การทบทวนสถานการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับเด็กและเทคโนโลยีสารสนเืทศและการสืื่อสาร


สถานการณ์เด่นที่ส่งผลต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเด็ก และ เยาวชน

สถานการณ์เด่นที่ส่งผลต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเด็ก และ เยาวชน ในการติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ พฤติกรรม ของเด็กในการใช้งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่า มี สถานการณ์เด่น ๖ สถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก กล่าวคือ

(๑) สถานการณ์ด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ความจำเป็นด้านการศึกษา ส่งผลต่อปริมาณในการใช้และเข้าถึงของเด็ก ปัจจุบันเข้าสู่ยุคของการหลอมรวมทางเทคโนโลยี ความนิยมในการใช้การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรูแบบของ iPad สมาร์ทโฟนในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่  ประกอบกับ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เรียกว่า 3G ที่อีกไม่นานจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การเปิดการค้าเสรีมีผลต่อราคาที่ถูกลง อีกทั้ง ความจำเป็นในด้านการศึกษาในรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเด็กที่ต้องทำการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งหมด เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานและปริมาณของการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเด็กที่มากขึ้น

(๒)     ยุคทองของเครือข่ายสังคมออนไลน์ และ ยุคทองของ What’s App  BB  และ แอพพลิเคชั่น ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนไป เพราะการเปลี่ยนแปลงจากเว็บ ๑.๐ เป็น ๒.๐ และกำลังจะขยับเข้าสู่ยุค ๓.๐ ทำให้ ขณะนี้เป็นกลายเป็นยุคทองของเครือข่ายสังคมออนไลน์ จากข้อมูลเชิงสถิติพบว่า facebook.com มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า ๒๓ ล้านคนในประเทศไทย[1] มีผู้เป็นสมาชิกใน facebook.com กว่า ๑๐ ล้านคน[2]  ในจำนวนนี้พบว่า กลุ่มอายุที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ใน facebook มากที่สุดคืออายุ  ๑๘ ถึง ๒๔ ปี ร้อยละ ๓๔ รองลงมาคือ กลุ่มอายุ ๒๕-๓๔ ปี ร้อยละ ๒๙  ตามด้วยกลุ่มอายุ ๑๓-๑๕ ปี ร้อยละ ๑๑ และกลุ่มอายุ ๑๖-๑๗ ปี และอายุ ๓๕-๔๔ ปี ร้อยละ ๑๐เท่ากัน

นอกจากนั้น ยังพบว่ามีอัตราการเติบโตเร็วเป็นอันดับสองของเอเชีย มีผู้เล่นเกมออนไลน์กว่า ๑๐ ล้านคน ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวก และ รวดเร็วมากขึ้น และมีรูปแบบในการติดต่อสื่อสารด้วยโปรแกรมประยุกต์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือ mobile Application เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เรียกว่า BB และ What’s App รวมทั้ง แต่เป็นการใช้งานที่เน้นไปที่การสื่อสารความเป็นส่วนตัวในที่สาธารณะ มากกว่าการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์เชิงสร้างสรรค์เพื่อแบ่งปันความรู้ เพื่อการขับเคลื่อนสังคม

(๓)  สถานการณ์ด้านการพัฒนาเนื้อหาในสื่อใหม่มีมากขึ้น แต่ยังไม่พอกับการต้องการเรียนรู้ของเด็ก จากการศึกษาเบื้องต้นของด้านพฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร[3] พบว่า เด็ก เยาวชนเริ่มใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาโดยการค้นคว้าหาข้อมูลและความรู้ผ่านเว็บไซต์ เว็บบล็อก มากขึ้น ถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตอยู่ในปริมาณที่น้อยกว่าการใช้งานเว็บไซต์เพื่อความบันเทิงก็ตาม แต่ก็พบว่ามีปริมาณการใช้งานในเว็บไซต์เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น www.dekdee.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในลำดับที่ ๕[4] รองจาก sanook mthai gossipstar และ kapook ในขณะที่เนื้อหาสื่อออนไลน์ที่ตอบสนองต่อการศึกษาและการเรียนรู้มีไม่มากเมื่อเทียบกับความต้องการและความจำเป็นในด้านการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน เพราะในด้านเนื้อหาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ในระบบการศึกษา พบว่ามี www.thaigoodsviews.com และ www.thinkquest.org เป็นเว็บไซต์สื่อการเรียนการสอนออนไลน์หลัก แต่ยังถือว่าเป็นปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนของเด็กและเยาวชนกว่า ๒๓ ล้านคนในประเทศไทย และ เนื้อหาที่ปรากฏในเว็บไซต์ต่างๆทั่วไปยังประสบปัญหากับความถูกต้องแท้จริงของข้อมูล

(๔) สถานการณ์ด้านวัฒนธรรมในการใช้งานในสื่อใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลง  การเติบโตของวัฒนธรรมการแบ่งปันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้ง การแบ่งปันเนื้อหา ข้อมูล รวมไปถึงซอฟท์แวร์ที่เน้นให้นักพัฒนาแบ่งปันเพื่อนำไปใช้งานและเพื่อการต่อยอด เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ในยุคนี้จึงมีการพัฒนาแนวคิดและวิธีการในการสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ซึ่งประกอบด้วยทักษะในการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ทั้ง เท่าทันสารสนเทศ เท่าทันการสื่อสาร เท่าทันเทคโนโลยี รวมทั้ง การสร้างทักษะการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม ทั้งในด้าน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การสื่อสารภาคพลเมือง ซอฟท์แวร์ ที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นทั้ง แนวคิดด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และ  การเติบโตของเครือข่ายเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที ในขณะที่ การต่อยอดเพื่อขยายผลทั้งในด้านเครือข่าย และ การสร้างคุณค่าของผลงานที่พัฒนาขึ้น ยังไม่ได้มีความชัดเจนมากนัก

(๕)  การพัฒนารูปแบบและเครื่องมือในการสนับสนุนการทำงาน ในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบ และ เครื่องมือในการสนับสนุนการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ด้านเนื้อหาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ รวมตลอดถึงวัฒนธรรมในการใช้งานสื่อใหม่อย่างสร้างสรรค์ ในรูปของ(๑) โครงการประกวดเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนา สร้างสรรค์ผลงาน (๒) การอบรมให้ความรู้ในการพัฒนาผลงานด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๓) การเปิดพื้นที่ให้แสดงผลงานทั้งในพื้นที่ออนไลน์ เช่น www.fuse.in.th และ พื้นที่ทางกายภาพ (๔) ระบบกองทุนที่จะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการทำงาน ทั้ง กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือ กองทุนวิจัยเพื่อสาธารณะประโยชน์ ในความหลากหลายของรูปแบบ กลไก โครงสร้างในการสนับสนุนการทำงาน จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการ

(๖) สถานการณ์ด้านกฎหมาย นโยบาย พบว่า กฎหมายที่มีผลต่อการคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กในระบบไอซีที ยังไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่เกี่ยวข้องโดยตรง มีการใช้ มาตรา ๒๗ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ มาบังคับใช้แก่กรณีปัญหาการจงใจเปิดเผยข้อมูลที่ส่งผลเสียหายต่อเด็ก อีกทั้ง กฎหมายเกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาสื่อใหม่ ยังคงต้องรอการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.... ในการเพิ่มเติมเรื่องการจัดระดับความเหมาะสของเกมคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ ปรากฎในรุปของ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.. และ กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งในส่วนหลังต้องรอกฎกระทรวงในการใช้จ่ายเงินจากกองทุน 


[1] ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ , รายงานผลการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี พ.ศ.๒๕๕๓ , กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพ

[3] สำรวจข้อมูลโดย เนคเทค และ แผนงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อเพื่อสุขภาวะออนไลน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ โครงการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

หมายเลขบันทึก: 452131เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2011 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ติดตามให้กำลังใจอาจารย์ครับ

เชื่อว่า 6 สถานการณ์ที่ท่านอาจารย์นำเสนอมาเป็นได้ทั้งการส่งผลบวกและผลลบต่อเด็กและเยาวชน จึงควรที่สังคมจะต้องให้ความสนใจลงมามีส่วนร่วมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอยากจะให้มองไปถึงการใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆด้วยเช่นการใช้ SMS เพราะมีการหลอกล่อให้เยาวชนใช้จ่ายกับเรื่องพวกนี้คิดเป็นมูลค่ามหาศาลโดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรเลย สำหรับสถานการณ์ที่ (๓) สถานการณ์ด้านการพัฒนาเนื้อหาในสื่อใหม่ที่มีมากขึ้น แต่ยังไม่พอกับการต้องการเรียนรู้ของเด็ก สำหรับผมแล้วน่าสนใจมากและจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราคงพูดได้เต็มปากว่าไม่ควรรอพึ่งจากหน่วยงานของรัฐ (และก็ขอร้องว่าอย่าได้ฉวยโอกาสตั้งหน่วยงานพิเศษประเภทองค์การมหาชนอะไรออกมาอีกเลย) การพัฒนาเนื้อหาเหล่านี้ผมอยากให้ดูตัวอย่างการรวมกลุ่มของคนที่มีจิตสาธารณะที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันแล้วมาร่วมมือกันที่เรียกว่า "ชุมชน" (community) แบบเดียวกับการพัฒนา Linux Distro ต่างๆหรือโปรแกรม Open Source ดีๆที่มีคุณภาพมากมายออกมาแจกจ่ายให้ใช้กันฟรีๆครับ เพราะเชื่อว่าหากสามารถริเริ่มในลักษณะนี้ได้เราจะมีเนื้อหาดีๆมีความหลากหลายจำนวนมากที่เหมาะกับเยาวชนแต่ละช่วงวัยในเลาอันสั้น(ไม่เกิน 1-2 ปี)โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากมายอะไรเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท