ประชาธิปไตยแบบไทยๆ


ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนความคาดหวังและสถานการณ์ที่เป็นจริง

แม้ว่าประเทศไทยจะได้นำรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาใช้ในการปกครองประเทศ แต่ในทางปฏิบัติเรายังมีปัญหา   ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังหาทางออกไม่ได้ มีปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง ทุกระดับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมากยังไม่ทราบถึงผลลัพธ์ที่ตามมาของการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ทราบถึงผลเสียของการขายเสียงที่ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาเท่าที่ควร ทั้งยังไม่สามารถแยกแยะคนดีและคนไม่ดี จนทำให้การเลือกผู้แทนที่มีความสามารถและมีจิตสาธารณะอย่างแท้จริงมาบริหารบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเหมือนประเทศแม่แบบประชาธิปไตยประสบความยากลำบาก

เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในระยะ ๓-๔ ปีที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยตกอยู่ในสภาวะวิกฤต มีกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่เรียกกันว่า     “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เกิดขึ้น ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล และต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งกลุ่มนี้เชื่อว่าเป็นการแก้เพื่อให้ประโยชน์กับนักการเมืองบางกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็มี  “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ”หรือ นปช.ออกมาชุมนุมจนมี    การเคลื่อนพลไปปะทะกัน และล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงจนเจ้าหน้าที่ทหารต้องเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. การประชุมประชาคมอาเซียนต้องล้มเลิกไป ทำให้เกิดบาดแผลทางใจกับทุกฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็อ้างเหตุผลในการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์แก่บ้านเมือง จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เราพบว่าความคาดหวังที่มีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย ยังอยู่ในลักษณะห่างไปจากหลักการประชาธิปไตยในทางปฏิบัติอยู่มากเพราะเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ได้ด้วยหลักกฎหมายและหลักเหตุผล ตามวิถีทางของอารยะประเทศ โดยไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา  ทั้งนี้ความแตกต่างในทางความคิด ไม่จำเป็นต้องเกิดความขัดแย้ง หากเราเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เราก็จะสามารถ “สงวนจุดต่าง แสวงหาจุดร่วมได้”

 การเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เป็นจริง ย่อมจะทำให้เรามีประสบการณ์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบมากขึ้น เพื่อนำมาเป็นต้นทุนในการศึกษา วิเคราะห์ และนำมาวางเป็นกฎ กติกา และแนวปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป ประชาธิปไตยเป็นการปกครองเพียงระบอบเดียวที่ยึดหลัก สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ  โดยเฉพาะหลัก ภราดรภาพ (Fraternit) [1] ซึ่งหมายถึง ความเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็น เป็นน้อง  มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ ไม่เลือกปฏิบัติต่อผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน เป็นหลักการของผู้เจริญทางปัญญา ผู้ที่มีความเห็นต่างกัน ไม่ทำร้ายกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้ฉันท์พี่น้อง มีความเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทร มีความปรองดองต่อกัน ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการที่สอดคล้องพื้นฐานวัฒนธรรมของไทยที่มีมาช้านาน

ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการ. เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง.

หมายเลขบันทึก: 453269เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง

ก็เชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน

แต่ว่า ประชาธิปไตยแบบไทย คือการซื้อเสียง

แล้วก็โกง แล้วก็ครองอำนาจ แล้วก็แจกเงิน แล้วก็โกง

วนอยู่อย่างนี้ ใครจะแก้ ครับผม

เรียน อาจารย์โสภณ และประชาชนทุกท่าน

การแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงนั้น ผมมีข้อคิดเห็นและประสบการณ์ที่มีอยู่และได้แก้ไขมานานแล้วครับ

ผมแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ทั้งหมดครับ สิ่งที่ต้องแก้ไข 3 ประการ คือ โง่ จน เจ็บ

ควรใช้การศึกษาเท่านั้นที่จะแก้ไขได้ โดยรัฐบาลต้องจริงใจในการให้การศึกษาประชาชนให้ครบวงจร ให้เรียนฟรีจริงๆ ตั้งแต่ ป.1-ป.ตรี แล้ววางแผนรองรับผู้จบการศึกษา จากมหาวิทยาลัย หรือด้านไหนๆ ก็ตาม ก็มีงานรองรับ หรือให้ทุนสร้างงานเอง จะได้พึ่งตนเองได้ ตรงนี้แก้ความโง่ กับความจนได้

สำหรับประชาชนทั่วไป ต้องให้การศึกษาชี้ถึงผลเสียของการซื้อเสียง โดยทำยังไงจะให้เขาท้องอิ่ม ถ้าเขามีการศึกษาดี มีงานทำ รับรองเงิน 300, 500 บาท เขาไม่รับให้เสียศักดิ์ศรีหรอกครับ แต่ปัจจุบันที่จับการซื้อเสียงไม่ได้ เพราะประชาชนและผู้สมัครรับเลือกตั้งฮั้วกัน ตรงนี้แก้ความโง่ กับความจนได้

หากทุกคนมีการศึกษาดีขึ้นกว่าปัจจุบัน เขาต้องดูแลสุขภาพของตนเองได้ดี ไท่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลมากเหมือนปัจจุบัน ตรงนี้แก้ความเจ็บป่วยได้

สรุปทุกคนต้องช่วยกัน ประชาชนไม่รับเงิน (ไม่ขาย) จากผู้สมัคร ก็ไม่มีคนซื้อ การศึกษาจะช่วยได้แน่นอน หรือท่านว่ายังไงครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ...มิใช่หรอก      ใคร่ขอบอก...เผด็จการ...นั่นแหละใช่

พรรคการเมือง...ของนายทุน...คุณว่าไง  นักการเมือง...ทาสรับใช้...ของนายทุน

แล้วผู้แทนของประชาชน...คือคนไหน      มองยังไงก็พวกทาสชาติสมุน

ดีครับนายใช้ผมเถิดขอเทิดทูน               ท่านนายทุน...สุดแสนดี...ที่สุดเลย

        

   ที่น่าสนใจคือ ในขณะที่หลายฝ่ายมอง ครม.ปูแดง 1 อย่างฉาบฉวยว่า ไม่ปรากฏแกนนำคนเสื้อแดงรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น แท้จริงแล้วมีสิ่งที่น่ากลัวกว่าแฝงเร้นอยู่ คือ มี “คนชุดดำ”แฝงตัวอยู่ใน ครม.ชุดนี้ ด้วยความภูมิใจเสนอของหัวหน้าหัวหน้าผู้ก่อการร้ายตัวเอ้!?

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000100585

ตรวจสอบหน่อยครับ

ขอบคุณทุกท่านที่แสดงความคิดเห็นถึงความรักชาติ ผมมีบทกลอนของเพื่อนผมให้ข้อคิดเรื่องประชาธิปไตยของเราครับ

ประชาธิปไตยของไทย...ไฉนเป็นเช่นนี้

กี่อำนาจ กี่รัฐบาล ที่ผ่านมา

ล้วนใช้เสียง ประชาชน ขึ้นเป็นใหญ่

อ้างอำนาจ อ้างประชา- ธิปไตย

ก็เพื่อใช้ ฉ้อฉล ปล้นแผ่นดิน

กี่รัฐธรรมนูญ ที่สูญเปล่า

กี่เรื่องราว การต่อสู้ มิรู้สิ้น

กี่บัตรเบอร์ ที่เลือกกา จนชาชิน

เหมือนเปลี่ยนฝูง เหลือบริ้น ตลอดมา

เพราะอำนาจ อธิปไตย ของปวงชน

สูญสิ้น เมื่อพ้น จากคูหา

ยอมพ่ายแพ้ แก่อำนาจ รัฐสภา

ที่ยกมือ เพื่อรักษา ประโยชน์ตน

จะต้องแก้ รัฐธรรมนูญ อีกกี่ครั้ง

จะต้องไป เลือกตั้ง อีกกี่หน

จะพ่ายแพ้ แก่คนชั่ว อีกกี่คน

จะให้เขา ฉ้อฉล อีกเท่าไร

ข้าวในนา ปลาในหนอง ของลูกหลาน

จะให้เขา ล้างผลาญ อีกนานไหม

จะนั่งลง ปลงสังเวช ประเทศไทย

หรือลุกขึ้น แก้ไข ด้วยมือเธอ

สุชาติ ครุฑใจกล้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท