การรักษาสภาวะ Hyperpronation ในเด็กวัยรุ่น


การทำแผ่นรองเท้านั้น ต้องอาศัยการตรวจวัดเท้าที่แม่นยำ การตรวจวัดเท้าโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งจะทำการเก็บรูปเท้า (Surface Scan) ในรูปแบบที่เป็นสามมิติ (3D model) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเพิ่มความสามารถในการตรวจวัด และความถูกต้องแม่นยำให้มากยิ่งขึ้น

การรักษาสภาวะ Hyperpronation ในเด็กวัยรุ่น
โดย ธนพร ตันประเสริฐ และ ยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์

ในวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาดูงานกับคุณหมอเชิดพงศ์ที่โรงพยาบาล Bangkok Nursing Home จึงอยากเขียนเล่าประสบการณ์แบ่งปันความรู้ที่ได้มาให้กับทุกๆ คนได้อ่านและศึกษาเรียนรู้กัน

กรณีของคนไข้ที่จะพูดถึงเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้น ม.2 ซึ่งถ้าหากมองโดยเผินๆ แล้ว คนไข้นั้นดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่ทำให้ต้องเข้ารับการตรวจรักษา คุณหมอได้เล่าให้ฟังว่า เท้าทั้งสองข้างของคนไข้นั้นมีสภาวะ Hyperpronation หรือในอีกชื่อหนึ่งก็คือ Flat feet (เท้าแบน) มีการคาดการณ์ว่า กว่า 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วไป ต่างมีสภาวะเท้าแบนกันทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สภาวะเท้าแบนนี้จะก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตตามปกติ ในกรณีของคนไข้คนนี้ จากการสอบถาม พบว่า เวลาเดินจะมีอาการเจ็บบริเวณใต้ต่อตาตุ่มด้านใน (Medial Malleolus) ของเท้าทั้งสองข้าง เป็นตำแหน่งของเส้นเอ็น Posterior Tibialis และเริ่มมีอาการเจ็บแบบนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

คุณหมอได้เริ่มจากการให้คนไข้เดินไปกลับเป็นแนวตรงระยะทางประมาณ 5 เมตร เพื่อสังเกตการณ์ทำงานเชิงกลศาสตร์

 

(Biomechanics)ของช่วงล่างของร่างกาย (Lower Extremity) จากการสังเกตพบว่า นอกจากสภาวะเท้าแบนแล้ว คนไข้ยังมีการโค้งเข้าหากันอย่างผิดปกติของหัวเข่าหรือที่เรียกกันว่าสภาวะ Knock-Knee อีกด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการคนไข้มีสภาวะเท้าแบนนั่นเอง คุณหมอยังบอกว่า หากปล่อยทิ้งเอาไว้ คนไข้มีโอกาสที่จะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมเมื่อสูงวัยขึ้นได้

หลังจากนั้นคุณหมอได้ทำการตรวจ Harris Mat กับคนไข้ ซึ่งการตรวจนี้เป็นการตรวจเพื่อดูการกระจายน้ำหนัก (Pressure) ของร่างกายสู่เท้าทั้งสองข้างในเวลาเดิน โดยการตรวจจะให้คนไข้เดินตามปกติผ่านแม่พิมพ์ที่ทาหมึกเพื่อทำให้หมึกกระจายสู่กระดาษที่ถูกรองไว้ด้านใต้แม่พิมพ์นั่นเอง

ภาพที่ 1 การตรวจ Harris Mat


เราจะสามารถสังเกตได้ชัดว่าน้ำหนักนั้นลงไปที่บริเวณใดของเท้าเป็นพิเศษจากความเข้มของหมึกที่ถูกพิมพ์ลงไป หากเข้มมากก็แสดงว่ามีการกระจายน้ำหนักลงไปยังส่วนนั้นมาก ซึ่งในกรณีของคนไข้คนนี้ มีการกระจายน้ำหนักมากเพิ่มขึ้นจากเท้าปกติไปยังส่วนของเท้าด้านใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณด้านในของหัวแม่เท้าทั้งสองข้าง

ภาพที่ 2 แสดงการกระจายน้ำหนักที่ผิดปกติของโรคเท้าแบน (1)


เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจทั้งสองอย่างข้างต้นแล้ว คุณหมอได้ส่งต่อคนไข้ไปทำการเอ็กซ์เรย์เท้าทั้งสองข้างในท่ายืน เนื่องจากมีความสงสัยว่า อาจจะมีกระดูกงอก (accessory navicular) ที่เท้าได้ ผลการตรวจเอ็กซ์เรย์พบว่า เท้าข้างซ้ายมีกระดูกงอกเกินมา แต่ไม่มีอันตรายหรือส่งผลกระทบอะไรต่อร่างกาย จึงไม่แนะนำให้ผ่าตัด ทั้งนี้คุณหมอยังได้อธิบายเสริมอีกว่า กระดูกงอกนั้นมักจะพบเป็นปกติในคนไข้ที่มีสภาวะเท้าแบน

จากการตรวจวินิจฉัย คุณหมอจึงเสนอให้คนไข้ใช้แผ่นรองเท้า (insoles) เพื่อทำการรักษาสภาวะเท้าแบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คนไข้ยังอายุน้อยๆ อยู่ กระดูกในเท้ายังไม่เจริญและแข็ง หากใช้แผ่นรองเท้าเสริมเข้าไปในรองเท้า เพื่อบังคับให้เท้าอยู่ในสภาวะที่แบนน้อยลง นอกจากนี้แล้วตัวรองเท้าเองยังจำเป็นต้องมีการ support ที่ดีในเวลาเดินอีกด้วย คุณหมอจึงแนะนำให้คนไข้เปลี่ยนมาใช้รองเท้าบู๊ตแทนรองเท้านักเรียนที่ใช้อยู่ตามปกติ และเมื่อกระดูกในเท้าเริ่มเMature แล้ว ก็จะสามารถเปลี่ยนกลับมาใช้รองเท้าทั่วไปได้อีกครั้งหนึ่ง

 

ภาพที่ 3 ช่างทำรองเท้าขณะพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้เกี่ยวกับลักษณะของรองเท้า


หลังจากนั้นคุณหมอจึงได้ทำการตรวจเท้าทั้งสองข้างของคนไข้ เพื่อหาจุดที่ผิดปกติและทำให้เกิดอาการเจ็บ และทำเครื่องหมายบนเท้าของคนไข้ เพื่อที่จะใช้เป็นจุดอ้างอิงในการทำแผ่่นรองเท้าในขั้นตอนต่อๆ ไป

การทำแผ่นรองเท้านั้น ต้องอาศัยการตรวจวัดเท้าที่แม่นยำ การตรวจวัดเท้าโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งจะทำการเก็บรูปเท้า (Surface Scan) ในรูปแบบที่เป็นสามมิติ (3D model) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเพิ่มความสามารถในการตรวจวัด และความถูกต้องแม่นยำให้มากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 4 ผลลัพธ์จากเครื่องสแกนสามมิติ


โดยผลลัพธ์ที่ได้ จะได้ในลักษณะเดียวกับ Foam box ที่ใช้ตรวจวัดอยู่ในปัจจุบัน เพื่อประเมินสร้างแผ่นรองเท้าที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เนื่องจากโครงสร้างเท้าของแต่ละบุคคลมีขนาด รูปแบบและโครงสร้างกระดูกที่แตกต่างกัน โดยที่เท้านั้นเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักทั้งร่างกาย การดูแลสุขภาพเท้าจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ภาพที่ 5 Foam box ที่ใช้ในการเก็บรูปเท้าของคนไข้แต่ละคน

 

คำสำคัญ (Tags): #Hyperpronation
หมายเลขบันทึก: 454501เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ช่วยกันเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพเท้ากันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท