AAR ตลาดนัดความรู้อบต.ภาคกลาง


เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา น้ำ ได้ไปร่วมสังเกตการการสัมมนาเครือข่ายการจัดการความรู้องค์การบริหารส่วนตำบล (ภาคกลาง)ที่ โรงแรมวังยางรีสอร์ท จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีอบต.จาก 17  แห่ง ประกอบด้วย อบต.หนองสาหร่าย อบต.หนองหญ้าไซ อบต.ดอนปรู อบต.วัดดาว อบต.บ้านแหลม อบต.ชัยฤทธิ์ อบต.จรเข้ร้อง อบต.หัวไผ่ อบต.ไม้ดัดเชิงกลัด  อบต.ทับยา อบต.อุทัยเก่า อบต.ประดู่ยืน อบต.ทุ่งพง อบต.ห้วยแห้ง อบต.ทุ่งนางาม อบต.คุ้งสำเภา อบต.วัดโคก อบต.ศิลาดาน อบต.ท่าฉนวน อบต.ไร่พัฒนา อบต.อู่ตะเภา อบต.คุ้งสำเภา อบต.น้ำสาคร) ทั้งหมดนี้มาจาก 5 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง ชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อุทัยธานี และมาจากทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น นายกฯ รองนายก. เลขาฯ ปลัด สมาชิก ประธานสภามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ลืมบอกไปว่างานนี้จัดขึ้นโดย "โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ท้องถิ่น" ภายใต้การสนับสนุนของ สคส. ......... งานนี้มีอบต.เข้าร่วม 100 กว่าคน


  ตอนเช้าอ.เสน่ห์ จามริก ได้มาพูดถึงเรื่องรัฐบาลท้องถิ่นกับสิทธิชุมชน ให้อบต.ฟัง (บรรยากาศเป็นอย่างไรไม่ขอเอ่ยถึง) ใช้เวลาในช่วงนี้กระทั่งถึงเที่ยงวันก็ไปรับประทานอาหาร


  หลังจากนั้นในช่วงบ่ายก็จะแบ่งกลุ่มแบกเปลี่ยนเรียนรู้โดยแบ่งกลุ่มตามตำแหน่ง กลุ่มนายก กลุ่มรองนายกฯ กลุ่มประธานสภา กลุ่มปลัด กลุ่มสมาชิกอบต. กลุ่มเลขาฯ แต่น่าเสียดายที่อบต.หลายแห่งหายไปเกือบครึ่ง ในช่วงบ่ายนี้ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนงานเดิมไว้


  ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีคุณอำนวย และคุณบันทึก ให้ โดยมีคนจาก โครงการ และจากเสมสิขาลัย พร้อมกับคุณอุรพิน สคส. และนักจัดการความรู้ท้องถิ่นอีก 9 คน มาเป็นคุณอำนวย และคุณบันทึกให้กับกลุ่ม  ช่วงแลกเปลี่ยนนี้ทางโครงการฯ ให้เวลาแลกเปลี่ยนกันนานถึง 2 ชั่วโมง โดยมีเกณฑ์ว่า รอบแรกให้เขียนหัวเรื่องที่ตนจะเขียนลงในกระดาษไว้ก่อนเพื่อให้เรื่องเล่ามีประเด็น และให้โอกาสผู้เล่าได้ใช้สมาธินึกถึงความสำเร็จ จากนั้นก็ให้เล่าถึงความสำเร็จ และความภาคภูมิใจกัน


  พอเล่าครบทั้งกลุ่มแล้ว ก็ให้สมาชิกในกลุ่มเลือกเรื่องเล่าที่น่าสนใจที่สุด เพื่อลงลึกถึงปัจจัยความสำเร็จ ลึกกระทั่งเห็นว่ามีปัจจัยอะไรบ้างทั้งภายในและภายนอก ที่ช่วยให้งานในตำแหน่งประสบความสำเร็จ เกิดเป็นความภาคภูมิใจได้


 เมื่อทุกกลุ่มพร้อมแล้ว ก็ออกมานำเสนอหน้าห้องประชุมโดยแล้วแต่ว่ากลุ่มไหนจะให้ใครเป็นผู้นำเสนอ บางกลุ่มก็ให้คุณบันทึก หรือคุณอำนวยเป็นผู้สรุป ,บางกลุ่มเจ้าของเรื่องเล่าก็เป็นผู้เล่าเอง
  เช่นเรื่องเล่าของคุณนายเรืองศักดิ์ นี้เอง เป็นกรณีศึกษาที่กลุ่ม นายกอบต.จากหลายๆ แห่งอยากทราบถึงเส้นทางแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนในชุมชน


  นายเรืองศักดิ์ นายกอบต.คุ้งสำเภา จ.ชัยนาท จึงเล่าว่า ก่อนจะทำเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนนั้น ตนคิดมาตลอดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้และไม่มีหนี้สิน ตอนแรกก็คิดถึงเครื่องจักรสานที่ชุมชนคุ้มสำเภามีฐานความรู้เรื่องการจักรสานเป็นทุนเดิม จึงสนับสนุนให้กลุ่มแม่บ้านทดลองทำตะกร้าหวาย และเครื่องใช้ทั่วๆ ไป  โดยมีการพยายามปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบให้ดีขึ้น กระทั่งสินค้าเป็นที่พอใจของลูกค้า มีการสั่งซื้อเข้ามามาก และส่งออกขายต่างประเทศ  แต่อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังเดินหน้าพัฒนากลุ่มแม่บ้านต่อไปอีก โดยพยายามหากิจกรรมเสริมเข้าไป เช่นการทำนกกระฮัง ซึ่งถือเป็นนกประจำตำบล ซึ่งจนปัจจุบันเป็นสินค้าโอท็อปส่งขายไปยังประเทศแคนนาดา และทำให้กลุ่มจักรสานก็เป็นแหล่งดูงานของภายนอก


  นอกจากนี้ยังขยายงานไปสู่กลุ่มแปรรูปผลไม้ เนื่องจาก จ.ชัยนาท มีน้ำมาก มีสวนมาก แต่เกษตรกรต้องเหมารถไปส่งของไกลถึงตลาดสี่มุมเมืองทำให้ต้นทุนในการทำเกษตรสูงขึ้น จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรไม่ต้องไปส่งไกลและสามารถผลิตเองขายเองได้ จึงคิดเรื่องแปรรูปผลไม้ เช่น มะยมหยี มะม่วง ฯลฯ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับเป็นสินค้าโอท็อปอีกเช่นกัน 


  สำหรับปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพใน ต.คุ้งสำเภานั้น เพราะว่าตนพยายามสร้างความเป็นกันเองกับชาวบ้าน สร้างความโปร่งใส และตรวจสอบได้ให้เกิดขึ้นในอบต. ให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของเขาด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จอยู่ที่การให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก ส่วนราชการ ไม่ว่าจะประชาสัมพันธ์ หรือเปิดงานอะไร ทั้งหัวหน้าส่วนราชการรวมถึงผู้ว่าฯ ก็จะให้ความสำคัญและมาร่วมงานทุกครั้ง นอกจากนี้ ก็ยังจัดเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีต่อส่วนราชการ และอบต. ทำให้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน และเป็นกำลังใจในการพัฒนาอาชีพของเขาเอง


  นอกจากนี้ นายเรื่องศักดิ์ ยังมีลักษณะเป็นผู้ประสานงานที่ดี สามารถเป็นผู้เชื่อมประสานความร่วมมือได้ทั้งแนวราบ คือระดับ อบต.และชุมชน และแนวดิ่ง ตั้งแต่ผู้ว่าจนถึงส่วนราชการระดับล่าง โดยไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับใคร ทำให้การทำงานราบรื่น 


  เมื่อทุกกลุ่มนำเสนอครบแล้ว คุณทรงพลก็กล่าวปิดงานด้วยการสรุปกิจกรรมทั้งหมดว่า จริงๆ แล้วอบต.ทุกท่านต่างก็มีความรู้อยู่ในตัวเยอะเลย แต่ไม่มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเท่านั้นเอง และครั้งนี้เป็นเพียงเชื้อไฟเล็กๆ ที่จะลุกลามไปทั่วประเทศ ซึ่งหากมีกระบวนการดีๆ ก็จะสกัดความรู้ออกมาได้มากมาย ซึ่งล้วนเป็นความรู้ที่ผ่านการปฏิบัติจริงพิสูจน์แล้ว ตนเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้จะสามารถทำให้อบต. มีอาวุธมีเครื่องมือ ในการทำงานที่ท่านรับบทบาทได้อย่างเต็มความสามารรถแต่ต้องใช้เวลามิใช่เพียงครั้ง สองครั้ง  แต่จะพบว่าเมื่อถอดความรู้ไปเรื่อยๆ ก็เกือบจะได้คู่มือในการทำงานของแต่ละตำแหน่ง และเป็นคู่มือที่ถอดมาจากประสบการณ์จริง มิใช่คู่มือที่ถอดมาจากทฤษฎี

สุดท้ายโครงการฯ ได้แจกแบบสอบถามให้เขียนว่าที่มาได้ความรู้อะไรบ้าง และอยากให้จัดต่อหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ต้องรอให้ทางโครงการฯ สรุปแบบสอบถามมาให้ดูค่ะ

น้ำขอจบไว้ตรงนี้ก่อนน่ะค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4557เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2005 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท