วิธีสอนแบบการเรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกัน (Cooperative Learning)


วิธีสอนแบบการเรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกัน (Cooperative Learning)

วิธีสอนแบบการเรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกัน (Cooperative Learning) 

 การเรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกัน เป็นวิธีการเรียนรู้ด้วยกันสองคน หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ในการทำงานร่วมกันก็เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ด้วยวิธีการทำงานร่วมกันคือ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองสูงสุด และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งให้ได้ประโยชน์ของกันและกันมากที่สุด  (ทิศนา  แขมมณี, 2548, 2551)

รูปแบบการเรียนการสอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือพัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการเรียนรูปแบบร่วมมือของจอห์นสัน และจอห์นสัน ( Johnson & Johnson, 1974 : 213 – 240  อ้างใน ทิศนา แขมมณี (2545, 2547, 2548, 2550, 2551) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าผู้เรียนควรร่วมมือกันในการเรียนรู้มากกว่าการแข่งขันกันเพราะการแข่งขันก่อให้เกิดสภาพการณ์ของ การแพ้-ชนะ ต่างจากการร่วมมือกัน ซึ่งก่อให้เกิดสภาพการณ์ของการชนะ-ชนะ อันเป็นสภาพการณ์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านจิตใจและสติปัญญา   

องค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้ด้วยการงานร่วมกัน

  1. การเรียนรู้ต้องอาศัยหลักการพึ่งพากัน ต้องมีทัศนคติที่ดีในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Positive Interdependence)  ผู้เรียนต้องมีความตระหนักว่าทุกคนต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คนใดคนหนึ่งไม่สามารถทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ได้คนเดียว ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ความช่วยเหลือซึ่งกันละกันภายในกลุ่ม
  2. มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน (Face to Face Interaction)  ผู้เรียนต้องทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จร่วมกัน ฉะนั้นผู้เรียนควรมีการแบ่งปันข้อมูล การสนับสนุนช่วยเหลือกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และกระตุ้นการทำงานร่วมกัน ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้ จะเป็นการพูดคุยถกเถียงการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นการตรวจสอบความเข้าใจ   การเรียนรู้ทั้งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

3.   การเรียนรู้ร่วมกันต้องอาศัยทักษะทางสังคม (social skills) โดยเฉพาะทักษะในการทำงานร่วมกัน

4.  การเรียนรู้ร่วมกันควรมีการวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม (group processing) สมาชิกในกลุ่มต้องมีการอภิปรายถกเถียงกันถึงความสำเร็จของงาน รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกันในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

5.  การเรียนรู้ร่วมกันจะต้องมีผลงานหรือผลสัมฤทธิ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มที่สามารถตรวจสอบและวัดประเมินได้ (Individual Accountability) หากผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้แบบร่วมมือกันนอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านเนื้อหาสาระต่าง ๆ ได้กว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยพัฒนาผู้เรียนทางด้านสังคมและอารมณ์มากขึ้นด้วย รวมทั้งมีโอกาสได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกมาก

รูปแบบนี้มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ด้วยตนเองและด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ  รวมทั้งได้พัฒนาทักษะทางสังคมต่าง ๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ รวมทั้งทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะการคิด การแก้ปัญหาและอื่น ๆ

รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการดำเนินการหลัก ๆ ซึ่งได้แก่ การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน และระบบการให้รางวัล แตกต่างกันออกไปเพื่อสนองวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ต่างก็ใช้หลักการเดียวกันคือหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการและมีวัตถุประสงค์มุ่งตรงไป ในทิศทางเดียวกันคือเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุดโดยอาศัย การร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันและแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ความแตกต่างของรูปแบบแต่ละรูป จะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระและวิธีการเสริมแรงและการให้รางวัล เป็นประการสำคัญ

การเรียนแบบ Collaborative สามารถใช้ในการเรียน ดังต่อไปนี้
                1.   Group Process/Group Activity/Group Dynamics
                   1.1  เกม
                   1.2  บทบาทสมมุติ
                   1.3  กรณีตัวอย่าง
                  1.4  การอภิปรายกลุ่ม
                2.   Cooperative Learning
                    2.1  การเล่าเรื่องรอบวง (Round robin)
                    2.2  มุมสนทนา (Corners)
                   2.3  คู่ตรวจ สอบ (Pairs Check)
                   2.4  คู่คิด (Think-Pair Share)
                   2.5  ปริศนาความคิด (Jigsaw)
                   2.6  กลุ่มร่วมมือ (Co-op Co-op)
                   2.7  การร่วมมือกันแข่งขัน (The Games Tournament)
                   2.8  ร่วมกันคิด (Numbered Headed Together)

                3.   Constructivism
                   3.1  The Interaction Teaching Approach
                    3.2  The Generative Learning Model
                    3.3  The Constructivist Learning Model
                    3.4  Cooperative Learning

การเรียนรู้ด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม จำแนกลักษณะได้ดังนี้

บทบาทของผู้สอน

  1. ต้องวางแผนทักษะการทำงาน เพื่อถ่ายทอดการเรียนรู้
  2. สอนผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้
  3. พัฒนาผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบ
  4. ส่งเสริมให้เกิดเรียนรู้อย่างแท้จริง
  5. อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสาสมารถประเมินตนเองได้
  6. กระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้
  7. ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกๆ คน
  8. สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนใช้ความคิดให้มากขึ้น
  9. ผู้สอนต้องสอนทักษะการเข้าสังคม
  10. มีความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับวัสดุฝึก นักเรียนกับนักเรียน

 การเรียนภายในกลุ่ม  มีลักษณะดังนี้

  1. มีทัศนคติที่ดีในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
  2. แต่ละคนมีความรับผิดชอบตนเอง
  3. ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน
  4. มีการสับเปลี่ยนการเป็นผู้นำ
  5. มีความรับผิดชอบร่วมกัน
  6. มีการอภิปรายและประเมินผลงาน และการมีปฏิสัมพันธ์กัน
  7. การแบ่งกลุ่มมีหลายลักษณะ อาจแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 2-6 คน การแบ่งกลุ่มไม่ควรใช้เวลามาก ควรแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ
  8. ครูผู้สอนควรแบ่งกลุ่มที่ผู้เรียนสามารถทำงานด้วยกันได้ ไม่ควรให้ผู้เรียนเลือกกันเอง
  9. ควรคละผู้เรียนที่มีความสามารถสูง ปานกลางและต่ำให้อยู่ภายในกลุ่มเดียวกันให้ได้มากที่สุด

เงื่อนไขในการสอน

  1. ควรสอนกิจกรรมที่เหมาะสมการเรียนรู้ให้มากที่สุด
  2. ห้องเรียนควรจัดให้เหมาะสมและส่งเสริมผู้เรียนกลุ่มเล็กในการทำงานร่วมกันได้ และครูผู้สอนสามารถเดินไปมาหาสู่ผู้เรียนได้โดยสะดวก
  3. วัสดุอุปกรณ์การเรียนควรจัดให้ตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้ในแผนการสอน
  4. การสอนวิชาการควรให้รายละเอียดมากที่สุด
  5. การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ควรสอบถามผู้เรียนแต่ละกลุ่มตกลงร่วมกันว่า จะให้แต่ละคนช่วยกันทำอะไรบ้าง
  6. สื่อวัสดุอุปกรณ์การเรียน ข้อมูลต่างๆ และการอาศัยซึ่งกันและกัน ควรผลิต/จัดหาให้เหมาะสม
  7. ผู้สอนควรมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ
  8. ผู้เรียนทุกคนควรช่วยเหลือ และช่วยกันทำงานตามที่ได้รับมอบหมายร่วมกัน
  9. ผู้สอนควรขับเคลื่อนการเรียนรู้จากการทำงานเป็นกลุ่ม โดยให้ความร่วมมือกับผู้เรียนอย่างแท้จริง
  10. การวัดผลประเมินผลควรตั้งเกณฑ์การวัดไว้ก่อนเริ่มการเรียนการสอน

ทิศนา  แขมมณี.   (2545).   ศาสตร์การสอน:  องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.  พิมพ์ครั้งที่  2 (ฉบับพิมพ์เพิ่มเติม).  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

                     .   (2547).   ศาสตร์การสอน:  องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.  พิมพ์ครั้งที่  3  (ฉบับปรับปรุง).  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

                     .   (2548).   ศาสตร์การสอน:  องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.  พิมพ์ครั้งที่  4  (ฉบับปรับปรุง).  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

                     .   (2550).   ศาสตร์การสอน:  องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.  พิมพ์ครั้งที่ 5  (ฉบับปรับปรุง).  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

                     .   (2550).   ศาสตร์การสอน:  องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.  พิมพ์ครั้งที่  6 (ฉบับพิมพ์เพิ่มเติม).  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

                    .   (2551).   ศาสตร์การสอน:  องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.   พิมพ์ครั้งที่ 7 (ฉบับพิมพ์เพิ่มเติม).  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

หมายเลขบันทึก: 452239เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท