที่ดีเยี่ยม

หากฟ้าดินต้องการจะปกป้องใครสักคน

ท่านจะส่งผ่านมากับสิ่งที่เรียกว่าความรัก.

 

ข้อเตือนใจ

 

ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่า ความรัก . . รักโดยที่ไม่มีเงื่อนไข . . รักโดยที่ไม่ต้องการอะไรเป็นการตอบแทน . . เป็นความรักเฉกเช่นเดียวกันกับที่จักรวาลมีให้กับเรา . . ในคัมภีร์บทนี้สิ่งที่ท่านเล่าจื๊อเน้นย้ำมีสามสิ่งด้วยกัน ซึ่งสิ่งแรกที่ท่านกล่าวไว้ก็คือความรักที่เรียกว่ารักเมตตานี้ . . ท่านบอกว่านี่คือคุณสมบัติของฟ้าดิน (ธรรมชาติ) หากเรามีใจรักได้เช่นนี้ เราก็จะเป็นหนึ่งเดียวกันกับจักรวาล

 

สิ่งที่สองที่ท่านพูดถึงเป็นเรื่องของการกินอยู่ที่เรียบง่าย จะเรียกว่าอยู่อย่างพอเพียงก็น่าจะได้ เป็นการอยู่โดยที่ไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นเพราะรักธรรมชาติ จึงฉลาดในการกินการอยู่ ส่วนสิ่งที่สามท่านใช้คำว่าไม่ต้องการจะเป็นเอก (เป็นหนึ่ง) ในโลก พูดง่ายๆ ก็คือไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ทะยานอยากแก่งแย่งชิงดีจนไม่มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ ท่านสอนให้เรารู้จักหยุด รู้จักพอ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านเน้นย้ำว่าผู้นำจำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญสามข้อนี้ จึงจะเป็นผู้นำที่ดี (ผู้นำที่แท้จริง)

 

ยิ่งอ่านคัมภีร์บทนี้หลายครั้งก็ยิ่งเห็นพลังของความรักความเมตตาว่า แท้จริงแล้วเราไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความรัก “เราคือความรัก” ความรักคือธรรมชาติ ความรักเป็นพลังของธรรมชาติ ความรักคือคุณสมบัติของจักรวาล แต่ก่อนผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมท่าน Osho จึงมักพูดว่า ความรักกับความเกลียดไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกัน สิ่งที่ตรงข้ามกับความรักคือความกลัว ตอนนี้พอเห็นลางๆ แล้วว่า ถ้าเรามีรักอย่างเต็มเปี่ยม ความกลัวต่างๆ ที่มีในใจคงจะหายไปเอง คงเป็นเพราะเรามีความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาตินั่นเอง

 

สรุปว่าสิ่งที่พึงจะกระทำให้เป็นนิสัยก็คือ การหมั่นแผ่เมตตา และฝึกใจให้รู้จักการให้อภัย รู้จักสำนึกในบุญคุณของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรายรอบชีวิตเราตั้งแต่เช้าถึงเย็นเป็นประจำทุกวี่ทุกวัน 


หมายเลขบันทึก: 456447เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2011 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เยี่ยมมากค่ะ อาจารย์

อ่านแล้ว ชอบมากจะพยายามทำตาม

ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาเผยแผ่นะคะ

อยากหาเวลาไปฝึกที่ศูนย์ฯ เมืองกาญจน์ค่ะ

ชอบมากค่ะ อธิบายได้แจ่มแจ้ง  อ่านเองก็งั้นๆ ไม่เข้าใจลึกซึ้งเหมือนที่อาจารย์อธิบายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท