เกิดอะไร..ในวันอาสาฬหบูชา


เกิดอะไร..ในวันอาสาฬหบูชา

 

  ท่านสาธุชนทั้งหลาย วันศุกร์ที่ ๑๕ กรกฎาคมนี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งที่เวียนผ่านมาเป็นประจำทุกปี คือเป็นวันอาสาฬหบูชา  ถัดจากวันอาสาฬหบูชามาก็เป็นวันเข้าพรรษา  ซึ่งในวันอาสาฬหบูชานี้ ก็เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่ามีความสำคัญโดยสรุป ๓ ประการ คือ

 

๑.     เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงธรรมเป็นครั้งแรก  

๒.   เป็นวันที่มีพระอริยสงฆ์สาวกเกิดขึ้นในโลกเป็นรูปแรก 

๓.    เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยสมบูรณ์ คือ ครบสามรัตนะ

 

ในวันอาสาฬหบูชานี้ก็มีสิ่งที่จะต้องศึกษาอยู่ คือในส่วนของประวัติพระอัญญาโกณฑัญญะ ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์ เป็นผู้รับฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก แล้วได้มีปัญญารู้เห็นตามเป็นจริงตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนาเป็นพระอริยสงฆ์สาวกรูปแรกในศาสนา  และในเรื่องใจความของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรบ้าง  

พระอัญญาโกณฑัญญะผู้นี้ เดิมทีท่านเป็นพราหมณ์ที่เคยรับเลือกเข้าไปทำนายพระลักษณะ ของพระกุมาร เมื่อคราวประสูติได้ ๕ วัน ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์  มีความรู้แตกฉานในไตรเภทรู้ลักษณะมนต์ จนได้รับเชิญให้ไปฉันในพระราชวัง และได้รับเลือกให้เข้าไปทำนายพระลักษณะ เป็นคนที่แปดในจำนวนที่ได้รับเลือก  พราหมณ์ ๗ คนเบื้องต้น ทำนายพระลักษณะพระกุมารมีคติเป็น ๒ คือ 

๑.ถ้าอยู่ครองฆราวาสวิสัย จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 

๒.ถ้าเสด็จออกผนวชจักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก

 

   ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่ม ทำนายมีคติเดียวว่า “พระกุมาร  เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษพุทธลักษณะ บุคคลผู้เช่นนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ครองฆราวาสวิสัย จักต้องออกบวชแน่นอน และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า” 

            ปรากฏว่าคำทำนายของโกณฑัญญะ เป็นความจริงในกาลต่อมา ในช่วงแรกแห่งการออกผนวชหลังจากลาจากสำนักอาจารย์อาฬารดาบส และอุทกดาบส พระมหาบุรุษสิทธัตถะ  ในขณะที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่นั้น โกณฑัญญะพราหมณ์ได้ทราบ จึงชวนพราหมณ์ ได้ เพื่อน อีก ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ รวมเป็น ๕ ซึ่งในกาลต่อมาเรียกว่า “ปัญจวัคคีย์” (ปญฺจ+วคฺค) พากันออกบวชติดตามพระมหาบุรุษสิทธัตถะ คอยเฝ้าปรนนิบัติ ด้วยความหวังว่า เมื่อพระมหาบุรุษได้บรรลุธรรมแล้ว จักนำธรรมนั้นมาสั่งสอนพวกตนบ้าง ในตอนที่พระมหาบุรุษกำลังบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่นั่น พวกปัญจวัคคีย์ก็เข้าใจว่า อีกไม่ช้านานคงจักต้องบรรลุธรรมเป็นแน่แท้ ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้น มีความเชื่อมั่นว่าการที่หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้ ก็คือต้องทรมานร่างกายอย่างเดียว (อตฺตกิลมถานุโยค)

 

 

    เมื่อพระมหาบุรุษได้ทดลองบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้ว ก็ทรงเห็นว่า วิธีนี้ ไม่เป็นประโยชน์เลย (อนตฺสญฺหิโต) ไม่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้น (อนริโย) เป็นการทรมานร่างกายให้ลำบากเฉยๆ(ทุกฺโข)  ก็เลยเลิกละ แล้วหันมาบำเพ็ญทางจิต กลับมาเสวยพระอาหารเพื่อให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงในการบำเพ็ญเพียรต่อไป ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าพระองค์คลายความเพียร เวียนมาสู่ความเป็นคนมักมากเสียแล้ว จึงละเสียจากพระองค์ ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี 

 

 

   เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยพระทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระกรุณา จึงทรงดำริหาคนที่จะรับพระธรรมเทศนา ก็ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ที่เคยอยู่อุปัฏฐาก จึงเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  (ป่าเป็นที่ให้อภัยทานแก่พวกเนื้อ กวาง เป็นที่อยู่ของฤษี....ระยะทางจากสถานที่ตรัสรู้ คือที่พุทธคยา กับพาราณสี ผู้ที่เคยไปอินเดียเขาว่าไกลกันพอสมควร นั่งรถไฟก็หลายชั่วโมงอยู่  แต่พระพุทธเจ้าใช้เวลาในการเสด็จไป ประมาณ ๑๑-๑๒ วัน คือ ตรัสรู้เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ แสดงธรรมเมื่อวันเพ็ญเดือน ๘ จากเดือน ๖ มาถึงเดือน ๘ ก็เป็นเวลา ๒ เดือน คือประมาณ ๖๐-๖๒ วัน และตรัสรู้แล้วก็ไม่ได้ด่วนเสด็จมาเลย ท่านว่าหลังจากตรัสรู้แล้ว ทรงประทับยับยั้งเสวยวิมุตติสุขอยู่ ๗ สัปดาห์ ก็เป็นเวลา ๔๙ วัน หลังจากนั้นก็ค่อยเสด็จไป ในระหว่างที่เสด็จก็ได้พบตปุสสะ-ภัลลิกะ และอุปกาชีวก)

 

 

   ทีแรกปัญจวัคคีย์ ได้เห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล พากันนัดหมายว่าจะไม่ต้อนรับ แต่เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงจริงๆ  ก็ลืมกติกาที่นัดกันไว้  แต่ยังใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม โดยเรียกออกนามของพระองค์ และใช้คำว่าอาวุโส (อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เป็นคำคู่กันกับคำว่า ภันเต  คำทั้งสองคำนี้ เป็นคำที่นักบวชใช้กัน แม้ในทางพระพุทธศาสนาก็รับเอาคำนี้มาใช้เช่นกัน แต่ความหมายเดิม อาวุโส ใช้กับคนที่มีอายุยังน้อย ส่วน ภันเต นั้นใช้กับนักบวชที่มีอายุพรรษากาลมาก แปลว่า ผู้เจริญ ส่วนคำว่า อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ คำว่ามีอายุในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เกิดมานาน เป็นคนแก่ แต่หมายถึง ผู้น้อย ยังใหม่ ยังหนุ่มอยู่ ยังมีเวลาของชีวิตอีกมาก คนไทยเรานำคำนี้มาใช้โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปและเสียง แต่เปลี่ยนความหมายเขาใหม่ ก็เลยหมายถึง เป็นคนแก่มีอายุ ปัจจุบันคำนี้เมื่อทำวินัยกรรม สังฆกรรม  พระสงฆ์เราก็ใช้กันอยู่ แต่บางทีก็ไม่เข้าใจก็มี)

 พระองค์ก็เลยตรัสห้าม และตรัสบอกว่าได้ตรัสรู้อมฤตธรรมแล้ว แต่ก็ถูกปัญจวัคคีย์คัดค้านอยู่ตั้ง ๓ ครั้ง พระองค์จึงตรัสเตือนอีกว่า ท่านทั้งหลายเคยอยู่กับตถาคตมานาน เคยได้ยินตถาคตพูดคำนี้บ้างหรือไม่ ในที่สุดก็ได้สติยอมรับฟัง พระองค์จึงแสดงปฐมเทศนา (เทศนากัณฑ์แรก) ประกาศสัมมาสัมโพธิญาณ ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุ ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ใจความของธรรมจักร ในตอนแรกทรงแสดงว่า ทางสองสายที่บรรพชิต หรือผู้ที่หวังความเจริญในพระพุทธศาสนา ไม่ควรเข้าไปข้องแวะ ไม่ควรปฏิบัติ คือ

 

๑.     กามสุขลฺลิกานุโยค –การประกอบตนพัวพันอยู่ในกาม ก็คือการหมกมุ่น ติดอยู่ ในเบญจกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากจนเกินไป เพราะ เป็นเรื่องของชาวบ้าน ผู้มีกิเลสหนาเขาทำกัน ไม่ใช่หนทางของผู้ออกจากกิเลส ไม่ประเสริฐ เป็นทางที่ไม่ดี เป็นทางปฏิบัติที่ย่อหย่อน เทียบได้กับสายพิณสายที่หย่อนจนเกินไป เสียงไม่ไพเราะ

๒.   อตฺตกิลมถานุโยค –การทรมานร่างกายของตนเองให้ลำบาก เป็นปฏิบัติที่ตึงจนเกินไป ไม่มีประโยชน์ เป็นเหตุให้ร่างกายได้รับความทุกข์ เทียบได้กับสายพิณสายที่ขึงจนตึงเกินไป เสียงไม่พอดี มีแนวโน้มว่าจะขาด

 

   ทั้งสองอย่างนี้ แรกทีเดียวตรัสกับนักบวชผู้หวังความหลุดพ้น เราท่านทั้งหลายอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวก็จริงอยู่ แต่เมื่อนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็ไม่ผิด เพราะชีวิตของคนเราบางทีก็ติดอยู่ในสิ่งแวดล้อม  คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากจนเกินไป จนเป็นทุกข์ไปกับสิ่งนี้ก็มีมากมาย สำหรับฆราวาสเรา เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ในเมื่อทุกคนจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้อง ก็พิจารณาด้วยความเป็นผู้มีสติปัญญารู้เท่าทัน ไม่หมกมุ่นจนเกินไป ให้มีความพอเหมาะพอดี และก็ไม่เบียดเบียนตนเองจนถึงกับทำอะไรไม่ได้เลย นี่ก็ไม่ใช่ คือให้ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา รู้และเข้าใจในโลกและชีวิต ไม่ย่อหย่อนเหลวไหลจนเกินไป และไม่ตึงจนเกินไป คือทรงสอนให้ดำเนินตามทางสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา”  ทางสายกลางนี่แหละเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจ

 

   การปฏิบัติตามหลักทางสายกลางก็คือ ปฏิบัติไปตามหลักมรรค ๘ (หนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์) เริ่มต้นตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ จนกระทั่งถึง สัมมาสมาธิ ถ้าถือตามหลักมรรค ๘ นี้เบื้องต้นต้องปรับความเข้าใจให้ถูกต้องก่อน คือจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน ในการทำสิ่งใดก็ตามถ้าหากมีความข้าใจในเบื้องต้นถูกต้องแล้ว ก็ทำให้เรามีหลักปฏิบัติที่ดี ส่งผลให้มีการพูดการกระทำที่ดี แต่ถ้าหากมีความเข้าใจในเบื้องต้นที่ผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว ก็ส่งผลให้เกิดการพูดกระกระทำที่ผิด โดยสรุปมรรคทั้ง ๘ ก็คือไตรสิกขานั่นเอง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เมื่อปฏิบัติตามหลักมรรคแปด ท่านเรียงสัมมาทิฏฐิขึ้นก่อน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สองข้อนี้ เป็นตัวปัญญา ส่วน สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สามข้อนี้เป็นส่วนของศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สามข้อสุดท้ายนี้เป็นส่วนของสมาธิ ถ้าพิจารณาตามนี้ ก็คือ ปัญญา ศีล สมาธิ นั่นเอง  ในการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชนท่านให้ถือตามหลักไตรสิกขานี้ และเรื่องไตรสิกขาก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจและปฏิบัติ ในที่นี้จะไม่ขออธิบายให้ละเอียด

 

  กล่าวถึงปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ฟังธรรมเทศนากัณฑ์แรกจากพระพุทธเจ้าที่แสดงเรื่องโทษภัยของกามสุขัลลิกสนุโยคและอัตตกิลมาถานุโยค และทรงสอนให้ปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา จบลงที่อริยสัจ ๔ แล้ว โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์ก็ได้ธรรมจักษุ ว่า “ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา”   คือมีความรู้เห็นตามเป็นจริง เกิดปัญญาญาณขึ้นในดวงจิต บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นในพระศาสนา คือเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้แรกถึงกระแสแห่งพระนิพพาน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่าโกณฑัญญะพราหมณ์ได้เข้าใจในสิ่งที่พระองค์แสดงไป ก็ทรงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฑญฺโญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ” เพราะพระดำรัสนี้เอง คำว่า “อัญญา” ก็เลยกลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา

 

   เมื่อได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงทูลขอบวช พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระดำรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด” การบวชแบบนี้เรียกว่า “ เอหิภิกขุอุปสัมปทา”  พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้มีพระรัตนตรัยสมบูรณ์คือครบสามรัตนะ นี้คือความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา แต่เพียงโดยย่อ

  

   เมื่อวันสำคัญเช่นนี้ได้เวียนมาถึงแล้ว จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนได้แสดงออกถึงการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือไม่ทำบาป ทำความดี ทำใจของตนเองให้บริสุทธิ์ผ่องใส ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรมเทศนา และเวียนเทียน เพื่อเป็นการบูชาและระลึกถึงพระรัตนตรัย  อันจะเป็นมงคลเหตุที่จะนำชีวิตให้ดำเนินไปสู่สิ่งที่ดีงาม

 

   ท้ายที่สุดนี้ ขออ้างอิงเอาคุณพระศรีรัตนตรัย คือคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และคุณงามความดีที่ท่านผู้อ่านได้ประพฤติปฏิบัติ ขอจงมาเป็นพลวะปัจจัย สนับสนุนส่งเสริมให้เป็นผู้ที่มีแต่ความสุขความเจริญ ปรารถนาในสิ่งหนึ่งประการใด ที่ประกอบไปด้วยธรรม ขอความปรารถนาในสิ่งนั้น จงพลันสำเร็จสัมฤทธิ์ผล จงทุกประการเทอญฯ

หมายเลขบันทึก: 449112เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สาธุ วันี้ได้มาอ่านประวัติวันอาสาฬหบูชา ก็ถือว่า โชคดีเป็นบุญกุศลอย่างแรง ขอบคุณข้อมูลดีดี มีประโยชน์มากมาย สาธุ

  • กราบนมัสการค่ะ
  • แวะมาน้อนรับธรรมคำสอนเพื่อความเจริญในชีวิต
  • อนุโมทนาสาธุค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท