บัวใหญ่ ชุมชนจัดการตนเอง


ผมอดดีใจไม่ได้ที่เห็นปฏิบัติการใหญ่ที่ประชาชนลุกขึ้นมาประกาศต่อสาธารณะว่าชุมชนนี้เป็น “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” ซึ่งนี่คือปฏิบัติการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งยิ่งใหญ่นั่นเอง

ข้อเสนอสำคัญของสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ คือ  “ปฏิรูปประเทศไทย ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”  ซึ่งสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ และมติสมัชชาปฎิรูปประเทศไทย ครั้งที่ ๑ ที่มีฉันทามติให้ทุกภาคส่วนเร่งรัด “นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเอง” เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นทุกแห่งมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยใช้ทุนที่มีอยู่โดยอาศัยทุนจากภายนอกน้อยที่สุด

ความคิดดังกล่าว หากฟังดูแล้วบางคนอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมีชุมชนหลายแห่งกำลังพัฒนาไปสู่จุดนั้น ซึ่งตัวอย่างหนึ่งในหลายหลายกรณีเกิดขึ้นที่ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

รูปธรรมหนึ่งที่บัวใหญ่นำมาใช้คือ การจัดให้มีแผนแม่บทชุมชนเพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานขององค์กร หน่วยงานและประชาชนในตำบล โดยชาวบ้านที่นั้นเรียกแผนที่เขาช่วยกันจัดทำขึ้นมาว่า  “แผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตำบลบัวใหญ่” ฟังดูเข้าท่าทีเดียว

ตำบลบัวใหญ่ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉะนั้น ปัญหาหลักของที่นี่คือความไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน เพราะมีแปลงที่ดินทำกินกว่าหนึ่งในห้าตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อาชีพที่ทำก็เป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่ปลูกข้าวโพดเป็นหลักทำให้ดิน น้ำ ป่าเสื่อมโทรม

กระบวนการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นของตำบลบัวใหญ่เริ่มต้นอย่างจริงจัง หลังจากมีการนำระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS มาใช้จัดทำฐานข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ ของตำบลอย่างละเอียด แล้วเชิญชวนผู้นำชุมชนมาร่วมเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยกลไกหลักที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ก็คือ สภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ จนในที่สุดก็ได้แผนแม่บทชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ฑิฆัมพร กองสอน ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ เล่าให้ผมฟังว่า กว่าจะออกมาเป็นแผนฉบับนี้ ได้เพียรพยายามมาปีเศษ โดยเริ่มที่การรวมคนที่สนใจแล้วมาสร้างความเข้าใจจนเกิดทีมทำงาน ช่วยกันวิเคราะห์ทุนในพื้นที่รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของตำบล รวมทั้งรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ในทุกมิติ จัดเวทีแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในทุกหมู่บ้าน แล้วนำปัญหาและความต้องการมายกร่างเป็นแผน แล้วจัดสมัชชาเชิญชวนคนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการและแกนนำชุมชนมาร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผน แล้วจึงประกาศใช้แผน

“โครงสร้างพื้นฐานดี วิถีชีวิตพอเพียง มีเงินออม ใส่ใจวัฒนธรรมและการศึกษา ร่วมสร้างสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม” คือวิสัยทัศน์ที่ปรากฏอยู่ในแผน มี ๖ ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคน พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการสร้างสุข มีกลไกขับเคลื่อนแผนคือ บวรส. หรือ บ้าน (ท้องที่ ท้องถิ่น สภาและประชาชน) วัด (พระสงฆ์) โรงเรียน (ครู นักเรียน) และหน่วยงานสาธารณสุข (หมอ อสม.)

ภายใต้ยุทธศาสตร์แต่ละด้าน จะมีรายละเอียดกิจกรรมโครงการรองรับ ซึ่งมีโครงการที่ดำเนินในทุกด้านรวมทั้งสิ้น ๑๑๓ โครงการ และได้จำแนกแยกแยะไว้อย่างชัดเจนว่าแต่ละโครงการมีใครบ้างที่รับผิดชอบ

และเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ได้จัดให้มีเวทีประกาศใช้แผนอย่างเป็นทางการท่ามกลางสายฝนโปรยปราย  ในวันนั้นมีผู้ว่าราชการจังหวัดน่านมาเป็นประธาน และที่สำคัญก็คือมีผู้คนที่ทำงานในตำบลจากทุกหน่วยทุกภาคมาร่วมในงานอย่างคับคั่งและรับว่าจะนำแผนนั้นไปปฎิบัติตามภารกิจของตน

ผมยังทราบอีกว่ายังมีตำบลอีกอย่างน้อย ๑๕๒ ตำบล จากทุกจังหวัด อาสาลุกขึ้นมาดำเนินการตามแบบที่ชาวบัวใหญ่กำลังดำเนินการอยู่

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมงานครั้งนี้ อดดีใจไม่ได้ที่เห็นปฏิบัติการใหญ่ที่ประชาชนลุกขึ้นมาประกาศต่อสาธารณะว่าชุมชนนี้เป็น “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” ซึ่งนี่คือปฏิบัติการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งยิ่งใหญ่นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 449820เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท