อย่ากล้าจนเกินงาม


วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ ผมเดินทางด้วยรถปรับอากาศประจำทางจากสงขลามุ่งสู่สถานีขนส่งหมอชิต จำไม่ได้แล้วว่าเป็นรอบที่เท่าไร รถประจำทางแวะพักระหว่างทางที่สวนอาหารคุณสาหร่าย (จ.ชุมพร) พร้อมกับการบริการอาหารมื้อดึกในเวลาเกือบตีสอง ทุกครั้งที่นั่งรถและแวะพักจะเที่ยงคืน ตีหนึ่ง หรือตีสองก็ตาม ความคิดอันหนึ่งของผมจะโผล่พรวดขึ้นมาเสมอ "จะกินอะไรกันหนักหนา"

ทางฝ่ายบริการบอกให้ทราบว่า จะแวะพัก ๒๐ นาที และอ้างว่า มีอาหารบริการให้ "ฟรี" ผมก็คิดอีกว่า แน่ใจหรือว่า "ฟรี" อย่างไรก็ตาม แม้จะโต้แย้ง ผมก็ยังทำตัวตามปกติเหมือนชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป ดีหน่อยตรงที่เป็นข้าวต้มยามดึก เพราะบางคืนจะเป็นข้าวสวย ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่ากินเพื่อเพิ่มพลังงานไปทำสิ่งใด

ผมเดินไปนั่งที่โต๊ะซึ่งมีเจ้าหน้าบริการอย่างดี แต่งตัวเหมือนนักศึกษาแต่มองหน้าตาแล้วน่าจะเป็นนักศึกษาวัยกลางคน ใจผมมองว่า มันไม่สมส่วนกับวัย แต่ผู้แต่งอาจมองว่า ดูดีก็เป็นได้ แน่นอนว่า คำว่า ไม่สมส่วนกับวัยนั้น น่าจะถูกชะล้างด้วยความคิดว่า สิทธิ์ในการแต่งกายเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล สมส่วนหรือไม่นั้นแล้วแต่มุมมอง ผมต่างหากที่ควรถูกมองว่า วิปริตผิดคน เพราะเดี๋ยวนี้คนสูงอายุแต่งตัวเหมือนเด็กเยอะแยะไป เรียกว่า เป็นการกระชากวัย เคยได้ยินเพื่อนพูดตอนที่เดินตามหญิงสาวผมยาวนางหนึ่งว่า "มองข้างหลังแล้วอยากเห็นหน้า ครั้นมองหน้าแล้วอยากหงายหลัง" ในความคิดของผม ผมมักชื่นชอบการแต่งตัวที่สมวัยมากกว่า เช่น อายุเลย ๕๐ หากแต่งออกลายผ้าไทยนิดๆ แสนจะดูดีเป็นต้น อย่างไรก็ตาม มันไม่แน่นอนนัก เพราะบางคนอายุเลย ๕๐ แต่ใส่ชุดยีนอาจดูดีก็ได้ ซึ่งน่าจะขึ้นกับบุคลิกของคนมากกว่า

โต๊ะอาหารหนึ่งโต๊ะ ถูกบังคับให้นั่ง ๘ คน บางคนมากับเพื่อน บางคนมาเดี่ยว อย่างผมมาเดี่ยว ข้างๆผมมีหญิงสาวซึ่งคาดว่า หน้าตาดีรูปร่างดี (ดูแบบผ่าน) ช่างคล่องแคล่วในการหยิบโน้นฉวยนี้ เห็นแล้วน่าชื่นชมทีเีดียวกับหญิงไทยสมัยใหม่ เข้าใจว่า หากแต่งงานสร้างครอบครัว เธอน่าจะเป็นช้างเท้าหน้า เพราะหากเป็นช้างเท้าหลัง เธอจะไม่เด่นเลย ความคล่องแคล่วที่ดูดีจะถูกบดบังด้วยอำนาจของฝ่ายชายเป็นแน่ จะให้ดีหากหาคู่ครองแบบคล่องแคล่วด้วยยิ่งดี

ระหว่างคิดไปสังเกตคร่าวๆไปนั้น ความคิดนี้ก็เกิด "อย่ากล้าจนเกินงาม" ให้นึกถึงเมื่อหลายปีก่อน ระหว่างที่ผมเข้าแถวซื้อตัวที่สายใต้ มีเด็กหญิงแต่งตัวแบบผู้ชาย ที่เราเรียกว่า ทอม ใส่เสื้อพับแขน เดินหลังคู้เหมือนกับนักเลง "ประมาณว่า ข้าแน่" พร้อมกับเดินชนผม จากนั้นก็เดินผ่านและเหลื่อมหางตามองผู้ที่ตนชน ผมได้แต่หัวเราะในใจ รู้สึกเอ็นดูเขามากกว่าเคืองแค้น นึกถึงคำสอนหญิงสมัยก่อนให้รักษาความงามของกิริยาไว้ ซึ่งเราน่าจะเคยได้ยินคำว่า "รักสวยรักงาม" และเราก็เข้าใจว่า หญิงทั่วไปนั้นรักสวยรักงาม แต่ปัจจุบัน เราสอนให้เด็กกล้าแสดงออก โดยไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งที่แสดงออกนั้นควรหรือไม่ควร เ่ช่น บางคนมีความสวยงามเป็นทุนทรัพย์อยู่แล้ว กลับมาแสดงเป็นตัวตลก ซึ่งน่าเสียดายทุนทรัพย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดนั้น อย่างไรก็ตาม ในการที่เราจะเลือกเป็นอะไรนั้น คงไม่มีใครเข้าไปห้ามปรามได้ เพราะเรากำลังเข้าใจว่า "ทุกคนกำลังใช้สิทธิ์ในความเป็นมนุษย์/ในชีวิตของตน" ความกล้าหาญเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรกล้าหาญเรื่องใด ซึ่งคงไม่ใช่กล้าทุกอย่างที่คิดได้ เช่น กล้าหาญที่จะดูดลิ้นที่เต็มไปด้วยน้ำลายของกันและกันกลางที่สาธารณะ เป็นต้น การทำแบบที่ยกตัวอย่างนั้น เราไม่สามารถจะเอาศัพท์ว่า "กล้าหาญ" มาใช้กับกิริยาแบบนั้นได้

อย่ากล้าจนเกินงาม เป็นข้อความที่ผุดขึ้นในความคิดระหว่างที่สังเกตหญิงสาวนางหนึ่งบนโต๊ะอาหารยามดึก ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีของหญิงสมัยใหม่

หมายเลขบันทึก: 452343เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท