ร่วมวงสนทนา (Dialogue) ที่มูลนิธิอันวีกษณาจัดขึ้น


ตั้งวงคุยกันเรื่อง “การกระทำที่ไม่ใช่ผลที่เกิดจากความคิด” หรือ “An action that is not the outcome of thought”
          วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 ส.ค.) ผมได้ไปร่วมวงสนทนา (Dialogue) ที่มูลนิธิอันวีกษณาจัดขึ้น เป็นการพูดคุยกันในวงของคนที่สนใจงานของท่านกฤษณมูรติ (ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกย่อๆ ว่าท่าน K) กลุ่มนี้มีการนัดพูดคุยกันเป็นประจำทุกๆ สองเดือน ผมเคยมาร่วมครั้งหนึ่งน่าจะประมาณสองปีมาแล้ว
หัวข้อที่พูดคุยกันในครั้งนี้ เป็นประเด็นที่มาจากวีดีทัศน์เรื่อง “การกระทำที่ไม่ใช่ผลที่เกิดจากความคิด” หรือ “An action that is not the outcome of thought” ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่าน K พูดไว้ที่เมืองมัทดราสเมื่อสามสิบสองปีมาแล้ว หลังจากดูวีดีทัศน์และพูดคุยกันเป็นเวลากว่าสองชั่วโมง ผมอยากจะสรุปประเด็นผ่านการตีความ (ความคิด) ของผมไว้ดังนี้ :

 

  1. เรา “เห็น” หรือไม่ ว่าการกระทำที่ผ่านความคิดนั้น เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำกัด (Limit)  เป็นส่วนเป็นเสี่ยว (Fragmented) และไม่มีความเป็นทั้งหมด (not the Whole)
  2. เนื่องจากความคิดต้องอาศัย “ข้อมูล / ความรู้ / ประสบการณ์” ในอดีต (ความจำ สัญญา) Action ที่ได้มาจากความคิด จึงเป็นสิ่งที่จำกัด แบ่งแยก ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และก่อให้เกิดมายาคติขึ้นมาต่างๆ นานา
  3. ถึงคนในวงจะโต้แย้งค่อนข้างรุนแรงว่า “การทำมาหากิน (การทำงาน) เราจำเป็นต้องใช้ ต้องอาศัยความคิด (ความจำ ความรู้ ประสบการณ์)” แต่การพูดคุยก็ทำให้ได้ข้อสรุปว่า “การใช้ความคิดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแต่เราต้องรู้ซึ้งถึงข้อจำกัดของมัน และต้องจัดมันให้เข้าที่เข้าทาง เราก็ยังใช้ประโยชน์ (ในทางโลก) จากมันได้” แต่ที่ผมว่าค่อนข้างอันตรายก็คือในสภาวะที่เรา “เสพติดการคิด” และเข้าใจผิด (หรือหลงคิด) ไปว่า “ความคิด (ของเรา) นั้นคือ(สัจจะ) ความเป็นจริง”
  4. สิ่งที่ท่าน K พูดไว้ ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิดก็คือ Action ที่ไม่ได้เป็นผลพวงมาจากความคิด ก็คือ Action ที่เกิดจากจิตการรับรู้ที่บริสุทธิ์ (ผัสสะบริสุทธิ์) ไม่ติดอยู่กับอุดมคติ (ที่ความคิดสร้างขึ้นมา) ไม่ติดอยู่กับอดีต ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อ ไม่มีความรู้ (ซึ่งก็เป็นอดีตอีกเช่นกัน) มาเจือ ท่านใช้คำว่าเป็น Action ที่เกิดจาก Insight ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ท่านสอนเราว่าต้องใส่ใจ หรือมี Attention กับสิ่งที่อยู่ต่อหน้าต่อตาเรานั้น
  5. ท่านได้ขยายความคำว่า Attention ว่ามันเป็นคนละเรื่องกันกับคำว่า Concentration (เพ่ง) Attention เป็นการใส่ใจในสิ่งนั้นๆ เป็นการ Aware กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ในขณะที่ Concentration นั้นเป็นความพยายามที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อไม่ให้เราถูก Distract (ถูกทำให้ไขว่เขว่) ไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็น Concentration หรือDistraction ท่าน K บอกว่าแท้จริงแล้วมันก็ไม่ได้ต่างกัน มันล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ (Product) ของความคิดด้วยกันทั้งคู่
ผมเชื่อว่าน่าจะมีประเด็นสำคัญๆ ที่ผมยังไม่ได้พูดถึงอีกหลายประเด็น ถ้าท่าน (ที่เข้าร่วมพูดคุย หรือท่านที่เคยดูวีดีทัศน์ชุดนี้) เห็นอะไรเพิ่มเติม ก็ช่วยกันเสริมด้วยก็แล้วกัน ขอบคุณทุกท่านครับ
หมายเลขบันทึก: 452973เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2011 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากครับ ขอบคุณครับ ^^

ทำไมเราจึงต้องตีความคำพูดของคนอื่นด้วยเล่า? การตีความ คือส่วนหนึ่งของการกระทำ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิด หรือไม่? การตีความ คือการบวนการใช้ความคิด ที่ปิดกั้นการหยั่งเห็น ( INSIGHT) สิ่งที่เป็นอยู่จริง อย่างเป็นองค์รวมทั้งหมด หรือไม่? และทำไม? จิตจึงชอบตีความ ชอบแสดงความคิดสรุปรวบยอด ด้วยเล่า? มันต้องการสร้างความรู้ อันดูประหนึ่งแน่นอนเที่ยงแท้ ให้เป็นที่พึ่งพิงยึดเกาะ เพื่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ให้กับตัวมันเอง ใช่ไหม? น่าสนใจสอบสวนดูความมหัศจรรย์ ของความคิดมนุษย์ กันไหม?

คิด --> ตีความ, คิด --> พูด, คิด --> ถาม, คิด --> เขียน, คิด --> ทำ, คิด --> กรรม.

Action ที่เกิดจาก Insight ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ท่านสอนเราว่าต้องใส่ใจ หรือมี Attention กับสิ่งที่อยู่ต่อหน้าต่อตาเรานั้น

ขอบคุณคะ อาจารย์ ไม่ทราบว่าหนูเข้าใจถูกหรือเปล่าว่า

เหมือนการที่ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ค้นพบยาเพนิซิลลิน เมื่อเห็นเชื้อราในเพลตเลี้ยงแบคทีเรีย ทำให้เกิด insight ว่า ถ้าเชื้อรากำจัดแบคทีเรียในเพลตได้ ก็น่าจะใช้ในคนได้เช่นกัน

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

การกระทำที่ไม่ใช่ผลจากความคิด ทำให้นึกถึง เวลาลงทำแผนที่เดินดิน ในหมู่บ้าน

จำเป็นต้องใส่ใจ สังเกต สภาพแวดล้อมของแต่ละบ้านด้วย จึงจะได้ข้อมูลรอบด้าน

สวัสดีครับอาจารย์

ระลึกถึงเสมอครับ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท