การใช้กลยุทธ์คงตัว เพื่อรองรับสถานการณ์ผันแปร


กลยุทธ์คงตัวที่ควรใช้ตอนนี้ จึงต้องจะมีลักษณะของ "การเฝ้ารอและเฝ้ามอง" ด้วย (Wait-and-see strategy) กล่าวคือ มีการจับตามองอย่างระมัดระวัง ไม่ผลีผลามที่จะเติบโต และเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สถานการณ์ด้านธุรกิจของบ้านเราขณะนี้ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะแง่มุมทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ ยิ่งก่อให้เกิดกระแสของความผันแปรมากขึ้น ทั้งในเรื่องวิกฤตพลังงานน้ำมัน ในขณะนี้ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและขนส่งสินค้าพุ่งพรวดพราด ต่อเนื่องมาด้วยราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ราคาข้าวของโดยเฉพาะในหมวดอาหาร ที่ถือเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญของประชาชน พร้อมใจกันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตามมาเป็นลำดับ
       
        จนทางการต้องประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดดันมิให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมากเกินไปด้วย ยิ่งส่งผลทางลบต่อทั้งการลงทุนจากภาคเอกชนและทำให้กำลังซื้อของประชาชนหดหายไปด้วย ภาพของตลาดโดยรวมจึงดูขมุกขมัวเต็มที
       
        นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐที่เคยเป็นพระเอกขี่ม้าขาวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เริ่มหมดแรง จากความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายและรัฐบาล รวมถึงการลงทุนจากภาครัฐโดนโรคเลื่อน โดยเฉพาะเมกะโปรเจคต่างๆ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกด้วย
       
        ดังนั้นในสถานการณ์ผันแปรเช่นนี้ จึงมีคำถามว่าควรมีกลยุทธ์ในลักษณะใด จึงจะสามารถรองรับได้อย่างดี ซึ่งการเลือกใช้กลยุทธ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ควรต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากมีภาพลวงตาเกิดขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรุนแรงในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเท่าที่ได้สัมผัสในการวางแผนกับบริษัทต่างๆ ปรากฏว่าน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการเข้าใจผิดกันขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานั้น มีการเติบโตของดีมานด์อย่างรวดเร็ว
       
       จนกระทั่งเกินกำลังการผลิตของกิจการมากถึงสามหรือสี่เท่า จนผู้บริหารมีแนวคิดที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านกำลังคน เครื่องจักรอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยจะมีการกู้เงินมาลงทุนเพิ่มเติมขนานใหญ่ให้รับกับดีมานด์ของตลาด ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงอย่างมาก
       
        เนื่องจากดีมานด์ในอนาคตของธุรกิจนี้ มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงอย่างรวดเร็ว และอาจจะเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายตามมา หากกิจการยังคงมีแนวคิดที่จะขยายตัวในลักษณะนี้ อาจเกิดความเสี่ยงที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างและลดขนาดกิจการ ขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ และลดคนงานจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลทางลบต่อกิจการอย่างรุนแรง ดังนั้นการใช้กลยุทธ์การเติบโตในลักษณะดังกล่าวช่วงความผันแปรนี้ จึงนับว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่ง
       
        สถานการณ์ดังกล่าว จึงควรมีการใช้กลยุทธ์คงตัว (Stability) ซึ่งหมายถึง การที่กิจการจะพยายามรักษาระดับขอบเขตธุรกิจของตนไว้ ไม่ทำการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อเน้นสร้างความแข็งแกร่งของกิจการ โดยมักจะมีการเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเท่านั้น อาทิ บริษัทจะมีการกำหนดการเพิ่มของยอดขายให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของยอดขายทั้งอุตสาหกรรม เพื่อที่จะสามารถอยู่ในตำแหน่งทางการแข่งขันเดิมและส่วนครองตลาดเท่าเดิมในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ เนื่องจากต้องการประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงรวมถึงการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นเสียก่อนให้เกิดความแน่ใจ จึงค่อยมีการขยายตัวเพิ่มเติมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
       
        โดยกลยุทธ์คงตัวที่ควรใช้ตอนนี้ จึงต้องจะมีลักษณะของ "การเฝ้ารอและเฝ้ามอง" ด้วย (Wait-and-see strategy) กล่าวคือ มีการจับตามองอย่างระมัดระวัง ไม่ผลีผลามที่จะเติบโต และเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น ในกรณีของธุรกิจการท่องเที่ยวทางภาคใต้ของไทย ที่ได้รับผลกระทบทางลบอย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่ความไม่สงบทางการเมือง การก่อการร้าย โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงวิกฤตน้ำมัน ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนอย่างมาก การพลิกฟื้นและขยายการลงทุนอีกครั้ง คงต้องเป็นที่ระมัดระวังอย่างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวหลายราย เน้นการเฝ้ารอดูและประเมินผลกระทบในสถานการณ์ดังกล่าว ว่าจะมีผลในระยะสั้นอย่างไร และผลกระทบดังกล่าวจะยาวนานสักเท่าใด จึงจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวกลับมาได้
       
        นั่นคือกิจการเหล่านี้มีการใช้กลยุทธ์คงตัวเพื่อที่จะลงทุนเตรียมความพร้อมในทรัพย์สินเท่าที่จำเป็นในช่วงแรก เพื่อไม่ให้เสียส่วนครองตลาดไปเท่านั้น เมื่อเห็นแนวโน้มที่ดีเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด จึงค่อยมีการใช้การเติบโตเพื่อจับโอกาสที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมต่อไป
       
        จากความหมายข้างต้น การใช้กลยุทธ์คงตัวในลักษณะ Wait and See จึงมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องการให้ค่อยๆเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และสามารถปรับตัวและฉกฉวยโอกาสได้อย่างทันท่วงที หากได้รับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเมืองรอบใหม่ เช่น ราคาน้ำมันเริ่มขยับตัวลดลง อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเริ่มถึงจุดสูงสุดและกำลังจะไต่ระดับลงมา ซึ่งคงจะต้องเริ่มการวางแผนขยายธุรกิจตั้งแต่เริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าว เพราะจะทำให้กิจการสามารถเข้าไปเป็นผู้เล่นรายแรกๆ เมื่อทุกอย่างเริ่มกลับมาดีกว่าเดิม ได้รวดเร็วกว่าคู่แข่งขันรายอื่นๆ
       
        อย่างไรก็ตาม ความหมายของกลยุทธ์คงตัวนี้ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มิใช่อยู่เฉยๆ แต่ต้องมีการเติบโตเช่นกัน เนื่องจากหากหยุดการเติบโตโดยสิ้นเชิง จะเสมือนกับเป็นการหดตัวโดยปริยายนั่นเอง เพราะคู่แข่งทั้งอุตสาหกรรมยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่ลักษณะของการเติบโตแบบแนวคิดของการคงตัว อาจไม่ใช้การลงทุนเพิ่มด้วยตนเองทั้งหมด เนื่องจากหากสภาวการณ์มีการผันแปร อาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อกิจการได้
       
        ดังนั้น จึงมักใช้การเติบโตแบบภายนอกควบคู่กันไปด้วย เช่น การเติบโตโดยพันธมิตรธุรกิจ ที่มีมากกว่าหนึ่งกิจการเข้ามาร่วมมือกันในการดำเนินงานขยายธุรกิจดังกล่าว ถือเป็นการร่วมลงทุนและร่วมกันแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หรือที่กำลังนิยมมากตอนนี้ก็คือ การโตโดยใช้เอาท์ซอร์สซิ่ง หรือจัดจ้างบุคคลภายนอกให้ดำเนินกิจกรรมบางประเภทให้ กิจการจึงไม่ต้องลงทุนด้านทรัพย์สินทั้งหมดด้วยตนเอง สามารถใช้ทรัพยากรของกิจการอื่นๆที่รับจ้างผลิตได้ ทำให้เมื่อเกิดความผันแปรขึ้นในความต้องการของตลาด กิจการก็ไม่ต้องตัดจำหน่ายทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองทิ้ง เนื่องจากเป็นการเติบโตโดยใช้ทรัพย์สินของกิจการอื่นนั่นเอง
       
        หากธุรกิจของเรากำลังเผชิญกับความผันแปรสูง คงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นสองเท่า ในการกำหนดทิศทางของกิจการเราต่อไปในอนาคต และคงไม่สามารถจะวางทิศทางไว้ยาวไกลมากนักได้ครับ การเสริมสร้างความมั่นคงให้กับกิจการและเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด น่าจะสอดคล้องสภาพแวดล้อมดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
หมายเลขบันทึก: 45636เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท