นอร์เวย์ : เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับเหตุการณ์ก่อการร้ายในนอร์เวย์


          "เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วม" 

           อมตะพจน์ของมหาบุรุษมหาตมา คานธีที่จากรึกไว้บนก้อนหินหน้าห้องสมุดชุมชนสวนลุมพีนีมีความหมายที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวาง สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ถ้าทำได้ความสงบสุขก็ไม่ใช่เพียงคำพูดสวยหรูที่นักการเมืองทั่วโลกใช้โฆษณา แต่ในทางปฏิบัติกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นมันสวนทาง

          ในปัจจุบันมวลมนุษยชาติเรียนรู้กับเพื่อแตกแยก ยึดติดตัวตน ตัวกูของกู ประเทศของกู ชนชาติของกู ศาสนาของกู ฯลฯ ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งออกห่างกันมากขึ้นทุกที

          หัวใจหรือปรัชญาของวิชาประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์ทั่วโลกต่างให้นิยามล้วนออกมาตรงกันคือ “เรียนรู้อดีตเพื่อสร้างสรรค์อนาคต” แต่สามัญสำนึกก็มักจะสวนทางกับความจริง

          การศึกษาประวัติศาสตร์โดยเฉพาะตัวผู้เขียนเองรู้สึกกลัวขึ้นมาจับใจ เพราะได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์มากมายหลายชนชาติหลายยุคหลายสมัย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักมีแต่เรื่องสงคราม การทำลายล้าง การเกิดอารยธรรม การล่มสลายของอารยธรรม เวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น มนุษย์เราเรียนรู้ในการสร้างอาวุธ ยุทธวิธี จิตวิทยา ทุกวิถีทางที่จะสามารถทำลายล้างกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวดเร็วที่สุด จบลงเร็วที่สุด มันจึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นประเทศที่พูดเรื่องสันติภาพมากที่สุดในโลกแต่กลับมีอาวุธที่ใช้ทำลายล้างที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในโลก เช่นสหรัฐอเมริกา

           ช่วงไม่กี่สัปดาห์เรื่องราวในโลกรวมถึงประเทศไทย มีแต่เรื่องประหัตประหารกัน ล่าสุดเกิดขึ้นกับประเทศที่สงบที่สุดประเทศหนึ่งในโลกคือนอร์เวย์ ประเทศที่ผู้เขียนใฝ่ฝันอยากไปใช้ชีวิตในบั่นปลาย (เรื่องฝันกับเรื่องจริงมักจะสวนทางเช่นกัน) จากสำนักข่าวช่องสาม สรุปไดดังนี้

           เกิดเหตุโจมตีสองครั้งซ้อนที่ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ.2554

           เหตุโจมตีครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาท้องถิ่นประมาณ 15.26 น. โดยคนร้ายได้ก่อเหตุระเบิดที่อาคารสำนักงานรัฐบาลตั้งอยู่ในย่านดาวน์ทาวน์กรุงออสโล เหตุระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คนบาดเจ็บอย่างน้อย 11 คน

          อีก 1-2 ชั่วโมงต่อมา มีคนร้ายปลอมตัวเป็นตำรวจบุกเข้าไปที่ค่ายเยาวชนบนเกาะอูโทย่า อยู่ห่างจากกรุงออสโล่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 35 กิโลเมตร ขณะนั้นมีเยาวชนเข้าร่วมเข้าค่ายฤดูร้อนหลายร้อยคน คนร้ายในชุดตำรวจเริ่มกราดยิงใส่เด็ก ๆ บนเกาะ ทำให้เด็ก ๆ จำนวนมากพากันว่ายน้ำหนีตายออกจากเกาะ แต่คนร้ายก็ยังคงกราดยิงไล่ตามลงไปในน้ำ พยานคนหนึ่งกล่าวว่าคนร้ายสั่งให้เยาวชนเดินเข้าไปใกล้ก่อนที่จะชักปืนกลออกมาจากถุงก่อนกราดยิงเข้าใส่ฝูงชน ซึ่งหลายคนแกล้งทำเป็นตายเพื่อเอาตัวรอด แต่แล้วคนร้ายก็ชักปืนพกอีกกระบอกขึ้นมายิงเข้าใส่ศีรษะเหยื่อหลายคนซ้ำ

          ช่วงแรกตำรวจรายงานมีผู้เสียชีวิตราว 10 คน แต่พอเข้าไปตรวจค้นอย่างละเอียดได้พบเพิ่มอีกอย่างน้อย 80 คนแล้ว แต่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีก ส่วนบาดเจ็บไม่สามารถคาดคะเนได้

          ล่าสุดได้จับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้วเป็นชายสัญชาตินอร์เวย์วัย 32 ปีชื่อนายแอนเดอร์ส เบห์ริง เบร์วิค ผมทองตาสีฟ้า ตำรวจเข้าไปตรวจค้นที่อพาร์ทเม้นต์ผู้ต้องสงสัยในกรุงออสโล่ ทำให้เชื่อว่าเหตุโจมตีทั้งสองครั้งน่าจะเป็นฝีมือของเบร์วิคเพียงคนเดียว ที่แปลกคือเขามีประวัติอาชญากรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรก่อการร้ายข้ามชาติ เหตุจูงใจไม่แน่ชัด

          เหตุการณทั้งสองทำให้ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดพุ่งเกือบร้อยคน นับว่ารุนแรงที่สุดของชาติยุโรปตะวันตกในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่เหตุระเบิดรถไฟที่กรุงมาดริดของสเปนในปี 2004 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 191 คน

           มหาอำนาจทั่งโลกออกมาประณามเหตุการณ์นี้อย่างรุนแรง เจ้าโลกอย่างสหรัฐอเมริกาประกาศให้ความช่วยเหลือนอร์เวย์ทุกเรื่อง ผู้เขียนก็หมายรวมเอาว่าการใช้ความรุนแรงด้วย

          เราไม่อาจวิเคราะห์สภาพจิตใจของผู้ก่อการร้ายได้ว่าเป็นอย่างไร อะไรในอดีตเกิดขึ้นกับเขาจนส่งผลให้ก่อเหตุนี้ขึ้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศนี้มีสวัสดิการดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประวัติศาสตร์ของชายคนนั้นเป็นอย่างไร อาจารย์พุฒวิทย์ บุนนาค ประจำภาควิชาได้ให้ความหมายของแรงผลักดันทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อการกระทำของมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

           “ประวัติศาสตร์นั้นเป็นผลของพลังผลักดันสองประเภทที่มีบทบาทเกี่ยวพันกัน พลังผลักดันประเภทแรกคือมาจากสภาพแวดล้อม ภายนอก ตัวมนุษย์ ส่วนประเภทที่สองคือพลังกระทำที่อยู่ในจิตใจ (spirit) ของมนุษย์แต่ละคน ซึ่งมีอยู่หลากหลายแบบแตกต่างกัน เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนไม่ได้มีจิตใจแบบเดียวกัน ดังนั้น หากจะเข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติหรือสังคมหนึ่งๆ สิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาก็จะต้องมีทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสังคม และสภาพแวดล้อมอันเกิดจากพลังทางจิตใจของคนในสังคมนั้นด้วย โดยแฮร์เดอร์ [Herder, J. G. 1800. Outlines of a Philosophy of the History of Man. Trans. T. O. Churchill, abridged F. C. Manuel. London: University of Chicago Press, 1968.] เชื่อว่าสภาพแวดล้อมประการหลังจะสะท้อนอยู่ในบรรดาความประพฤติและการกระทำของคนในสังคมนั้น ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าวนี้ต้องคำนึงถึงความพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างสภาพแวดล้อมทั้งสองประการเสมอ”

          การเรียนประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องน่ากลัวสำรับผู้เขียนเสียแล้ว “เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วม” ของคานธี อาจใช้ไม่ได้กับสังคมโลกหรือกับมวลมนุษยชาติอีกต่อไป

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป. http://www.philospedia.net/philosophyofhistory.html.

 

ครอบครัวข่าวสาม. http://www.krobkruakao.com/ข่าว/41548/ระเบิดใกล้ที่ทำการรัฐบาล-และกราดยิงที่นอรเวย์.html.

 

กรุงเทพธุรกิจ. http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20110723/401411/นอร์เวย์ระส่ำทั้งระเบิด-กราดยิงตาย17.html

คำสำคัญ (Tags): #นอร์เวย์
หมายเลขบันทึก: 450526เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท