KM DM workshop จังหวัดสระบุรี (๒)


ตอนที่ ๑

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ (ต่อ)

การเรียนรู้ KM ในวันนี้ ดิฉันเล่าแนวคิด KM สไตล์ สคส. ให้ผู้เข้าประชุมฟัง ให้ดู VDO ของ รพ.บ้านตากแล้วช่วยกันตีความ ฝึกเทคนิคการฟังโดยใช้เพลง ดูและฟังเรื่องเล่าจากคลิป VDO ลองตั้งคำถามเพื่อให้ได้ How to

เราใช้กิจกรรม “เชฟมือทองสอนเชฟมือใหม่” แบบย่อในการหัดถ่ายทอดวิธีการทำงาน ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับความสนุกสนาน เชฟมือทองทดลองทอดไข่ให้สุกแล้วเขียนตำราถ่ายทอดให้เชฟมือใหม่ทำตาม เมื่อแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนเชฟมือใหม่ ๒ คนมาประลองทอดไข่ ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ต้องให้กลับไปฝึกฝนพร้อมพูดคุยถ่ายทอดกันเพิ่มเติม แล้วกลับมาประลองใหม่อีกที

 

เชฟมือทองกำลังเขียนตำราการทอดไข่

 

เชฟมือใหม่ฝึกฝนเทคนิคจากเชฟมือทอง

ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้บทบาท “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” “คุณกิจ” ในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลังจากนั้นจึงแบ่งกลุ่มย่อย ๖ กลุ่ม ผลัดกันเล่าเรื่องการทำงานที่ประสบความสำเร็จของตนเอง ช่วยกันสกัดขุมความรู้จากเรื่องเล่า

 

ผู้เข้าประชุมทุกคนทุกกลุ่มร่วมมือและตั้งใจทำกิจกรรมทั้งหมดกันอย่างดีมาก มีข้อจำกัดเรื่องเดียวคือเวลา เราได้ทราบว่าใน ๒ วันนี้ สสจ.สระบุรี จัดการประชุมเวทีอื่นควบคู่กันไปด้วย คนเข้าประชุมจึงไปๆ มาๆ ระหว่าง ๒ เวที แว๊บไปจับจ่ายซื้อของกันบ้าง ทำให้เริ่มกิจกรรมได้ช้ากว่าที่กำหนดเสมอ แต่เราก็ใช้ความยืดหยุ่น เวลาเหลือน้อยก็ลดกิจกรรมลง ย่นย่อเอาบ้าง

ช่วงสุดท้ายของวันนี้ ทีม “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ช่วยกันจัดหมวดหมู่ “ขุมความรู้” เป็น “แก่นความรู้” ได้คุณหมอตี๋ นพ.สมชาติ สุจริตรังษี ผอ.รพ.ดอนพุด    นำทางทำให้เราทำงานได้รวดเร็วขึ้น และต้องชื่นชมพี่สานิตย์ พ่วงทรัพย์ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ สสจ.สระบุรี ที่อยู่ดูแลและร่วมกิจกรรมกับเราตลอดทั้งวัน คอยบอกว่าอยากเห็น “แก่นความรู้” ด้านใดอีกบ้าง ซึ่งความจริง “ขุมความรู้” ในเรื่องนั้นๆ ก็มีอยู่ แต่คนเล่าเรื่องอาจเล่าได้ยังไม่ลึกหรือคนฟังยังสกัดไม่ถูกก็ได้

 

สังเคราะห์ขุมความรู้เป็นแก่นความรู้

เราได้แก่นความรู้ ๙ เรื่องคือ
๑. การพัฒนาศักยภาพบุคลากร
๒. การจัดระบบข้อมูล
๓. การจัดบริการ
๔. การจัดการภาวะแทรกซ้อน
๕. การดูแลต่อเนื่อง
๖. การสนับสนุนการดูแลตนเอง
๗. การสนับสนุนด้านจิตใจ
๘. การให้ชุมชนมีส่วนร่วม
๙. การดูแลกลุ่มเสี่ยง

ผู้เข้าประชุมครั้งนี้เป็นพยาบาลจาก รพ. และ รพ.สต. จำนวนมากที่สุด มีแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด มาน้อยมาก มีจิตอาสา อสม. เจ้าพนักงานสาธารณสุข อยู่ด้วย เรื่องเล่าจึงอาจจะยังไม่หลากหลายมุมมากนัก ทีมทำงานของจังหวัดสระบุรีมองออกว่าควรจะต้องไปค้นหา Best practice ด้านใดเพิ่มเติม

เสร็จงานเราไปกินอาหารเย็นอีกอาคารหนึ่งร่วมกับทีมที่มาประชุมเวทีอื่น ก่อนกลับดิฉันและคุณเอนกแวะดูนิทรรศการนวัตกรรมของจังหวัดที่ห้องข้างๆ พบว่ามีเรื่องเกี่ยวกับเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงอยู่ด้วย เราเข้าที่พักตอนค่ำแล้ว เลยไม่เห็นความสวยงามอะไร แถมฝนก็ตกปรอยๆ

คุณเอนกดูแผนที่บ้านพักและพาไปถูกหลัง ไม่เห็นเลขที่ของบ้านแต่เปิดประตูได้จึงเชื่อว่าถูกหลังแน่ กว่าจะรู้ว่าเราเข้ามาทางหลังบ้านไม่ใช่หน้าบ้าน ก็ตอนที่คุณหมอตี๋มาสมทบนั่นแหละ เรา ๓ คนพักในบ้านหลังเดียวกัน (มี ๓ ห้องนอน) คืนนี้ไม่ได้ทำงานอะไรต่อเลยเพราะปลั๊กไฟใช้กับคอมพิวเตอร์ของดิฉันไม่ได้

ดิฉันนัดกับคุณเอนกว่าพรุ่งนี้จะพาไปเยี่ยมแม่ที่บ้านท่าแห (ห่างจากที่นี่น่าจะประมาณ ๒๐ กม.) ตั้งแต่เช้าตรู่

วัลลา ตันตโยทัย


 

หมายเลขบันทึก: 451650เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2011 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณ อ.วัลลา และคุณเอนกมากครับที่ช่วยเหลือ งานต่ไปที่จะต้องทำต้อง คือ เคลียร์ความชดเจนและระดับสมรรถนะในแต่ละเรื่องให้ชัดและก็แลกเปลี่ยนกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ขยายเครือข่าย แล้วครบปีน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นอีกสักครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท