จาก “ทำ...ไม่รู้” สู่ “ทำแล้วรู้”


โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แม้ไม่จ่ายด้วยเงินและเวลาในการศึกษาต่อ ก็ควรจ่ายด้วยความคิดความขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง

ได้คุยกับน้องทันตแพทย์ที่มาสอบอนุมัติบัตรทันตแพทยสภา สาขาทันตสาธารณสุข ประเภทข้อเขียน  ต่างมีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลมานานพอสมควร     ผ่านงานตามนโยบาย/กระแสสังคมโรงพยาบาลและวิชาชีพ ถือว่าอยู่ในกรอบการทำงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ  หากไม่นับวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ด้านท้นตสาธารณสุขที่เรียนในคณะทันตแพทย์ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 10 จาก 100 คะแนนแล้ว  ข้อสอบที่เหลืออีก 90 ล้วนอยู่ในสังคมการทำงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร ระบาดวิทยา วิจัย จริยธรรม การส่งเสริมสุขภาพ การบริหารจัดการ หรือระบบบริการ     แต่ในความเป็นจริง ทันตแพทย์ส่วนหนึ่งทำงานแบบทำตามๆ กันทั้งตามพวกเดียวกันเอง ตามรุ่นพี่ ตามกองทันตะ (ตอนนี้ชื่อ สำนักทันตะ) หรือตามวิชาชีพอื่น  หากใส่ใจหาความรู้เพิ่มเติม(ทำงานบนฐานความรู้) เพื่อพัฒนาการทำงาน เช่น

- เป็นทันตแพทย์ในโรงพยาบาลหรือ สสจ. ต้องประพฤติปฎิบัติอย่างไร ในแง่วิชาชีพ เหมือนหรือต่างกันไหมถ้าทำงานในหน่วยงานต่างกัน อย่างโรงพยาบาลกับ สสจ.

- ขวนขวายอีกนิดให้เข้าใจหลักการแนวคิดการประกันคุณภาพโรงพยาบาล (TQM หรือ CQI) ก็จะรู้ว่า risk management เป็นเครื่องมือบริหารจัดการที่สำคัญ ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะงานคลินิกบริการ     

- ถ้าฉุกคิดสงสัยสักนิดว่า จะจัดบริการทันตกรรมอย่างไรเพื่ออะไร ให้ตอบสนองผู้ใช้บริการ ขณะที่ต้องทำโครงการทันตสาธารณสุขในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก หรือประชุมอบรมต่างๆ และโรงพยาบาลก็เลี้ยงตัวเองได้ด้วย ก็ย่อมนึกถึงการจัดการ การจัดสรรทรัพยากร งบประมาณ/การเงิน การประกันคุณภาพ .... ว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกันไป 

- ตั้งแต่ 2544-45 ประเทศเรามี UC มี CUP มีบริการปฐมภูมิ  รูปธรรมคือ ทันตแพทย์โรงพยาบาลต้องจัดบริการทันตกรรมที่ PCU, CMU หรือ รพ.สต.  แล้วบริการระดับปฐมภูมิคือ อะไรกันเล่า  คิดต่อแล้วหาอ่านเพิ่มอีกสักนิดให้เข้าใจจะได้จัดบริการได้ตรงหลักการของ primary care     

- สสจ. ถ่ายทอดมาว่า สำนักทันตะให้ทำโครงการนี้นั้น เป้าหมายเป็นอะไรเท่าไร  ใช้งบเป็นค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง คนทำได้หรือไม่ได้ค่าตอบแทนอย่างไร   คิดและซักถามเพิ่มสักหน่อยว่า วัตถุประสงค์คืออะไร วิธีดำเนินงานตอบวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร  ทำไปแล้วจะรู้ได้ยังไงว่า work หรือไม่  จะวัด/ประเมินผลอย่างไรดี      

- สำหรับระบาดวิทยาและวิจัยควรเรียนให้รู้/เข้าใจจริงจริง เพราะเป็นศาสตร์สำคัญ น่าจะเป็นสมรรถนะหลัก (core competency) ของคนทำงานด้านสาธารณสุขด้วยซ้ำ และพอเรียนเรื่องการวิจัย ก็จะรู้เรื่องจริยธรรมการวิจัยด้วย   ตอนนี้มีเงินกองทุนทันตะ    จังหวัดสามารถจัดอบรมเองได้และควรเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

ถ้าทำได้ดังนี้ ประสบการณ์การทำงาน 5 ปี 10 ปี ก็จะมีประโยชน์  เพราะเราเก็บเกี่ยวความรู้อันเป็นผลประโยชน์นั้นขึ้นมา  เมื่อมาสอบก็จะผ่านฉลุยโลด   แทนที่จะดำรงตนเป็น clinician แล้วมาสอบหวังฟลุ๊ค

โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี  แม้ไม่จ่ายด้วยเงินและเวลาในการศึกษาต่อ ก็ควรจ่ายด้วยความคิดความขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง...สักหน่อยน่า….เนอะ   

4 สิงหา 2554

หมายเลขบันทึก: 452337เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท