อานิสงส์การบูชาพระธาตุเจดีย์


อานิสงส์การบูชาพระธาตุเจดีย์

อานิสงส์  คือ ผลที่จะได้รับหลังจากได้กระทำสิ่งนั้นๆ แล้ว  โดยจะใช้คำนี้ในด้านดี

พระธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ  ความหมายของพระธาตุนั้น ก็คงพอจะเข้าใจอยู่บ้าง กล่าวคือ  พระบรมสารีริกธาตุ  หมายถึงพระธาตุของพระพุทธเจ้า  ส่วน พระธาตุ  หมายถึง  พระธาตุ หรือ อัฏฐิธาตุของ อรหันตขีณาสพ  ผู้สิ้นกิเลสแล้ว

       พุทธศาสนิกชนจะนิยมประกอบพิธีบูชาพระธาตุเจดีย์ และไหว้พระธาตุเจดีย์  โดยมีคติความเชื่อว่า  เป็นสถานที่ที่เป็นสิริมงคล (ศักดิ์สิทธิ์)  ดลบันดาลสิ่งที่ต้องการปรารถนาได้ตามต้องการ  โดยมีความเคารพเป็นที่ตั้ง  มีความศรัทธาต่อพระธาตุเจดีย์นั้นๆ เป็นอย่างงดีอยู่แล้ว  เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์  ของการได้บูชาพระธาตุเจดีย์  ก็มีหลักฐานปรากฎในหลายที่หลายแห่งตามคัมภีร์ต่างๆ  ในบล็อคนี้ก็จะได้นำเอาอานิสงส์ มากล่าวไว้  ตามปรากฎในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี  ว่า

        "จตุนฺนํปิ  จ  ทีปานํ     อิสฺสรํ  โยธ  การเย

          เอติสฺสา  ปูชนาเยตํ   กลํ  นาคฺฆติ  โสฬสํ"

          แปลความว่า  "ผู้ใด  พึงครองความเป็นใหญ่แห่งทวีปทั้ง ๔  ในโลกนี้

ทรัพย์ทั้งสิ้น ของผู้นั้น  ยังไม่ถึงสิ้วที่ ๑๖ แห่งการบูชาพระธาตุนั้น"

          มีเรื่องเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า  มีกุลบุตรคนหนึ่ง ได้สั่งสมบุญกรรมไว้ก่อน  พอมาถึงสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ในขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่  เขาไม่อาจที่จะได้ขวนขวายบุญแม้แต่อย่างเดียว กระทั่งพอพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว  ประชาชนกำลังก่อสร้างพระเจดีย์บรรจุพระธาตุ  เขาได้เกิดศรัทธาและได้นำปูนขาว  มาร่วมสร้างพระธาตุไว้กับเขาด้วยเช่นกัน ภายหลังมาเขาได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้วจึงออกบวช และบรรลุพระอรหัตต์ในที่สุด จากท่านก็ได้เที่ยวสั่งสอนอย่างมากมาย  หนึ่งในคำสอนเหล่านั้น  ท่านได้เจียรไนถึงผลแห่งการบูชาที่ได้เคยทำมาก่อน ดังที่ปราฎเป็นภาษาบาลีเบื้องต้นแล้ว

        มีอธิบายที่น่าสนใจและนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกหน่อยหนึ่งว่า  คำว่า  "เอติสฺสา  ปูชนาเยตํ"  ปูชนาเยตํ แยกศัพท์เป็น ปูชนาย+เอตํ  เอตํ  ศัพท์นี้ ในอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมว่า  เอตํ  สกลชมฺพูทีเป  สตฺตรนาทิกํ  สกลํ  ธนํ แปลว่า  ทรัพย์ทั้งสิ้น  มีรัตนะ ๗ ประการเป็นต้น  ในชมพูทวีปทั้งสิ้น นั่น  ทรัพย์ที่กล่าวนี้ ก็เป็นของผู้ที่ครองความเป็นใหญ่ทั้ง ๔ ทวีป (จตุนฺนํปิ  จ ทีปานํ  อิสฺสรํ  โยธ การเย) ดังนั้น จึงมีสมบัติมากมายขนาดนั้น  แต่สมบัติเหล่านั้น  ยังไม่ถึงสิ้วที่ ๑๖ ของการบูชาที่ได้บูชาพระธาตุเจดีย์นั้น (เอติสฺสา ปูชนาย)

        คำว่า  "สิ้ว" คือ ไม่ถึงส่วนที่ ๑๖  ที่แบ่งแล้วแบ่งอีกถึง ๑๖ ครั้ง ๑๖ หน  (โสฬสวาเร  โสฬสกฺขตฺตุง วิภตฺตสฺส โสฬสมโกฏฺฐสฺส  น  อคฺฆติ)  ในบาลีท่านใช้คำว่า  "กลํ"  ท่านขยายความด้วยคำว่า "โกฏฺฐ" ซึ่งแปลว่า "ส่วน"  นั่นก็หมายความว่า  สมบัติที่มีอยู่ทั้ง ๔ ทวีป เมื่อแบ่งถึง ๑๖ ส่วนของสมบัติทั้งหมด  ท่านยังกล่าวว่า  เจติเย กตปูชาย....น  อคฺฆติ  ย่อมไม่ถึงค่า แห่งการบูชานั้น

      แสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ของการบูชาพระธาตุเจดีย์ว่ามีอานิสงส์มากแค่ไหน โดยการเปรียบเทียบอย่างชัดเจนตามที่ปรากฎที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 449262เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 04:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท