พราหมณ์ : พิธีโล้ชิงช้าในประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘


           พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายไปตามยุคตามสมัยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งภูมิประเทศ สภาพเศรษฐกิจ การปกครอง 

           พระราชพิธีตรียัมปวาย -  ตรีปวาย และ/หรือ การโล้ชิงช้าตามคติของพราหมณ์นั้นมีมานานแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะดินแดนประเทศไทยปรากฏหลังฐานมาตั่งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี หลักฐานเก่าที่สุดที่บันทึกแน่ชัดสุดเกี่ยวกับลัทธิไศวนิกายในดินแดนประเทศไทยคือ ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ค้นพบที่ ต.ควนเกย  อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดหลักแรก ๆ ของประเทศไทย ข้อความดังนี้ :-

จารึกหุบเขาช่องคอย อักษรปัลวะ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๒ 

พบที่ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช


ตอนที่ ๑     (ศิลาจารึกนี้เป็น) ของพระผู้เป็นเจ้าแห่งวิทยาการ (พระศิวะ)

ตอนที่๒      ขอความนอบน้อม จงมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งป่า

                ขอความนอบน้อม จงมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งเทพทั้งมวล

                ชนทั้งหลายผู้เคารพต่อพระศิวะ คิดว่า ของอันท่านผู้เจริญ

                (พระศิวะนี้) จงฝังให้มีอยู่ในที่นี้ จึงมาเพื่อประโยชน์ (นั้น)

                ถ้าคนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด

ตอนที่ ๓     ความสุขและผล (ประโยชน์) จงมีแก่ชนทั้งหลายนั้น (ศิลปากร, กรม, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑, ๒๕๒๙ : ๕๔)

 

          กลุ่มที่สร้างจารึกหุบเขาช่องคอยขึ้นนี้ คงจะมีกลุ่มชนที่ใช้ภาษาสันสฤตนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย และคงได้เดินทางมาพักพิงอาศัยในบริเวณนี้ เป็นการชั่วคราว ไม่ใช่กลุ่มคนที่อยู่ประจำถิ่น อีกทั้งยังได้กำหนดสถานที่บริเวณศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยขึ้นเป็นเทวสถานไวศนิกายเพื่อปฏิบัติกิจตามจารีตของตน  (ศิลปากร, กรม, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑, ๒๕๒๙ : ๕๔) จึงทำให้สันนิฐานได้ว่า พิธีตรียัมปวาย- ตรีปวาย ซึ่งถือว่าเป็นพิธีสำคัญในลัทธิไศวนิกายคงได้ถูกประกอบขึ้น ณ ที่นี้ด้วย

          อีกหลักฐานสำคัญที่ระบุการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในแผ่นดินประเทศไทย ปรากฏในจารึกปราสาทพนมรุ้ง หลักที่ ๙   ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จังหวัดบุรีรัมย์ ข้อความ ดังนี้ :-

จารึกพนมรุ้ง ๙ (ด้านที่ ๑) อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๘ 

พบที่ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

ด้านที่ ๑  

โศลกที่ ๔                เขาได้ถวายชิงช้าซึ่งมีชื่อว่า ชิงช้างาม (อินฺทรโทล) แด่อิศวรที่ชื่อถัทรเรศวร และนอกจากนี้ยังได้ถวายยานใหญ่แด่พระศัมภุ ซึ่งสถิตบนถูเขาใหญ่อีกตัว

โศลกที่ ๕                เขาได้ถวายชิงช้าทองอันดี มีค่า ซึ่งบรรทุกด้วยยาน สำหรับโล้แด่พระเทวีในราชคูห่ เพื่อความสุขแด่พระศาสดาที่เคารพ

ฯลฯ


จารึกพนมรุ้ง ๙ (ด้านที่ ๒) อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๘ 

พบที่ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

ด้านที่ ๒  

โศลกที่ ๕                เรียกว่ากระแสน้ำและลม............ถวายแด่พระศิวะ....................เขาได้ (ถวาย) ชิงช้าสำหรับโล่แด่ครู (ศิลปากร, กรม, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๔, ๒๕๒๙ : ๑๘๕)

 

          เชื่อได้ว่าประเทศไทยได้รับประเพณีการโล้ชิงช้าเนื่องในพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย จากอาณาจักรขอมมานับแต่บัดนั้น

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

อ้างอิง 

ศิลปากร, กรม จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ – ๕. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. ๒๕๒๙.

ข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศุนย์มานุษยวิทยาสิริธร. http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/main.php?p=ZGV0YWls&id=10

หมายเลขบันทึก: 452681เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2011 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท