จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ตราฮาลาลในมุมผู้ประกอบการ


ต้องขอออกตัวก่อนครับว่า ประเด็นที่หยิบมาคุยวันนี้ ผมไม่ได้สันทัดใดๆ ทั้งสิ้นเลย ประเด็นที่เขียนถึงในคืนนี้เลยเป็นเรื่องของความเห็นที่เก็บเล็กผสมน้อยมาประติดประต่อกันเท่านั้นเองครับ ความจริงไม่เคยคิดที่จะเขียนเรื่องนี้เลย แต่ด้วยความบังเอิญได้มีโอกาสไปพูดคุยกับผู้ประกอบการท่านหนึ่งเข้า แล้วรู้สึกว่า ถ้าลองเอาประเด็นดังกล่าวมาเรียบเรียงใหม่บางทีอาจจะก่อให้เกิดการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นก็เป็นไปด้วย เลยอดไม่ได้ครับที่จะขอวางงานอื่นๆ (ที่สำคัญมากๆ) ไว้ก่อน แล้วมาหยิบเอางานที่อยู่ในห้วงของความคิดมานำเสนอเล่าเรื่องก่อน

เรื่องที่ผมขอหยิบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็คือเรื่องการรับรองเครื่องหมายฮาลาลสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารของไทยครับ จากที่ได้คุยกับผู้ประกอบการในวันนี้ ผมพยายามนึกย้อนกลับไปยังข้อมูลเก่าที่อยู่ในสมองผมเองครับว่า ประเด็นคล้ายๆ นี้ ผมเคยคุยกับใครมาแล้วบ้าง (สุดท้ายนึกชื่อไม่ออกว่าคุยกับใคร แต่จำได้ว่าเป็นนักวิชาการมุสลิมที่มีความเข้าใจเรื่องนี้) ผมคิดว่ามุมมองที่ฟังวันนี้เชื่อมโยงอีกมิติหนึ่งจากที่ผมเคยฟังมุสลิมพูดๆ กัน อันเนื่องจากคนที่คุยกับผมท่านนี้ ไม่ใช่มุสลิม แต่เป็นผู้ประกอบการที่ต้องใช้ตราฮาลาลในสินค้าของเขาเิพื่อการค้าขายทั้งในและต่างประเทศ

เกริ่นนำมาเยอะแล้วครับ แต่พอจะเริ่มก็กำลังงงว่าจะหยิบอะไรมาเล่าก่อนดี เอาเป็นว่า ครั้งก่อนโน้น (ประมาณสองปีมาแล้ว) ผมเคยได้ยินนักวิชาการมุสลิมบางท่านบ่นถึงกระบวนการการตรวจสอบเพื่อการให้ตราฮาลาลของสำนักจุฬาราชมนตรี (หรือคณะกรรมการอิสลาม อันนี้ก็รู้สึกจะมีส่วนร่วมด้วยเหมือนกัน) ว่าเป็นกระบวนการที่ขาดระบบและกลไกที่จะสร้างความมั่นใจต่อเครื่องหมายตราฮาลาลได้ เหตุผลก็เยอะพอดูครับ อันเนื่องจากหากแค่การไปตรวจสอบกระบวนการสองปีครั้ง โดยไม่มีอะไรที่เป็นแบบแผน เป็นเงื่อนไขให้กับผู้ประกอบการ มันก็สร้างความสับสนให้กับทุกฝ่ายได้ ในขณะเดียวกันในการตรวจสอบต่างๆ ก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายครับ ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจากและกระบวนการและต้นทุนดังกล่าวตอนนั้นยังคิดต่อว่า ความจริงตราฮาลาลน่าจะมีหลายแบบ เช่น แบบที่ผู้ประกอบการเป็นมุสลิม หรือมุสลิมทำเองตลอดกระบวนการ กับที่ผู้ประกอบการต่างศาสนาเป็นเจ้าของกิจการแต่กระบวนการผลิตสอดคล้องถูกต้องตามกระบวนการ 

เหตุผลที่คิดอย่างนั้น ก็เพราะว่า ผมมองว่ามันต้องสร้างการยอมรับต่อเครื่องหมายก่อน โดยผ่านกลไกของการมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเครื่องหมายดังกล่าวจากผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบระหว่างกันได้ด้วย แต่เคยมีคนอธิบายให้ผมฟังว่า กลไกที่ผมว่าน่าจะนำไปใช้ไม่ได้ครับ (ก็ยอมรับได้ครับ)

เท่าที่ทราบตั้งแต่สองปีที่ผ่านมา "ส่วนตัว" จับกระแสแล้วเห็นว่ามีสองกระแสหลักต่อการให้ตราฮาลาลกับสินค้า (ย้ำว่าเป็นความคิดส่วนตัวจริงๆ ไม่มีข้อมูลใดๆ อ้างอิง) กลุ่มหนึ่งก็น่าจะเป็นนักวิชาการทางศาสนาอิสลามที่นิยามคำว่าสินค้าฮาลาลต้องแบบนี้ๆ แล้วใช้กระบวนการตรวจสอบโดยการตรวจเยี่ยมตามระยะ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะเป็นกลุ่มนักวิชาการมุสลิมสมัยใหม่ ที่มอบว่ามันจะต้องกำหนดกระบวนการในการตรวจสอบที่ชัดเจน นำเอาวิธีระบบมาใช้ในการพิจารณาเพื่อการให้ตรา เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการบริหารจัดการสมัยก่อน ที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบสินค้าด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วย

การดำเนินงานของกลุ่มแรก ผมไม่มีความรู้เรื่องรูปแบบการดำเนินการครับ อ่านเอาจากข่าว ซึ่งมักจะเป็นประเภทใส่ร้ายป้ายสีนิดหน่อย ผมเลยฟังหูไว้หู ไม่กล้าจะบอกว่าความจริงเป็นเช่นไร แต่สำหรับกลุ่มหลัง ผมค่อนข้างเห็นความเคลื่อนไหวมากกว่ากลุ่มแรกหน่อยหนึ่งครับ (ย้ำว่าหน่อยเดียว) คือมีการนำเอาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์มาเพื่อการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งโดยส่วนตัว (ส่วนตัวจริงๆ) มั่นใจว่า เครื่องมือดังกล่าวไม่ว่าจะซื้อมากี่ร้อยล้านก็จะไม่สามารถบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นถูกต้องตามหลักศาสนาได้ อือ เครื่องมือจะบอกได้ยังไงว่า เนื้อชิ้นนั้นเชือดมาแบบไหน ล้างแบบไหน เครื่องน่าจะทำได้เพียงการวิเคราะห์ว่าเป็นเนื้ออะไร มีอะไรปะปนในผลิตภัณฑ์บ้างเท่านั้นเอง ซึ่งมันก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของกระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล

วันนี้ผมมาเจอโจทย์ใหม่อีกครับ ผู้ประกอบการเล่าให้ผมฟังว่า ตอนนี้การรับรองฮาลาลแยกสำนักออกอย่างชัดเจนแล้ว แน่นอนครับ 2 สำนักข้างต้นที่ได้พูดไป แต่สุดท้ายทั้งสองสำนักก็กลับมีจุดอ่อนกันไปคนละแบบ ผมฟังวันนี้แล้วเกิดภาพที่รู้สึกว่าสังคมมุสลิมไทยกลายเป็นอะไรไปแล้ว ต่อไปในหนึ่งผลิตภัณฑ์คงต้องมีตราฮาลามมากกว่า 2 แบบ มุสลิมจึงจะนำไปใช้ได้อย่างสบายใจ (อือ)

ประเด็นที่ผู้ประกอบการตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจครับ คือ กระบวนการรับรองของ Hal-q  ซึ่งมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าของ เป็นกระบวนการออกเครื่องหมายรับรองที่เขารู้สึกเสียดาย (ผู้ประกอบการเป็นคนต่างศาสนานะครับ) เขาบอกว่า ทำไมกระบวนการรับรองของ hal-q จึงไม่สร้างระบบและกลไกของตนเองขึ้นมา ให้เห็นเป็นกระบวนการตรวจสอบที่เป็นไปในแนวทางที่ศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ปัจจุบันการรับรองดังกล่าวจะเติมประเด็นข้อบัญญัติทางศาสนาเข้าไปนิดหน่อย ที่เหลือก็อิงไปกับระบบ iso ก็เท่านั้นเอง (ผมเลยไปลองค้นหาตรวจสอบเบื้องต้น ก็ใกล้เคียงที่ท่านว่าครับ ตามลิงค์นี้ http://www.halalscience.org/th/main2011/content.php?page=content&category=68&id=210 )

เจอคนที่ไม่ใช่มุสลิมเสนอแบบนี้ ผมเลยนึกไปถึงคำพูดของนักวิชาการมุสลิมท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าหลายเรื่องของหลักการอิสลามทำให้เป็นเรื่องระบบกลไกไม่ได้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยอย่างนั้นครับ ความจริงหลักการศาสนา โดยเฉพาะหลักชารีอะห์สามารถนำมาสู่การพัฒนาในเชิงระบบได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญสามารถสร้างประสิทธิภาพให้กับการปฏิบัติงานในปัจจุบันได้ด้วย และเมื่อเจอกับแนวคิดผู้ประกอบการอย่างนี้ ผมยิ่งโดนใจครับ

"ผมคิดว่า การนำเอาหลักการศาสนามาออกแบบเชิงระบบเพื่อการบริหารจัดการเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นครับ"

ที่อ้างอิงไปยัง hal-q มากหน่อยในช่วงนี้ก็เนื่องจาก hal-q มีรูปแบบเชิงระบบมากหน่อย แต่ถ้าฟังเสียงผู้ประกอบการแล้ว ก็ต้องบอกว่าเขายังไม่โดนใจครับ ส่วนตราฮาลาลของสำนักจุฬาฯ เขาไม่ได้หยิบยกมาพูดครับ 

ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจคือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ อันนี้ผู้ประกอบการพูดถึงทั้งสองระบบเลยครับ ท่านคุยว่า ตราแรก คนไทยที่ไม่ใช่มุสลิมไม่รู้จักความหมาย และเข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง เช่น เข้าใจว่า เป็นอาหารเฉพาะมุสลิม คนต่างศาสนาทานไม่ได้เป็นต้น ในขณะเดียวกับมีบางบริษัทติดตราฮาลาลของอีกสำนัก ปรากฏโดนต่างประเทศตีกลับ ต้องอธิบายกันอยู่นานกว่าเขาจะอนุญาตให้นำเข้าในประเทศได้ สองเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องเดียวกันครับ คือ การประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรอง ซึ่งทั้งสองแนวอ่อนพอๆ กันเลยครับ (แต่ส่วนตัวคิดว่า ขอสำนักจุฬาฯ น่าจะได้เปรียบในแง่การรู้จักมากกว่าครับ)

ผมตั้งประเด็นคำถามสำหรับสังคมมุสลิมไทยไว้นิดหนึ่งครับว่า เรื่องนี้คนในสังคมควรมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของให้มากขึ้น และควรพูดให้ดังขึ้นว่า เราน่าจะมีเพียงตราเดียวที่สามารถสร้างการยอมรับได้ในทุกกรณี และด้วยสิทธิของความเป็นมุสลิมไทย เราก็น่าจะมอบหมายความรับผิดชอบนี้ให้กับหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียว และกระตุ้นให้หน่วยงานนั้นมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานของตนเองมากขึ้น มากกว่าที่จะปล่อยให้ใครก็ได้คิด ใครก็ได้ทำ ใครก็ได้ออกตรารับรอง สุดท้ายเรา (สังคมมุสลิมไทย) นั้นแหละครับที่น่าเวทนาที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #ฮาลาล#hal-q
หมายเลขบันทึก: 454758เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 00:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่านตราฮาลาล แต่คิดถึงเตาฟิกมากกว่า 555

ก่อนหน้าบันทึกนี้มีมานำเสนอแล้วครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท