เีรียนรู้คู่วิจัย


การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยให้ดีต้องฝึกการคิด การเขียน การเรียบเรียงให้มองเห็นงานทั้งหมด และมีความสอดคล้องกัน

ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำวิจัยและการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย ชื่อหนังสือเรียนรู้คู่วิจัย ของ รศ.ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ที่ผู้เขียนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์กับคนอื่นจึงขอเสนอแบบสรุปๆ หากสนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้

ผู้เขียนได้เริ่มอารัมภบทว่า

 “… หนังสือเล่มนี้ถอดบทเรียนจากข้อเสนอโครงการและรายงานวิจัย ที่ผู้อ่านจะได้เรียนจากความผิดพลาดเพื่อเข้าใจสาเหตุ การเรียนรู้นี้จะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ผิดซ้ำ เป็นทางลัดที่คนอื่นสร้างไว้ ผู้เขียนเพียงทำหน้าที่เป็นไฟฉายส่องทาง อ่านจบแล้วจะได้มีไฟฉายของตนเอง…”

สกว.เชื่อว่ากระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฎิรูปการศึกษา นักเรียนและครูจึงควรทำวิจัยในวิชาที่เรียนไปพร้อมๆกัน ทำวิจัยให้มีความสุขเพื่อพัฒนาตนเอง หนังสือประกอบด้วย 6 ตอน

 

ตอนที่ 1 วิจัยไม่ใช่การพยายามทำทุกอย่าง

ตอนที่ 2 อย่าวิจัยโดยมีคำตอบ (ที่ไม่รู้) ล่วงหน้า

ตอนที่ 3 อย่ากระโดดสู่งานพัฒนาโดยไม่มีความรู้พื้นฐาน

ตอนที่ 4 ความสับสนระหว่างสิ่งประดิษฐ์กับวิจัย

ตอนที่ 5 ข้อเสนอโครงการวัจัยที่ดีนั้นดีอย่างไร

ตอนที่ 6 กรอบคิดและการวางแผนวิจัย

 

ตอนที่ 1 วิจัยไม่ใช่การพยายามทำทุกอย่าง

                จุดอ่อนในการคิดทำวิจัยเกิดจากการขาดความรู้บริบท คิดว่าวิจัยคือทำอะไรก็ได้เพื่อให้รู้แต่ไม่ได้คำนึงความสอดคล้องกับเงื่อนไขการใช้งาน การรู้จุดอ่อนจะช่วยทำให้สามารถเขียนโครงการที่ดีได้ การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยให้ดีต้องฝึกการคิด การเขียน การเรียบเรียงให้มองเห็นงานทั้งหมด และมีความสอดคล้องกัน  ข้อเสนอแนะในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย

                1. ควรใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องแม่นยำ พิจารณาเรื่องความหมาย การเว้นวรรคตอนตั้งแต่ชื่อเรื่อง หลักการและเหตุผล

                2. ในการเขียนวิธีการวิจัย ควรพิจารณาตีโจทย์ให้แตกว่าจะศึกษาเรื่องใด ไม่ใช่ศึกษาทุกเรื่อง ในหนังสือ ยกตัวอย่างโครงการวิจัยเรื่อง “แผ่นใยเสริมยางเพื่อ...ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร”ที่มีขั้นตอนต่างๆที่ต้องทดสอบ ในขั้นนี้ผู้เขียนเสนอให้หาทางเลือกมากกว่า 1 เสมอและสรุปว่าการจะทำวิธีใดควรมีการประเมินทางเลือก นำทุกทางที่เป็นไปได้มาประเมิน พยายามหาคำตอบทุกๆคำถามมากๆ

ตอนที่ 2 อย่าวิจัยโดยมีคำตอบ (ที่ไม่รู้) ล่วงหน้า

ปัญหาคือนักวิจัยจำนวนหนึ่งมักมีคำตอบล่วงหน้าจนทำให้มองปัญหาที่แคบลงไม่นึกถึงในมิติอื่น การที่จะเข้าใจความคิดของนักวิจัยนั้นผู้อ่านต้องอ่านงานอย่างมี Critical reading คือเป็นคิดโต้แย้งหรือตั้งข้อสงสัยในขณะอ่านไป ขณะอ่านต้องโน็ตความเห็นประกอบ ในบทนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีการอ่านและมีการแสดงความเห็นที่เป็นข้อสงสัยหรือข้อชวนคิด ยกตัวอย่างเช่น

1. ชื่อเรื่องที่เสนอมา “การวิจัยตำหนิบนพื้นผิวผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินแดง” ผู้วิจัยได้เขียนข้อคิดเห็น “ชื่อแปลกมาก น่าจะชื่อว่า โครงการวิจัยเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ไม่ให้มีตำหนิจุดดำที่ผิว เพราะเป้าหมายคือได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี ไม่ใช่ความรู้เรื่องตำหนิ”

2. ประเด็นปัญหา ผู้วิจัยเสนอว่า ปัญหาจุดดำบนผิวเกิดจากเม็ดสนิมเหล็กในเนื้อดินปั้น มีผลทำให้เกิดจุดดำ ผู้เขียนเสนอความเห็นว่า “แน่ใจนะว่าเป็นเพราะเหล็ก หากไม่ใช่จะเดินทางผิดทันที ควรมีการ review และถามผู้รู้ก่อน ก่อนสรุปว่าเป็นเหล็กต้องเริ่มด้วยการมี “แวว” ของ “อาการ” ก่อน การที่นักวิจัยฟันธงว่าโดยที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน จึงยังไม่ควรเชื่อ”

3. ประเด็นวิจัย

“การแยกเม็ดสนิมเหล็กออกจากเนื้อดินปั้น โดยให้เหลือเม็ดทรายอยู่”

ความเห็น “การแยกเหล็ก มีทำอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ มีประเด็นการวิจัยหรือเปล่า ควรเขียนหลักการที่ใช้ในการวิจัย เช่น คัดจากขนาด ความหนาแน่น พร้อมมีเหตุผลประกอบ”

4. การวิเคราะห์  ผู้วิจัยให้เหตุผลการแยกเม็ดสนิมเหล็กว่า “เม็ดสนิมเหล็กมีขนาดใหญ่กว่าเม็ดทรายเล็กน้อย” ผู้เขียนมีความเห็นว่า “มีบ้างไหมที่มีขนาดเล็กกว่า ในขั้นนี้ต้องบอกที่มาของข้อมูล บอกเพียงการวิเคราะห์เฉยๆไม่ได้”

ในตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนสรุปว่าในการเขียนต้องให้ความสำคัญของการคิดหาทางเลือกมากกว่า 1  มีการทบทวนเอกสารข้อมูลอย่างดี และการเขียนต้องให้ข้อมูลที่มาของแหล่งข้อมูลเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

ตอนที่ 3 อย่ากระโดดสู่งานพัฒนาโดยไม่มีความรู้พื้นฐาน

                ในบทนี้สรุปสาระที่สำคัญคือ ก่อนที่จะเขียนหรือทำงานวิจัย ควรมีการศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้งจนรู้จริง เพื่อที่จะสามารถเขียนหลักการและเหตุผลได้อย่างมีน้ำหนัก ในตอนที่ 3 นี้ผู้เขียนยกตัวอย่างงานวิจัยเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการต้มเยื่อกระดาษสาด้วยการใช้หม้อต้มความดัน ซึ่งในการใช้ความดันหม้อต้มพบว่าเป็นการยากที่จะทำได้จริง เพราะทบทวนความรู้ไม่ครบถ้วนและกระบวนการดังกล่าวมีวิธีที่ง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพดี เปลืองงบประมาณไม่มาก

ตอนที่ 4 ความสับสนระหว่างสิ่งประดิษฐ์กับวิจัย

ในตอนนี้ผู้เขียนเกริ่นนำไว้ว่า “แหล่งทุนเขาต้องการทราบบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาข้อมูลจำเป็นคือการ Review ให้เหตุผลที่ต้องลงทุนทำวิจัยเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาเงินลงทุนก่อน Review เป็นกิจกรรมแรกแบบเดียวกับเป็นไปไม่ได้ที่ให้ไข่ออกมาเป็นไข่ แต่ต้องฟักไข่ให้เป็นไก่ก่อน ไก่จึงออกไข่ ทุกอย่างต้องมีลำดับขั้นตอน”

บทนี้เป็นการนำสนอวิธีการเขียนโครงการสิ่งประดิษฐ์ที่ดีเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ตอบสนองต่อผู้ประกอบธุรกิจ ผู้เขียนนำเสนอตัวอย่างโครงการและมีการเขียนเป็นคำถามชวนคิด ผู้เขียนเรียกว่า “การประชันความคิด”และการเรียนรู้ความคิดของผู้วิจัย เพื่อให้ผู้อ่านลองคิดวิเคราะห์ตามเป็นแต่ละระยะของการวิจัยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้วิจัย การเขียนให้ทำเป็น workshop ในแต่ละประเด็น เริ่มตั้งแต่ความสำคัญในการทำวิจัย วัตถุประสงค์ สมมติฐาน จนครบทุกขั้นตอน มีคำถามว่าถ้าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นควรทำอย่างไร สิ่งที่ผู้วิจัยเขียนหมายความอย่างไร พร้อมกับเฉลยความคิดของผู้เขียนและของคณะกรรมการสกว.

ในตอนนี้ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่าการเขียนหลักการควรมีการทบทวนความรู้ให้มากและเขียนให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องทำ เช่น การสร้างเครื่องโปรยงาข้าวแต๋น ควรมีการทบทวนเรื่องเครื่อง ทำไมต้องสร้าง การเขียนวัตถุประสงค์ ต้องตรงกับปัญหา วัตถุประสงค์เป็นเหมือนพันธะสัญญาที่ต้องทำให้ได้ครบทุกข้อ

ในความสำคัญฯ ผู้เขียนย้ำให้เห็นว่าการขอทุนทำวิจัยเครื่องประดิษฐ์ต้องแสดงให้เห็นว่าต้องการความรู้อะไรจากการวิจัย เพื่อมาช่วยให้ประดิษฐ์ดีขึ้น นักวิจัยต้อง review งานเดิมว่าจะทำให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร สิ่งที่ต้องบอกคนอื่นได้คือ “เห็นแค่ชื่อก็สามารถตั้งคำถามได้”การอ่านชื่อโครงการวิจัยควรอ่านอย่างใส่ใจแล้วพิจารณาแล้วจะพบข้อสงสัย ดังนั้นการตั้งชื่อเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้วิจัยควรให้ความใส่ใจ

ขอบเขตการวิจัย จะใช้กับงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ ท่องเที่ยว การศึกษา มนุษศาสตร์

สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ จะต้อง solution ของปัญหา หากปัญหาของการวิจัยชัดเจน จะสามารถเขียนสิ่งที่คาดว่าจะได้รับชัดเจน

นักวิจัยมักเข้าใจผิดว่าการสร้างเครื่องจักรตามแบบที่มีอยู่แล้วคือการวิจัย การสร้างเครื่องคือการพัฒนาความรู้ให้เป็นเทคโนโลยี ดังนั้นต้องได้ความรู้จากการวิจัยก่อน การพัฒนาเทคโนโลยีไม่สามารถทำได้โดยไม่มีวิจัย เพราะวิจัยจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนา

การ review เพื่อสร้างเครื่องจักรจะทำให้ได้ประเด็นวิจัยในจุดที่ต้องการพัฒนา สกว.ให้ทุนสร้างเครื่องได้แต่ให้ในฐานะเป็นเครื่องมือวิจัย ที่จะทำให้ผลการวิจัยเป็นการ optimization การพัฒนาเครื่องจักรหากไม่ใช้ผลการวิจัยเป็นฐานจะทำให้ได้เครื่องจักรที่ไม่มีสมรรถนะดีที่สุด รถยนต์ที่พัฒนาได้ดีมากๆเพราะงานวิจัย  

สรุปคือ การเขียนควรมีการทบทวนความรู้ให้มากและการเขียนโครงการสิ่งประดิษฐ์นั้นต้องบอกได้ว่าจะนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อย่างไร เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น

ตอนที่ 5 ข้อเสนอโครงการวัจัยที่ดีนั้นดีอย่างไร

                ข้อเสนอโครงการวิจัยที่นักวิจัยส่งมามักเป็นการวิเคราะห์ทุกขั้นตอนแต่เป็นเหมือนการทำวิทยานิพนธ์ ทำให้มีงานต้องทำมาก ใช้เวลาและเงินมาก ได้ความรู้มากแต่มากเกินความต้องการแก้ปัญหา ซึ่งนักวิจัยควรแยกให้ออกระหว่างการทำงานวิจัยเพื่อใช้กับบริบททางสังคมกับงานวิทยานิพนธ์

                ในตอนนี้นำแผนงานโคงการแคบหมูชนิดติดมันกึ่งสำเร็จรูปสำหรับไมโครเวฟ เป็นตัวอย่าง ซึ่งมีการทบทวนวรรณกรรมที่ดี มีข้อมูลทางวิชาการประกอบที่ตรงกับเรื่องที่ต้องศึกษา มีการอ้างอิงผลการศึกษา ในการเขียนความสำคัญควรชี้ให้เห็นความสำคัญของผลการวิจัย พร้อมกำหนดลักษณะเฉพาะหรือเงื่อนไขของผลวิจัย ต้องรู้จุดขายของปัจจุบัน

ตอนที่ 6  กรอบคิดและการวางแผนวิจัย

                การวางแผนการวิจัยเป็นจุดอ่อนหนึ่ง แผนวิจัยเป็นเหมือนลายแทงในการเดินทางไปหาคำตอบ ทำให้รู้ล่วงหน้าว่าคำตอบคืออะไร ข้อมูลที่จะนำไปสู่คำตอบมีอะไรบ้าง การทราบข้อมูลนำมาสู่แผนทดลองหรือแผนวิจัยซึ่งเป็นแผนหาข้อมูล แผนที่ไม่ดีข้อมูลเชื่อถือไม่ได้ แปลเป็นความรู้ไม่ได้

                ความสำเร็จของงานวิจัยขึ้นกับวิธีการคิดของงานวิจัย เพราะหากคิดไม่รอบคอบสมจริง อาจได้แผนที่การทำวิจัยไม่สอดคล้องกับสภาพจริงผลที่ได้ไม่สามารถประยุกต์ใช้ ตอนนี้ เป็นการวิเคราะห์การเขียนโครงการผลิตไซรับจากกล้วยตากตกเกรดโดยมีการวิเคราะห์ตั้งแต่แรก การเขียนความสำคัญควรนำหลักฐานวิชาการมาสนับสนุนงานวิจัยที่จะทำ ทั้งวิชาการและเศรษฐกิจ การหาคำตอบต้องค่อยๆนำอิทธิพลของตัวแปรออก โดยต้องรู้เบื้องต้นว่าตัวแปรใดไม่มีนัยสำคัญต่อผลลัพท์และตัวใดเหมาะสมที่จะนำมากำหนดการทดลอง จากแผนการทดลองการวิจัยที่นำเสนอมา สกว.เสนอว่าต้องมีมุมอื่นๆที่ต้องทบทวนให้ครบถ้วน และต้องมองในมุมเศรษฐศาสตร์ นักวิจัยควรมีความคิดอย่างเป็นระบบ กระบวนการวิจัยมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การคิดกรอบปัญหาที่สมจริง เป็นการคัดสรรทางเลือกต่างๆต้องคิดเสมอว่า ทุกขั้นตอนมีหลายทางเลือกและมีทางเลือกเดียวที่น่าจะดีที่สุดที่จะเลือก ระยะที่ 2 คือการทำวิจัย การทำวิจัยให้สำเร็จต้องมีแผนการดำเนินงานที่ดี ซึ่งแสดงได้จากไดอะแกรมประกอบด้วยทางเลือกต่างๆ ระยะที่ 3  การทำวิจัยขยายผลโดยมีการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์และแต่ละขั้นตอนต้องการความรู้ที่แตกต่าง

                เราเรียนรู้ว่าความสำเร็จของงานวิจัยขึ้นกับวิธีการคิดงานวิจัยเป็นสำคัญ

 

บรรณานุกรม

สุธีระ ประเสริฐสรรพ์. (2552). เรียนรู้ คู่วิจัย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

หมายเลขบันทึก: 451819เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2011 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท