หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : ...ดำนา (สโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์)


เมื่อนิสิตก้าวออกมาห้องเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ทั้งผมและทีมงานต่างก็พยายามแสวงหาพื้นที่ หรือกิจกรรมให้นิสิตทำอย่างต่อเนื่อง ความต่อเนื่องที่ว่านั้นจะสอน "ทักษะการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน" ให้กับนิสิตไปโดยปริยาย ทุกอย่างนิสิตต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมและทีมงานเป็นเพียงผู้ถางทางในระยะต้นเท่านั้น

ภายหลังกิจกรรม "มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน" หรือ "หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน" 
ขับเคลื่อนไปได้สักระยะ  ผมเริ่มค้นพบอุปสรรคและปัญหาต่างๆ เป็นรูปธรรมขึ้น  นั่นก็คือ "ทักษะในการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน"

 

ด้วยเหตุนี้ระยะหลังๆ  ผมจึงไม่พยายามให้แต่ละคณะลงพื้นที่พร้อมๆ กัน  เพราะมันยากที่จะมอบหมายเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลกระบวนการต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง  ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น  เรามีกระบวนการ "สอนงาน"  และพาลงประสานงานพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง  แต่ก็ยังพบว่าหลายอย่างยังคงเป็น "งานใหม่" สำหรับนิสิตอยู่วันยังค่ำ

 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดทักษะที่อ่อนด้อยนั้นมาจากแผนงานของแต่ละคณะส่วนใหญ่มุ่งทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากจนเกินไป  และส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นกิจกรรมประเพณีนิยมที่สืบปฏิบัติกันมาจากรุ่นสู่รุ่น  น้อยนักที่จะมีแผนงาน หรือโครงการที่มุ่งสู่การจัดกิจกรรมนอกสถานที่  หากเทียบกับชมรมในสังกัดองค์การนิสิตแล้ว ต้องถือว่าทักษะในเรื่องดังกล่าวแตกต่างกันมากพอสมควร

 

Large_dsc_0111

 

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  ระยะหลังผมจึงพยายามนำนิสิตในสังกัดคณะบางคณะลงชุมชนถี่ครั้งขึ้น  ประสานงานโดยตรงกับแกนนำนิสิต พร้อมๆ กับการเชื่อมโยงไปยังรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตของคณะนั้นๆ...

 

กรณีสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ก็เช่นกัน  ผมถือว่าเป็นน้องใหม่ในการจัดกิจกรรมในชุมชนเป็นอย่างมาก  นิสิตส่วนใหญ่ฝังตัวอยู่กับการเรียนในชั้นเรียน  จะด้วยการเรียนที่เน้นทักษะปฏิบัติการจนต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองดึกดื่น ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ก็เถอะ  หรือแม้แต่ความเป็นศิลปินก็เกี่ยวโยงไม่แพ้กัน  พลอยให้นิสิตยากยิ่งต่อการถีบตัวออกมาสู่กิจกรรมในทางสังคม-

 

 

ผมเคยได้คุยกับนิสิตในสังกัดคณะศิลปกรรมศาสตร์  นิสิตบอกเล่าว่า "...ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมในชุมชนเท่าไหร่  ส่วนใหญ่อยู่แต่ในคณะแทบทั้งสิ้น  การที่ได้ลงหมู่บ้านร่วมกับผมและทีมงาน  ช่วยให้เขามองชีวิตในมุมที่กว้างขึ้น เห็นความงามของชีวิตและเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนศิลปะอย่างล้นเหลือ และที่สำคัญก็คือ  การได้เห็นคุณค่าของตัวเองที่มีต่อการเป็น "ผู้ให้" ..."

 

 

ครับ,ล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔
เป็นอีกครั้งที่ทีมงานของเรา จับมือผสานใจร่วมกับสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และงานบริการหอพักนิสิต  ด้วยการนำนิสิตลงพื้นที่บ้านใคร่นุ่น ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

 

กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อยอดหนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน ...

 

กิจกรรมหลักๆ คือการไปเรียนรู้วิธีการทำนากับชาวบ้าน สอนเด็กๆ ให้เขียนรูป  ร่วมกิจกรรมเชิดชูแม่ดีเด่น  มอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียน...ติดตามดูกล้วย 9 หน่อมะละกอ 9 ต้นที่ปลูกเฉลิมพระเกียรติในหลวงของเรา ฯลฯ..

 

 

เป็นกิจกรรมที่ท้าทายมากเลยทีเดียว  โดยเฉพาะกิจกรรมที่จัดขึ้นในในระหว่างการสอบกลางภาค  แถมยังเป็นกิจกรรมที่จัดในวันราชการ  ซึ่งแรกก็หวั่นใจเหมือนกันว่าจะมีคนเข้าร่วมไม่มากนัก  แต่เอาเข้าจริงๆ นิสิตกลับเข้าร่วมกิจกรมอย่างล้นหลาม อีกทั้งชาวหอพัก ซึ่งถือว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้มาก่อน ก็เทใจมาร่วมอย่างน่าชื่นชม

สิ่งเหล่านี้ก็เป็นภาพสะท้อนของความต่อเนื่องในอีกมุมหนึ่งด้วยเหมือนกัน  ไม่ใช่จัดกิจกรรมแล้วจากหาย  ต่างฝ่ายต่างรู้สึกร่วมกันว่า "..หมู่บ้านเป็นเสมือนบ้านอีกหลังของนิสิต  สายสัมพันธ์ความเป็นลูกฮักกับพ่อฮักและแม่ฮักถักสานสายใยขึ้นเรื่อยๆ มีการไปมาหาสู่กันเป็นระยะๆ..."

 

 

กิจกรรมในครั้งนี้ ผมและทีมงานลงประสานชุมชนด้วยตนเอง  ร่วมออกแบบกิจกรรมร่วมกัน  เชื่อมโยงมิติ "บ้าน-วัด-โรงเรียน" เข้ามาอย่างเสร็จสรรพ  เน้นความง่ายตามวิถีของชาวบ้าน  และจัดวางให้นิสิตมาในฐานะ "ผู้เรียนรู้" ...

 

สำหรับผมแล้ว  ผมว่าผมคิดไม่ผิดหรอกที่พยายามดึงเวลามาอย่างเนิ่นช้า  รอเวลาจนนิสิตเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้แล้วค่อยพาเขาออกมาสู่ห้องเรียนอีกห้องหนึ่ง...

 

และเมื่อนิสิตก้าวออกมาห้องเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว  ทั้งผมและทีมงานต่างก็พยายามแสวงหาพื้นที่  หรือกิจกรรมให้นิสิตทำอย่างต่อเนื่อง  ความต่อเนื่องที่ว่านั้นจะสอน "ทักษะการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน"  ให้กับนิสิตไปโดยปริยาย  ทุกอย่างนิสิตต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง  ผมและทีมงานเป็นเพียงผู้ถางทางในระยะต้นเท่านั้น

 

เมื่อนิสิตในคณะนี้เริ่มหยั่งรากได้  ผมและทีมงานก็จะถอยห่างไปหนุนนำคณะอื่นๆ ด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน  พร้อมๆ กับการนำคณะนี้หยัดยืนเป็น "พี่เลี้ยง" คณะอื่นๆ ไปในตัว  ซึ่งเป็นกระบวนการของการ "สอนงาน สร้างทีม" ในระยะยาวตามแบบฉบับของผม

และนี่คืออีกปรากฏการณ์ความต่อเนื่องของกิจกรรมที่เริ่มผลิบานขึ้นทีละนิดๆ...

 

Large_dsc_0112

...

หมายเหตุ
ภาพโดยทีมงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ
ภาพที่เกิดขึ้น เป็นกิจกรรมระหว่างการเดินทางกลับ
นิสิตจอดรถและร่วมลงแขกดำนาช่วยชาวบ้าน...

หมายเลขบันทึก: 453211เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 01:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ต้องนับเป็นบุญตาเลยนะเนี่ย ที่ได้เห็นภาพนี้

พี่พนัสคะ

ชอบกิจกรรมนี้จัง เป็นกำลังใจให้ชาว มมส. ค่ะ ^_^

นาทดลองของแม่ใหญ่ โยนไปแล้วเมื่อ 22 ก.ค. ส่วนที่จมน้ำโดนหอยเชอรี่เขมือบเสียเรียบเลย วันที่ 12 ส.ค.นี้เราจะดำหนึ่งไร่ และซ่อมนาโยนนะคะ จะติดตามเรื่องราวต่อไปนะคะ

สมัสการพระคุณเจ้าฯ

ภาพกิจกรรมเหล่านี้ เป็นภาพที่เกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมแปลงนาโยน  ระหว่างเดินทางกลับสู่มหาวิทยาลัย  พบเจอสองตายายกำลังปักดำอยู่กลางสายฝยที่หยาดริน จึงลงลุยช่วยกันแบบที่เห็น

สิ่งเหล่านี้คือความสุขของการได้เรียนรู้ครับ

 

สวัสดีครับ มะปรางเปรี้ยว

ขอบคุณสำหรับความปรารถนาดีและแรงใจที่ส่งมาให้อย่างสม่ำเสมอนะครับ

สวัสดีครับ แม่ใหญ่

ขอเป็นแรงกายและแรวใจสำหรับการลงลุยชีวิตในแปลงนานะครับ..
การทำนา เป็นวัฒนธรรม เป็นสายเลือดของคนในแผ่นดินสยาม...

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท