กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๒๒) : การยกคุณภาพชั้นเรียน ตอนที่ ๒


 

Prof. Masami ISODA จาก University of Tsukuba จากประเทศญี่ปุ่น เล่าถึงแนวคิดที่จะทำความเข้าใจหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ ระดับ ป.๑ – ป.๖ ชุดใหม่ล่าสุด Study with Your Friends MATHEMATICS for Elementary School (new edition), Gakko Tosho Textbook ที่ญี่ปุ่นเริ่มใช้เมื่อปีการศึกษานี้ว่าพัฒนามาจาก

-         แนวคิดเดิมของญี่ปุ่น

-         แนวคิดที่อาจารย์ไมตรีกล่าวถึง

-         แนวคิดที่ได้มาจากประสบการณ์จากการปฏิบัติของครู

 

อาจารย์ ISODA เน้นว่า คณิตศาสตร์ คือ การสื่อสารความคิด และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความยากของคณิตศาสตร์อยู่ที่การอธิบายวิธีคิดออกมาให้ชัดเจนว่าใครคิดอย่างไร ส่วนความยุ่งยากของครูผู้สอนคณิตศาสตร์อยู่ที่ไม่รู้ว่าจะพัฒนาตัวเองไปทางไหน

 

ครูคณิตศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนการสอน (teaching approach)

 

เด็กจะเปลี่ยนแปลงได้ ครูต้องสร้างชุมชนของการเรียนรู้ (learning community)  และเปิดพื้นที่เรียนรู้ขึ้นในชั้นเรียน ด้วยทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยยกระดับความรู้ให้กับผู้เรียน โดยมีหนังสือเรียนที่ออกแบบไว้อย่างดีเป็นบันได

 

หนังสือเรียนญี่ปุ่นเป็นหนังสือเรียนที่มีโครงสร้าง และความคงที่ของเนื้อหามากที่สุด และออกแบบมาเพื่อให้ครูคิดได้ชัดเจนเกี่ยวกับการวางแผนการเรียนรู้

 

จากผลการวิจัยพบว่า เมื่อใช้กระบวนการ Lesson Study ร่วมกับการใช้หนังสือที่ออกแบบมาเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจะปรากฏชัดเจนกว่าการใช้กระบวนการ Lesson Study เพียงอย่างเดียว หรือใช้กระบวนการเรียนรู้แบบเดิม (Lecture Style) เพียงอย่างเดียว

 

นวัตกรรม  Lesson Study และ Open Approach ในวิชาคณิตศาสตร์เป็นกระบวนการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเรียนรู้ในวิชาอื่นด้วย เพราะการเรียนรู้ในรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้เรียน

  • เรียนรู้วิธีที่จะเรียนรู้
  • มีวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

ที่สำคัญคือ การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จากการที่ครูเปลี่ยนแปลง teaching approach และ content ที่เป็นปัจจัยในการพัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นไปในทิศทางของ Open Approach

 

คำอธิบายสำคัญเหนือกว่าคำตอบ

 

ครูต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ในการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่ให้นักเรียนเรียนรู้วิธีที่จะเรียนรู้ และมีวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง  การสร้างคำอธิบายสำคัญเหนือกว่าคำตอบเพราะคำอธิบายของนักเรียนนั่นเอง ที่จะทำให้ครูได้รู้ว่าเขาเข้าใจในแนวคิดของเรื่องที่เรียนจริงหรือไม่ เช่น ในการเรียนเรื่องเศษส่วน ผู้เรียนตอบจากความเข้าใจในแนวคิดของเศษส่วนจริงๆ หรือได้คำตอบมาจากการนับ

 

การพัฒนาแนวคิดของนักเรียน คือ เรื่องที่สำคัญที่สุด เขาต้องการการเตรียมวิธีคิดอย่างเป็นลำดับขั้น เพื่อเข้าถึงการเรียนรู้แนวคิดของเรื่องนั้นๆ อย่างกระจ่าง ตัวอย่างเช่นถ้าจะให้เรียนรู้เรื่อง proportional line ในชั้น ป.๖  ครูต้องเตรียมนักเรียนมาอย่างไรตั้งแต่ชั้น ป.๑ – ป.๕ เพื่อให้ผู้เรียนค่อยๆ เกิดความเข้าใจที่จำเป็นต่อแนวคิดของเรื่องนี้ขึ้นทีละน้อย

 

เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนสามารถเรียนได้รู้ด้วยตัวเอง  ในหนังสือของชั้น ป. ๖ จะมีคำถามให้นักเรียนตอบว่า

  • สิ่งที่รู้แล้วคืออะไร
  • สิ่งที่ต้องการรู้คืออะไร
  • เขียนสิ่งที่รู้แล้วลงในช่องว่าง และคำนวณหาคำตอบ

 

การเรียนรู้ในลักษณะนี้ เป็นการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ ที่เน้นกระบวนการคิด ไม่ใช่คำตอบ

 

สิ่งที่ครูควรทำความเข้าใจ

  • ทำความเข้าใจเบื้องหลังการออกแบบบทเรียนในหนังสือ
  • เข้าใจหนังสือเรียน และที่มาของกิจกรรม ตลอดจนจำนวนตัวเลขที่นำมาสร้างโจทย์ปัญหา
  • ในการเรียนรู้แบบนี้ผู้เรียนจะสนุกมาก และจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าครูที่มักสอนวิธีทำเป็นส่วนใหญ่
  • การเรียนรู้จะเกิดขึ้นมากในช่วงของการสะท้อนคิด
  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะช่วยให้เกิดการปะติดปะต่อความเข้าใจ
  • การ “รู้จักเด็ก” สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราไม่รู้จักเขา เราจะแก้ข้อติดขัดในการเรียนรู้ของเขาไม่ได้

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 450245เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2013 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท