นักวิชาการสายรับใช้สังคมไทย : เปิดหน้าบ้านไว้ให้ "บริการ..."


นักวิชาการสายรับใช้สังคมไทย คือ นักวิชาการที่จิตสำนักที่จะ “รับใช้” บุคคลอื่น

การรับใช้บุคคลอื่น ซึ่งในที่นี่คือ “ประชาชน” นั้น นักวิชาการสามารถรับใช้ได้ทั้งแนวรับ และ แนวรุก

 

การรับใช้แนวรับ คือ การเตรียมตนเองให้ดี การเตรียมสถานที่ของตนเองให้พร้อม เพื่อที่จะรับใช้ เพื่อที่จะให้ “บริการประชาชน”
การให้บริการประชาชนแนวรับนั้น หน่วยงานหรือองค์กรที่นักวิชาการสังกัดอยู่นั้น จะต้องเปิดองค์กรแบบเปิด คือ มีหน้าบ้านที่เปิดต้อนรับประชาชนเสมอ

 

แต่เดิม หลายหน่วยงานมีหน้าที่ให้บริการประชาชน แต่บ้านปิด หน้าบ้านแคบ ประชาชนเข้ามาติดต่อยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่แล้วมีหน้าบ้านที่เปิดต้อนรับเฉพาะนักศึกษา คือ คณะฯ มีห้องเรียน มีเจ้าหน้าที่บุคลากรไว้คอยบริการนักเรียน นักศึกษา
ซึ่งถ้าเราจะเพิ่มบทบาทหรือภาระกิจการรับใช้สังคมให้มากขึ้น เราจำเป็นที่จะต้องมีหน้าบ้านไว้สำหรับต้อนประชาชนทั่วไปด้วย

อาทิ พี่น้องประชาชนบ้านเรามีอาชีพเกษตรกรรม ถ้าหากวันหนึ่ง เขาต้องการอยากได้ อยากรู้ ส่วนประกอบทางเคมีของข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ที่เขาทดลองปลูกเองด้วยปุ๋ย หรือสารเคมีต่างชนิดกัน เขาก็สามารถถือตัวอย่างข้าว หรือวัตถุดิบนั้น เข้ามาหาอาจารย์ มาหานักวิชาการ ให้ช่วยวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของสารอาหารแต่ละชนิดให้ได้ 

 

หรือจะเป็นคณะฯ วิชาทางด้านบริหารธุรกิจ การตลาด นิเทศน์ศาสตร์ ที่มีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญทางด้าน “วิสาหกิจชุมชน” ก็จะต้องมีหน้าบ้านที่ติดต่อง่ายไว้ต้อนรับผู้ประกอบการชุมชนหน้าใหม่  ไฟแรง ที่ต้องการหลักการ ความรู้ ทฤษฎีไปใช้กับวิสาหกิจชุมชนของตนเอง

หากเรามองย้อนกลับเข้าไปในมหาวิทยาลัย ถ้าเราเป็นเกษตรกรคนหนึ่งซึ่งมีความต้องการความรู้สองเรื่องดังกล่าวข้างต้น เราจะไปติดต่อใคร เจ้าหน้าที่คนใดจะเชื่อมโยงให้เขาไปหาคนที่มีความรู้และพร้อมที่จะ “รับใช้สังคม” ได้

 

วันนี้งานวิจัยของเราส่วนใหญ่มักจะทำเมื่อเราพร้อม คือ เรานัดทีมงานลงไปในชุมชนวันนั้น วันนี้ เตรียมเครื่องมือ เตรียมอุปกรณ์ไป แล้วเราก็ไปนัดพี่น้องในชุมชนว่าให้มาวันนี้ วันนั้นนะ บางครั้งเขาก็ไม่รู้ว่าจะให้มาทำอะไร ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนบอกให้มาก็มา
การนัดประชุมแบบนี้จำเป็นต้องมีการสานต่อ โดยการจัดตั้งแผนงานแนวรับ คือ ต้องพร้อมเสมอหากพี่น้องในชุมชนที่เราไปจั่วหัวงานวิชาการไว้แล้ว เขาต้องการความรู้ ต้องการทำงานต่อ เขามาหาเราที่มหาวิทยาลัย เขาจะติดต่อเราได้ที่ไหน หน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบติดต่อประสานงานให้เรา

จะปล่อยให้เขาเด๋อ ๆ ด๋า ๆ เดินเคว้งคว้างอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยไม่รู้ทิศรู้ทางว่าจะไปไหนคงจะไม่ดี
เฉกเช่นเดียวกัน ตอนเราลงไปชุมชน เรานัดเขา ให้เรามา ถ้าวันหน้าเขามาหาเรา เราก็ต้องพร้อมที่จะต้อนรับเขา

เพราะถ้าเขาต้องการความรู้แล้ว มาแล้วไม่ได้รับการต้อนรับที่ดี เขาจะเข็ด ไม่มาอีก อารมณ์ที่กำลังกระหายความรู้นั้น ก็จะกลายเป็นอาการเข็ดหลาบ

ในอดีต การติดต่อ เข้าหา เพื่อ “ขอ” หรือ “หา” ความรู้นั้น จะแบบเฉพาะบุคคล คือ ใครรู้จักอาจารย์คนใด ก็จะติดต่อโดยตรงกับอาจารย์คนนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้จักกันจากเวทีที่อาจารย์ไปทำงานวิจัย
ดังนั้น การให้บริการจึงเฉพาะเจาะจง กลุ่มเป้าหมายแคบ เราต้องเปิดหน้าบ้านให้พี่น้องประชาชนทุก ๆ คนในพื้นที่ ในจังหวัด ทั้งที่มหาวิทยาลัยได้ลงไปทำการวิจัย และไม่ได้ลงไปทำการวิจัยได้มีโอกาสหาความรู้ ตอบข้อสงสัยทางวิชาการ ตามความรู้ความสามารถทางวิชาการที่อาจารย์แต่ละคน แต่ละท่านได้ศึกษาหาความรู้มา

หรือบางครั้งอาจารย์ที่เคยลงไปทำการวิจัยงานยุ่ง สอนหนังสือ ติดประชุม ก็จะต้องมีคนรับหน้า ประสานงาน

หน้าที่ “รับใช้” ให้บริการ จึงเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน ทุก ๆ ท่านในมหาวิทยาลัย
เห็นใครหน้าตาแปลก ๆ เข้ามา ไม่ได้แต่งชุดนักศึกษาก็ต้อง “ต้อนรับ”
เพราะเขาอาจจะเป็นพี่น้องที่คณาอาจารย์ของเราไปสัญญิงสัญญากับเขาว่า ว่าจะ “รับใช้” ทางวิชาการกับเขา

เราต้องทำบ้านของเราให้น่าเข้า น่าสนใจที่จะเข้ามาติดต่อหาความรู้ได้ตลอดเวลา
เพราะมหาวิทยาลัยคือ สถานที่ยิ่งใหญ่ของการศึกษา
ดังนั้น ทุก ๆ คนจึงมีโอกาสที่จะเข้ามาไขว่คว้าหาความรู้ได้
เตรียมหน้าบ้านไว้ต้อนรับทุกคน เตรียมเจ้าหน้าที่ บุคลากรทุก ๆ คนเพื่อ “รับใช้สังคมไทย...”


ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ
16 กรกฎาคม 2554

หมายเลขบันทึก: 449658เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2011 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท