ไร่เลื่อนลอย : ตราบาปของคนกะเหรี่ยง ภาค ๒


"วันนี้แม้ผืนป่าแก่งกระจานจะกลับมาเงียบสงบไร้เสียงเฮลิคอปเตอร์ดังเช่นวันวาน หากแต่เสียงเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมทางสังคมของชาวกะเหรี่ยง กำลังดังกึกก้องในผืนป่าแก่งกระจานและกำลังจะดังทั่วแผ่นดินไทย"

"ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก แต่ว่าเมื่อเราขีดเส้นไว้ประชาชนก็อยู่ในนั้นแล้ว  เขาจะเอากฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่ยังอยู่ในป่าที่พึ่งสงวนทีหลัง โดยขีดเส้นบนแผ่นกระดาษ  ก็ดูชอบกลอยู่  แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนทีอยู่ในนั้นก็กลายเป็นฝ่าฝืนกฎหมายไป ถ้าดูในทางกฎหมายเข้าก็ฝ่าฝืน เพราะตราเป็นกฎหมายอันชอบธรรม แต่ถ้าดูตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าบุคคลผู้อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน  เขามีสิทธิในความเป็นมนุษย์หมายความว่า ทางราชการบุกรุกบุคคลไม่ใช่บุคคลรุกบ้านเมือง"

 

บางตอนจากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันรพี ณ พระตำหนักจิตรลดา  เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๖

ย้อนไปเมื่อตอนเขียนเรื่อง “ไร่เลื่อนลอย  :  ตราบาปของคนกะเหรี่ยง”  ผู้เขียนได้เกริ่นไว้ว่าเขียนเรื่องนี้เพียงเพื่อต่อยอดบันทึก “กะเหรี่ยงกลิ้งหิน” ของ คุณอขณิช ที่เขียนชื่นชมกะเหรี่ยงสองพ่อลูกที่บังเอิญไปพบเข้าขณะทั้งสองกำลังกลิ้งหินที่หล่นมากองกับพื้นถนน ช่วงฝนตกหนักที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

ครั้งนั้นผู้เขียนมิได้ให้เหตุผลว่าแท้จริงผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่าน เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างของสังคม ว่าในขณะที่คนๆ หนึ่งมองคนกลุ่มหนึ่งด้วยความชื่นชม และปราบปลื้ม กับคนอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองคนกลุ่มหนึ่งด้วยความเคียดแค้นชิงชัง ใช้กำลังขับไล่ ตราหน้าเป็นผู้ทำลายป่า ทั้งที่ความจริงแล้วหากมองให้ลึกถึงต้นสายปลายเหตุภาพที่เราเห็นอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้

 

“ไร่เลื่อนลอย  :  ตราบาปของคนกะเหรี่ยง” ภาค ๒ แม้จะเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจของผู้เขียนเพราะต้องการเขียนภาคแรกเพียงให้สังคมได้สะท้อนมุมมองที่แตกต่างของสังคมไทย ประกอบกับไม่ต้องการตอกย้ำเหตุการณ์ที่จบลงแล้วให้กลับฟื้นขึ้นมาอีก  เพราะผู้เขียนเชื่อว่าโศกนาฏกรรมครั้งนั้น มิได้สร้างความสุขกายสบายใจให้กับกลุ่มใด  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร  ญาติผู้สูญเสีย หรือแม้แต่ฝากฝั่งกะเหรี่ยงผู้ถูกรุกราน และผลักดันให้ออกจากผืนป่าอันเป็นที่อยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม

 

จวบจนเมื่อมีเพื่อนๆ พี่น้อง ชาวกะเหรี่ยงหลายคนเรียกร้องให้เขียนต่อ ภาค ๒ พร้อมกับมี forward mail เกี่ยวกับภาพ และที่มาที่ไปของเรื่อง อีกทั้งยัง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ตอนหนึ่งด้วย  ผู้เขียนจึงตัดสินใจเขียนต่อ “ไร่เลื่อนลอย  :  ตราบาปของคนกะเหรี่ยง” ภาค ๒ เพื่ออย่างน้อยจะช่วยสื่อให้สังคมรับรู้ความเป็นมาและเป็นไปอีกด้านหนึ่งของเหตุการณ์ในช่วงนั้น และประกาศให้โลกรู้ว่าแท้จริงแล้ว กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่อยู่ป่าได้อย่างลงตัวที่สุด

 

เมื่อคิดเช่นนั้นผู้เขียนจึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากโลกออนไลน์ และจากคำบอกเล่าของผู้รู้หลายท่านที่นำมาโพสน์ ใน Facebook  หรือแม้กระทั่งที่ forward mail จากเพื่อนบางท่านจึงทำให้พอลำดับความได้ว่า ชาวกะเหรี่ยงบริเวณป่าแก่งกระจานเป็นชาวไทยภูเขาที่ยึดผืนป่าแถบนี้อยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมเป็นเวลานานนับหลายร้อยปี  

 

หลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่ระบุชัดเจนว่ามีกะเหรี่ยงอาศัยในพื้นที่นี้จริง เกิดขึ้นในสมัยราชการที่ ๕ กรณีมีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาสำรวจ และได้บันทึกเป็นรูปวาดชาวกะเหรี่ยงสมัยนั้นไว้ ซึ่งภาพวาดดังกล่าวยังปรากฏถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีนาถก็เคยเสด็จมา ณ ที่นี้เช่นกัน นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๓ ยังมีการสำรวจชาวเขาเป็นครั้งแรก โดยคนกะเหรี่ยงสมัยนั้นจะได้รับเหรียญชาวเขาทำด้วยโลหะสีเงิน ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๙ ด้านหลังพิมพ์ คำว่า “เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา” 

 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับประวัติกะเหรี่ยงในแถบนี้อีกมากมาย  ซึ่งถูกนำมาเรียบเรียงบันทึกไว้ใน Facebook  ของอาจารย์วุฒิ  บุญเลิศ  หนึ่งในกะเหรี่ยงเมืองเพชรบุรี โดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเสียสละต่อสู้กับชาวพม่า จนเป็นตำนานถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแก่งกระจาน ฯ รวมไปถึงความยงใยระหว่างกะเหรี่ยงกับ ๔ วีรบุรุษ ตชด. ที่พลัดหลงในป่าบางกลอยเป็นเวลา ๓๕ วัน  ในสมัยปราบ ผกค. 

 

ปฏิบัติการขับไล่กะเหรี่ยงในพื้นที่ อำเภอแก่งกระจาน เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี บังคับให้ชาวกะเหรี่ยงออกจากบ้านบางกลอยบน และบ้านพุระกำ (ใจแผ่นดิน) จำนวน ๕๗ ครอบครัว ๓๙๑ คน มาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง หมู่ที่ ๑ และบ้านโป่งลึก หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

 

จากนั้นก็มีการผลักดันและขับไล่มาเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันและขับไล่ชาวกะเหรี่ยงที่บริเวณใจแผ่นดิน-พุระกำและบางกลอยบนอีก ๑๒ จุด เมื่อ ๒๕ - ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓  การเผาบ้าน ยุ้งข้าว และสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยง เมื่อ ๑๒-๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ และ ๑๙ - ๒๓ สิงหาคม ในปีเดียวกัน

 

ปฏิบัติการกวาดล้าง และขับไล่ชาวกะเหรี่ยงกลับมาดำเนินการอีกครั้งในปี ๕๔ เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานเผาและทำลายบ้าน ยุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยง จำนวน ๙๘ หลัง ยึดทรัพย์สินชาวกะเหรี่ยง อาทิ เคียว ขวานเงิน สร้อยลูกปัด กำไลข้อมือ บริเวณพุระกำ (ใจแผ่นดิน) และบางกลอยบน และทวีความถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเดือน พฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม และจบลงที่โศกนาฏกรรม การสูญเสียครั้งใหญ่ของกองทัพบก เมื่อเฮลิคอปเตอร์ ตก ๓ ลำ ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน และนำมาซึ่งการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งนายสิบ และนายทหาร จำนวน ๑๖ นาย และนักข่าวช่อง ๕ อีก ๑ คน

 

วันนี้แม้ผืนป่าแก่งกระจานจะกลับมาเงียบสงบไร้เสียเฮลิคอปเตอร์ดังเช่นวันวาน   หากแต่เสียงเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมทางสังคมของชาวกะเหรี่ยง  กำลังดังกึกก้องผืนป่าแก่งกระจาน และกำลังจะดังทั่วแผ่นดินไทย  เมื่อหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ พาดหัวหน้าหนึ่งว่า “โวยไล่โหดเผาบ้านกะเหรี่ยงจี้สอบแก่งกระจาน” ขณะที่เนื้อข่าวด้านในบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของปฏิบัติการขับไล่ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ฯ จวบจนเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมของคนกะเหรี่ยงผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พร้อมกับสรุปในตอนท้าย "ขณะนี้สภาทนายความกำลังดำเนินการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ ก่อนดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดต่อไป"

 

อ่านที่มา และเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้อง

http://www.facebook.com/media/set/?set=a.171897696198592.64625.100001350892849

http://prachatai.com/journal/2011/08/36400

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNVEU0TURnMU5BPT0=&sectionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBeE1TMHdPQzB4T0E9PQ==

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNakU1TURnMU5BPT0=&sectionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBeE1TMHdPQzB4T1E9PQ==

ไร่เลื่อนลอย : ตราบาปของคนกะเหรี่ยง

โศกนาฏกรรมแก่งกระจาน : กังขานัก อุบัติเหตุ..ฤา..เหตุใด...?

 

หมายเลขบันทึก: 454956เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

เขียนเรื่องราวต่อเพียงข้องขัด
เกิดอึดอัดในใจเป็นหนักหนา
จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานอยู่กันมา
อาศัยอยู่อาศัยกินไพรพนา...

มีเพียงข้าวแลเกลือแค่น้อยนิด
ยันชีวิตให้อยู่ได้สุขหรรษา
ดำรงชีพพอเพียงเลี้ยงชีวา
มิเคยราวีถิ่นฐานผู้ใด...

ใยต้องเผายุ้งฉางบ้านเรือนเล่า
คิดแล้วเศร้าท่านทำเราน้ำตาไหล
ทั้งปู่ย่าลูกเล็กเด็กหญิงมากมาย
ใจสลายเมื่อรัฐสั่งจุดเผาไฟ


แม้จะแพ้วถางป่าไม้ไปบ้าง
ก็มิร้างลาไกลหนีไปไหน
เพียงหมุนเวียนให้ดินฟื้นคืนชีพไว
เหตุไฉนมาไล่ล่าราวีเรา...


วอนพวกอำนาจมากคนของรัฐ
อย่าขจัดพวกเราคนป่าเขา
เราอยู่ป่ารักษ์ไม้แม้หนักเบา
มิเคยเผาไล่ล่าสัตว์ใดใด....

ในขณะที่คนๆ หนึ่งมองคนกลุ่มหนึ่งด้วยความชื่นชม และปราบปลื้ม กับคนอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองคนกลุ่มหนึ่งด้วยความเคียดแค้นชิงชัง ใช้กำลังขับไล่ ตราหน้าเป็นผู้ทำลายป่า 

คนที่จิตใจรุ่มร้อน มักมองภาพด้วยสัญชาตญาณเอาตัวรอด
จึงมองแบบเบลอๆ เหมารวม 
ต้องให้เวลาพวกเขาสักนิดคะ ทำความเข้าใจด้วยสันติวิธีเช่นนี้ ชื่นชมคะ

 

สวัสดีครับ คุณหมอ

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจ...คงได้แต่วิธีสันตินี่แหละครับ...ที่จะเป่าประกาศให้ชาวโลกรู้

สวัสดีครับ คุณอักขณิช ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องครับ

  • น่าเห็นใจครับ เคยได้ยินคำแดกดันเสียดสีจากเพื่อนครูคนหนึ่งว่า บ้านเมืองเราคนที่มีความผิดติดคุก ติดตาราง มีเฉพาะคนจนกับคนที่ไม่มีพรรคพวกเส้นสายเท่านั้น เมื่อไตร่ตรองดูตามคำพูดแล้ว ก็น่าจะมีส่วนจริงเยอะนะครับ 
  • ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่ต้องช่วยกันขบคิดต่อ และขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมเยือนครับ

ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก แต่ว่าเมื่อเราขีดเส้นไว้ประชาชนก็อยู่ในนั้นแล้ว  เขาจะเอากฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่ยังอยู่ในป่าที่พึ่งสงวนทีหลัง โดยขีดเส้นบนแผ่นกระดาษ  ก็ดูชอบกลอยู่  แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนทีอยู่ในนั้นก็กลายเป็นฝ่าฝืนกฎหมายไป ถ้าดูในทางกฎหมายเข้าก็ฝ่าฝืน เพราะตราเป็นกฎหมายอันชอบธรรม แต่ถ้าดูตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าบุคคลผู้อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน  เขามีสิทธิในความเป็นมนุษย์หมายความว่า ทางราชการบุกรุกบุคคลไม่ใช่บุคคลรุกบ้านเมือง"

 

ไม่มีคำถามและคำตอบ

พระราชดำรัสนี้ชัดเจนอยู่แล้ว

 

สวัสดีครับ อาจารย์ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน และร่วมให้กำลังใจ อีกทั้งยังช่วยยืนยันความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่จริง ให้ดูมีน้ำหนักมากขึ้นครับ

สวัสดีครับคุณพี่กระติก~natachoei ที่ ~natadee

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจ ความชัดเจนมีอยู่แค่นั้นจริงๆ ครับ สั้น กระทัดรัด เข้าใจง่าย แต่บางทีคนบางคนก็ไม่เข้าใจครับ... 

สวัสดีครับ คุณครูnoktalay ขอบคุณมากครับที่แวะมาให้กำลังใจด้วยดอกไม้ (แม้จะไม่ทิ้งร่องรอยอื่นไว้แต่ก็ชื่นใจครับ)

สวัสดีค่ะ

อ่านและเห็นใจมาก

ชาวกระเหรี่ยงไม่ทำลายป่าค่ะ

เพราะเขาอาศัยป่า

 แล้วเหตุใดเล่าที่ต้องขับไล่เขา

แต่ผู้ทำลายป่ากลับลอยนวล....

สวัสดีครับ คุณครูลำดวน 

ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาให้กำลังใจ ไว้จะไปเยี่ยมเยียนบ่อยๆ ครับ

ปล. แต่ชั่วนี้ที่ผมอยู่ ฝนตกบ่อยสัญญาณเน็ตไม่ค่อยดีเป็นอุปสรรคมากๆ ครับ 

  • สวัสดีค่ะคุณพาดีซอ
  • วันที่ ๕ - ๙  กันยายน  ๒๕๕๔  มีโอกาสไปได้ไปเชียงใหม่ค่ะ
  • เก็บภาพมาฝากค่ะ  พระราชวังบางปะอิน  พระนครศรีอยุธยา

สวัสดีครับ บังอร แก้ววิไล

  • ขอบคุณภาพสวยๆ ที่นำมาฝากครับ
  • ดีใจครับที่จะมาเยี่ยมเยียนเมืองเชียงใหม่ หากมีโอกาสแวะมาถึงฝาง ช่วยแจ้งบอกบ้างนะครับ

*** มาติดตามบันทึกน่าอ่านของคนดี

*** ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูกิติยา เตชะวรรณวุฒิ

โห..มาเสียดึกเลย แต่ก็ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจ ไว้ผมจะแวะไปเยี่ยมนะครับ

สันติวิธี..ไม่มีแล้วหรือ..???

สวัสดีค่ะคุณพาดีซอ

อ่านแล้ว รู้สึกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึก เป็นกำลังใจให้ค่ะ

สวัสดีครับ แม่ครู ป.1

ขอบคุณครับที่ให้กำลังใจ แหมผมว่านะเพียงรัฐยึดพระราชดำรัสฯ แล้วหันมาใช้หลักรัฐศาสตร์ แทนที่จะอาศัยหลักนิติ... เป็นใบเบิกทาง ทำลายล้าง ชาวบ้านเขาก็พร้อมจะสันติทุกวินาทีแหละครับ...

สุดแต่ผู้มีอำนาจจะเลือกพิจารณา

 

สวัสดีครับ คุณพี่ถาวร ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจ 

ครับน่าเห็นใจอย่างคุณพี่ถาวร ว่า ผมเลยถือโอกาสชี้แจงเพิ่มเติมนิดกับหลายท่านที่มาอ่านเจอครับว่า "ที่เขียนไม่ใช่ไม่ยอมรับนะครับว่าการทำไร่หมุนเวียน (ที่คนเข้าใจว่าเป็นไร่เลื่อนลอย...) นั้นอาจจะตัดต้นไม้ใหญ่เล็กไปบ้าง แต่ไม้เหล่านั้นไม่ได้ถูกขุดรากถอนโคน (เหมือนนายทุนที่แผ้วถางแล้วปลูกพืชตัวใหม่  หรือไม่ก็ปลูกคอนกรีตไปเลย) มันพร้อมที่ฟื้นคือกลับมาเป็นป่าไม้ได้ทุกเมื่อ...เพราะเวลาตัดชาวบ้านจะเหลือตอไว้เกือบเสมอหัว พอปล่อยไปสักพักป่าฟื้นตัวดินฟื้นตัว...ก็กลับมาทำใหม่ครับ...ที่สำคัญเขาทำเพื่อให้พอยาไส้ไปปีๆ ครับ ไม่ได้ทำเป็นร้อยไร่ พันไร่ แค่ไร่สองไร่เขาก็ไม่ไหวแล้ว...

เพื่อให้มันได้มีโอกาสเติบโตกลับมาใหม่ (ฟื้นตัว) และที่ว่าน่าสงสารเพราะชาวบ้านเหล่านี้ไม่มีอันจะกินครับ สิ่งจำเป็นสำหรับเขามีเพียง พริก เกลือ ข้าว เพื่อประทันชีวิตไปวันๆ แม้แต่จานชามเขาก็ไม่เคยซื้อเพราะไม่มีเงิน เห็นกระบอกไม้ไผ่ที่เจาะรูวางบนพื้นกระต๊อบนั่นไหมครับ...(ในรูปที่ตอบแมครูป.1) สมัยพาดีซอก็เป็นอยู่อย่างนี้แหละครับ กะเหรี่ยงใช้สำหรับตักแกงใส่ แทนถ้วยชามครับ....

ในหลายๆ ครั้งที่มีเจ้าหน้าทีรัฐเข้าทำลาย ชาวบ้านต้องหอบลูกเด็กเล็กแดงหนีกระเจิงเข้าป่า ไม่มีข้าวไม่มีน้ำ เจอทั้งยุงทั้งทาก... สารพัดจะบรรยาย เพียงทหารหาร และเจ้าหน้าที่ทหารเดินกันไม่กี่วัน สื่อยังแพร่ภาพให้เห็นว่ามันสาหัสขนาดไหน นี่เด็กตัวเล็ก..ไม่อยากจะอธิบายต่อเลยครับ...ว่ามันจะขนาดไหน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท