การวิจัย


การเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่สนใจ หรือ การศึกษา การหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ความอยากรู้อยากเห็น รวมถึงการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เป็นสิ่งที่มนุษย์อยากเรียนรู้และเอาชนะปัญหา อุปสรรคเหล่านั้นให้สำเร็จ วิธีที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น จะต้องทำการศึกษาและทดลอง อาจจะใช้เวลานานหลายปีก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่เราสนใจว่า มีรายละเอียดและข้อมูลอย่างไร สิ่งหนึ่งที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาประสบความสำเร็จได้ด้วยการวิจัยเป็นส่วนมาก การศึกษาถึงวธีการวิจัยจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการหาคำตอบ หรือ ผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ

การวิจัย จึงเป็นกระบวนการในการแสวงหาวิธีการ แนวทาง รูปแบบ หรือคำตอบ ที่ตรงกับความต้องการอย่างมีระบบ ระเบียบ และแบบแผน ทั้งกระบวนการ โดยใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและทันสมัยในกระบวนการนั้น กระบวนการวิจัยหากทำความเข้าใจแล้วจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต หากเราต้องการความแน่ใจว่าสิ่งที่สงสัยหรือสิ่งที่เราสังเกตุและเกิดขึ้นในทุกวันนั้นมันเป็นอย่างไร ต้องการคำตอบ เราจึงพยายามหาคำตอบด้วยการสังเกตุ จดบันทึก จากการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ซ้ำๆจนแน่ใจ นั่นแหละคือคำตอบ นี่แหละใช่เลย ประมาณนี้แหละ ซึ่งหากทำให้เป็นระบบ ก็คือ การสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะหาคำตอบ จึงทำการกำหนดเป้าหมายและคาดคะเนคำตอบ พร้อมกับตรวจสอบคำตอบเหล่านั้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสังเกตุ การรวบรวม จนมากพอที่จะเป็นคำตอบ

คำสำคัญ (Tags): #การวิจัย
หมายเลขบันทึก: 448196เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2018 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ลักษณะของการวิจัย

ในการแบ่งลักษณะของการวิจัยนั้น มีผู้แบ่งลักษณะการวิจัยเป็นหลายลักษณะ โดยยึดหลักในสิ่งที่สนใจและวัตถุประสงค์ที่ทำการศึกษาอยู่ เช่น จำแนกลักษณะการวิจัยตามเป้าหมายที่ทำการวิจัย หรือ การจำแนกการวิจัยตามลักษณะของข้อมูล เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงการแบ่งลักษณะของการวิจัยเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. จำแนกตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัย

ลักษณะของการวิจัยที่มีการจำแนกตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ทำการวิจัย ได้แก่

1.1 การวิจัยพื้นฐาน (basic research) เป็นการวิจัยที่มุ่งแสวงหาข้อเท็จจริง ความรู้ เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ ทฤษฎี ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้น ในแต่ละสาขา จะเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยงานวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยกฎเกณฑ์ ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาเป็นพื้นฐานเสมอ จึงกล่าวได้ว่างานวิจัยเหล่านี้เป็นงานวิจัยพื้นฐาน

1.2 การวิจัยประยุกต์ (applied research) เป็นการวิจัยที่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเอาผลจากการวิจัยพื้นฐานมาปรับปรุง ประยุกต์ เพื่อการปฏิบัติงานจริง ใช้ในการแก้ปัญหา หรือนำไปพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาการและสังคม ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม อาจจะเป็นการประเมินผลในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วว่าได้ผลเพียงใด

2. จำแนกตามลักษณะของข้อมูล

ข้อมูลมีสองลักษณะ คือ ข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ ดังนั้นในการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลในแต่ละลักษณะโดยการพิจารณาข้อมูลเป็นหลัก ได้แก่

2.1 การวิจัยเชิงปริมาณ (qualitative research) เป็นการวิจัยที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะตัวเลขเป็นหลัก และใช้กระบวนการทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งส่วนมากจะเป็นการวิจัยประเภทนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดของข้อมูลที่ชัดเจนและใช้ระเบียบวิธีการทางสถิติในแต่ละขั้นตอน

2.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไม่สามารถที่จะใช้ข้อมูลในลักษณะตัวเลขได้ การวิจัยในลักษณะนี้จึงต้องศึกษาจากรายละเอียดอื่นๆ มาก ทำให้ต้องใช้เวลาในการวิจัยมาก และต้องใช้รูปแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลมาก เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การศึกษาจากเอกสาร การศึกษาจากวัตถุที่เป็นหลักฐานสำคัญ เป็นต้น นักวิจัยจะต้องมีความอดทนและมีจริยธรรมของนักวิจัย รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล

การเรียนรู้ระเบียบวิธีการวิจัยเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆเหล่านี้จากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่มนุษย์ได้เรียนรู้ในการเพิ่มพูนวิทยาการความรู้และความสามารถของมนุษย์

ความสามารถของบุคคลที่จะมีความรู้สึกในการสัมผัสร่วมกับประสบการณ์ของผู้อื่นจะเป็นสิ่งที่กำหนดว่าผู้นั้นสามารถจะเรียนรู้โดยไม่ต้องมีประสบการณ์ผิดพลาดด้วยตนเองได้หรือไม่ ความสามารถดังกล่าวเป็นการย่นระยะเวลาของการสะสมความร็ให้ได้มากในระยะเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ระเบียบวิธีการวิจัยย่อมขึ้นกับความสามารถในการถ่ายทอดประสบการณ์และหลักระเบรยบของผู้สอน และวิธีการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาได้มีประสบการณ์ทดลองศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาในขั้นตอนต่างๆของการวิจัย ผู้สอนที่แม่นในระเบียบวิธีการวิจัยมีประสบการณ์และความสามารถในการถ่ายทอดวิชาการได้ดี เปิดโอกาสให้ผู้ศึกษามีประสบการณ์ขั้นตอนของการวิจัย ผู้ศึกษาก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ระเบียบวิธีการมากขึ้นเท่านั้น

การวิจัยจะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้ที่จะวิจัยต้องมีความสนใจในสิ่งที่ตนได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่นข้อสงสัย หรือปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องหาวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อที่จะหาคำตอบที่ตรงกับประเด็นเหล่านั้น อาจจะมีหลายวิธีในการหาคำตอบ และการวิจัยเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากมีระเบียบวิธีการวิจัยที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการวิจัยควรจะเริ่มที่ข้อสงสัย หรือปัญหาที่เกิดขึ้น และทำความเข้าในเกี่ยวกับหลักการในการวิจัยเบื้องต้นก่อน เพื่อสร้างกรอบแนวคิดและกระบวนการในการทำวิจัยให้เกิดความชัดเจน

ว่า กระบวนการวิจัยจะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดจากปัญหา หรือ ข้อสงสัยที่เราสนใจและยังไม่มีคำตอบหรือยังไม่แน่ใจในคำตอบเหล่านั้น หากปัญหาในการวิจัยนั้นมีความชัดเจนและลุ่มลึก จะทำให้เราวางแผนการวิจัยได้กระชับตลอดจนเกิดกระบวนการวิจัยที่มีความชัดเจนในแต่ละขั้นตอน ผลจากการวิจัยก็จะมีคุณค่าในการนำเสนอหรือนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้

การนำเสนอผลการวิจัย

การวิจัยเป็นการค้นคว้าหาข้อความรู้ ข้อเท็จจริง หรือข้อค้นพบใหม่ เป็นการสร้างองค์ความรู้ เพื่อนำผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อไป การนำเสนอผลการวิจัยจึงถือได้ว่าเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณะ ดังนั้นในส่วนของการนำเสนอผลการวิจัยอาจจะเริ่มต้นด้วยการแปลผล การสรุปผล การอภิปรายผล และการจัดทำสารสนเทศนำเสนอผลการวิจัยนั้น จึงถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่สู่สาธารณชนผู้สนใจ เพื่อขยายผลความรู้ต่างๆ ในเชิงพัฒนาต่อไป

การแปลผล

จากกระบวนการวิจัยโดยทั่วไปส่วนมากมักจะประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ ขั้นการกำหนดปัญหา ขั้นการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ขั้นการตั้งสมมุติฐาน ขั้นการออกแบบการวิจัย ขั้นการเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูลและขั้นการนำเสนอผลการวิจัย

การแปลผลการวิจัยอยู่ในขั้นการวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปผล และขั้นการเขียนรายงานการวิจัย ซึ่งโดยหลักการแล้ว การแปลผลการวิจัยจะต้องตอบคำถามการวิจัยหรือวัตถุประสงค์การวิจัย ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญเนื่องจากเป็นการจัดระเบียบในการกล่าวถึงข้อเท็จจริงหรือข้อค้นพบ ในการแปลผลการวิจัยจะเป็นการบรรยายคุณสมบัติทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในกรอบแนวคิดการวิจัย การอธิบายในรูปของการบรรยายรายละเอียดต่างๆ การเปรียบเทียบ การจำแนก หรืออาจจะเป็นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ต้องการศึกษากับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยสะท้อนผลการวิจัยไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในกรณีความสัมพันธ์นี้อาจจะอธิบายถึงระดับความสัมพันธ์ในเชิงปริมาณหรือระดับความเป็นสาเหตุและผล รวมถึงการอธิบายถึงทิศทางความสัมพันธ์เหล่านั้นด้วย

การแปลผลการวิจัยมีวัตถุประสงค์หลักในการหาผลสรุปจากข้อมูลและกระบวนการทางสถิติ เพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ ขั้นตอนของการแปลผลควรเริ่มต้นด้วยการแปลผลในภาพรวมและรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งส่วนมากมักจะเป็นการแปลผลจากการใช้สถิติพรรณนา หลังจากนั้นจึงทำการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ในส่วนที่เป็นประเด็นที่สนใจสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย สมมติฐานการวิจัย และกรอบแนวคิดในการวิจัย เป็นการแปลผลจากการใช้สถิติอนุมาน

ในการแปลความหมายเหล่านี้ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้นักวิจัยนำไปใช้ในการสังเคราะห์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ ทั้งนี้ ผู้วิจัยจึงต้องแปลผลและนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการวิจัยให้เหมาะสม อยู่ในขอบเขตของวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิดในการวิจัย หากผู้วิจัยต้องการเสนอแนวคิดเพิ่มเติมจากผลการวิจัย ควรนำเสนอส่วนอภิปรายผล (Discussion) เป็นต้น

หลักสำคัญของการแปลผลจะต้องยึดหลักความสอดคล้องเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การวิจัย ขอบเขตการวิจัย ตั้งแต่ขอบเขตของเนื้หา ขอบเขตของประชากร และขอบเขตของเวลาในการวิจัย รวมถึงข้อจำกัดในการวิจัยด้วย โดยการสื่อสารที่ใช้ภาษาง่าย รัดกุม และกระชับ ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องแปลผลให้สอดคล้องกับสถิติที่ใช้ในการวิจัยอย่างตรงไปตรงมา

ตัวอย่างในการแปลผลการวิจัย เช่น การแปลผลจากสถิติพรรณนาซึ่งเป็นการสรุปภาพรวมของการวิจัย ในลักษณะของการบรรยายข้อมูลรูปแบบต่างๆ ส่วนมากได้แก่ การแปลผลในรูปของ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

การแปลผลจากสถิติอนุมานซึ่งเป็นการวิจัยจากการสุ่มตัวอย่าง ผลจากการวิจัยจะสามารถสะท้อนให้เห็นคุณลักษณะของประชากรเช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่าง ส่วนมาก ได้แก่ การแปลผลในการทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของตัวแปร การทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร

ข้อควรระวังในการแปลผลการวิจัย คือ การไม่เข้าใจในวัตถุประสงค์ของการวิจัยและวัตถุประสงค์ของสถิติที่ใช้ การเลือกใช้สถิติที่ไม่เหมาะสม ทำให้การแปลผลผิดจากความเป็นจริง รวมถึงการละเมิดข้อตกลงต่างๆ และจรรยาบรรณของนักวิจัย ดังนั้นผู้วิจัยจึงควรทำความเข้าใจในบริบทเกี่ยวกับเรื่องที่ทำวิจัยอย่างถ่องแท้ ประกอบกับการใช้แนวคอดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์อย่างมีเหตุมีผล

การนำเสนอข้อมูล

หลังจากทำการแปลผลการวิจัยแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การนำเสนอผลของการวิเคราะห์ข้อมูล โดยยึดหลักการสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่าน เช่น อ่านง่าย มีรูปแบบที่เหมาะสม สะท้อนให้เห็นผลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการวิจัย ในการนำเสนอ ส่วนมากนำเสนอได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

1 การนำเสนอข้อมูลด้วยตาราง (Table) เป็นการนำเสนอเมื่อต้องการแสดงให้เห็นรายละเอียดของตัวแปร โดยตัวแปรเหล่านั้นมีรายละเอียดมาก และมีจำนวนมาก นิยมใช้ในการนำเสนอผลการวิจัย การนำเสนอข้อมูลด้วยตารางผู้วิจัยควรยึดหลักเช่นเดียวกับหลักการทั่วไปของการนำเสนอข้อมูล คือ ตารางควรอ่านเข้าใจง่าย มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ตารางโดยปกติจะแสดงข้อมูลในแนวตั้งและแนวนอน การนำเสนอผลการวิจัยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของจำนวน ร้อยละ ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และลำดับความสำคัญ

2. การนำเสนอข้อมูลด้วยรูป (Figure) เป็นการนำเสนอข้อมูลด้วยรูปกราฟ แผนภูมิ และรูปภาพ การนำเสนอด้วยวิธีนี้ ผู้วิจัยสามารถนำเสนอข้อมูลได้กว้างขวางกว่าการนำเสนอข้อมูลด้วยตาราง ทั้งยังสามารถสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจ มองเห็นลักษณะของตัวแปรได้ง่ายขึ้น เช่นการเปรียบเทียบคุณลักษณะของตัวแปร การเปรียบเทียบ หรือ ความสัมพันธ์ ส่วนมากมักนิยมใช้เกี่ยวกับ แนวโน้มของตัวแปร การเปรียบเทียบผลของตัวแบบในการพยากรณ์ และสร้างความน่าสนใจได้ดียิ่งขึ้น

การสรุปผล

การสรุปผลการวิจัยนั้น โดยทั่วไปมักจะเป็นบทที่ 5 ในรายงานผลการวิจัยที่ประกอบไปด้วยรายงานผล 5 บท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สรุปผลตามวัตถุประสงค์การวิจัยจำแนกตามรายการของวัตถุประสงค์ นำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล มาสรุปอย่างย่อ ๆ อาจจะเป็นความเรียงต่อ ๆ กันไป หรือ จะสรุปเป็นหัวข้อก็ได้

การสรุปผลการวิจัยจะต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ได้เป็นสำคัญ ทั้งนี้จะต้องสรุปภายใต้ขอบเขตของปัญหา และความรู้ที่ได้รับจริงๆ จากผลการวิจัยเท่านั้น ไม่กล่าวอ้างถึงเหตุอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ผลการวิจัย ไม่รวมทัศนคติ หรือความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การสรุปผลการวิจัยจึงควรกล่าวแต่เพียงสั้นๆ กระชับ สอดคล้องกับปัญหาการวิจัยเป็นการอธิบายถึงผลสรุปจากทุกบทที่ผ่านมาและข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัย ซึ่งเป็นผลการวิจัยอย่างย่อ โดยยึดวัตถุประสงค์และสมมติฐานของการวิจัยเป็นหลัก ควรเขียนในลักษณะการตีความจากข้อมูลให้สั้น กระชับ และเรียงลำดับตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อชี้ให้เห็นว่าผลการวิจัยได้บรรลุหรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง และจากการวิจัยเราพบว่ามีส่วนใดบ้างที่ผลการวิจัยสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับสมมติฐาน ควรสรุปในภาพรวมด้วย

การอภิปรายผล

การอภิปรายผลเป็นขั้นตอนหลังจากที่ผู้วิจัยทำการสรุปผลการวิจัยเรียบร้อยแล้ว เป็นขั้นตอนที่นับว่ามีความสำคัญ โดยการนำหลักการ แนวคิด ทฤษฎี กฎเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนผลการวิจัยของผู้อื่นที่อ้างอิงมาในบทที่ 2 หรือ ในส่วนของแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาวิพากษ์วิจารณ์ผลการวิจัยที่ได้อย่างมีเหตุผล เป็นการพิจารณาผลการวิจัยที่ได้ว่ามีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกับสมมติฐาน แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ทั้งนี้จะต้องอยู่ในขอบเขตและข้อจำกัดของการวิจัยด้วย

แนวทางในการอภิปรายผลนั้น เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงสิ่งที่ศึกษา ผลที่ได้จากการศึกษา และการให้เหตุผลด้วยการยืนยันผลโดยการพิจารณาเปรียบเทียบผลการวิจัยนั้นว่ามีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกับสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยใช้แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาอธิบายความสอดคล้อง ในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งกับผลการวิจัยของผู้อื่นอาจจะใช้แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มาช่วยในการอธิบาย อาจจะอธิบายตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย โดยเรียงลำดับตามวัตถุประสงค์ สามารถนำเอาผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยในการอธิบาย พร้อมกับการแสดงความเห็นเพิ่มเติม โดยมีเน้นการแสดงให้เห็นว่าผลการวิจัยมีความสัมพันธ์/ไม่สัมพันธ์ หรือ สอดคล้อง/ไม่สอดคล้อง กับทฤษฎี หลักการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างไรพร้อมอธิบายเหตุผลประกอบ

ดังนั้นการอภิปรายผลการวิจัยจึงเป็นการนำประเด็นจากผลการวิจัยที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์มาทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์เชิงเปรียบเทียบว่า มีส่วนใดบ้างที่ผลการวิจัยสอดคล้องกับสมมติฐานหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด ควรแยกอภิปรายเป็นประเด็น โดยชี้ประเด็นว่าสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับทฤษฎีหรือ ผลการวิจัยที่คนอื่นทำไว้โดยยกเหตุผลมาประกอบการอภิปราย ในรูปแบบของการวิเคราะห์ ตีความ และอธิบายความในลักษณะการเชื่อมโยงอย่างมีเหตุผลจากวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอันเป็นที่มาของกรอบแนวคิดในการวิจัย ว่าเกิดขึ้นอย่างไร เหตใดจึงเป็นเช่นนั้น รวมถึงการใช้หลักการทางวิชาการเป็นการยืนยันประเด็นที่สำคัญว่ามีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร

จะเห็นได้ว่า ในการอภิปรายผลการวิจัยนั้น จำเป็นต้องยึดขอบเขตต่างๆ ของงานวิจัยและไม่นำความคิดของผู้วิจัยเข้าไปใช้ในการอภิปรายผล อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเอนเอียง ดังนั้น การอภิปรายผลจึงควรยึดตามแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย โดยเฉพาะการเขียนอภิปรายผลการวิจัยนั้น ควรพิจารณาการอภิปรายโดยแยกเป็นประเด็นให้ชัดเจน ชี้ประเด็นให้เห็นว่าว่าสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับทฤษฎีหรือผลการวิจัยที่คนอื่นทำไว้โดยยกเหตุผลมาประกอบการอภิปราย

ตัวอย่างเช่น จากการสมมติฐานที่กล่าวว่า.......ผลการวิจัย พบว่า........สอดคล้อง(ไม่สอดคล้อง) กับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เนื่องจาก(เป็นเพราะ)......ซึ่งผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับ.....ที่พบว่า......นอกจากนี้ .... ยังทำการศึกษาเกี่ยวกับ...พบว่า.....

ข้อเสนอแนะ

การเขียนข้อเสนอแนะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสรุปผลการวิจัย โดยแบ้งออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้อเสนอแนะจากกการวิจัย เป็นการเสนอแนะว่าผู้เกี่ยวข้องควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ผลการวิจัยควรนำไปใช้อย่างไร กับกลุ่มใดและ ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป เป็นการนำเสนอว่า หากมีการวิจัยในลักษณะนี้ หรือ ตามแนวทางนี้ ควรพิจารณาถึงสิ่งใดบ้าง เช่น ควรเพิ่มตัวแปรอะไร หรือ ในการวิจัยครั้งต่อไปควรพิจารณาอะไรบ้าง คำนึงถึงสิ่งใดบ้าง

ในการเขียนข้อเสนอแนะในการวิจัย อาจจะกล่าวถึงข้อจำกัดในการวิจัยเพื่อให้ผู้สนใจนำผลการวิจัยไปใช้ได้มีความตระหนักในข้อจำกัดเหล่านั้น อาจจะเสนอเรื่องใหม่ที่ควรทำการวิจัยเพิ่มเติมด้วย

รายงานผลวิจัย เป็นการเล่าเรื่องราวเหตุการณ์และผลที่เกิดขึ้นในขณะที่ดำเนินการวิจัย รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิจัยและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้รายงานการวิจัยยังเน้นถึงการเผยแพร่ผลงานวิจัยให้สาธารณชนได้รับรู้เพื่อให้ผู้สนใจ นักวิชาการ หรือผู้เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ จะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานของตน หรือเป็นแนวทางที่จะทำการวิจัยต่อไป

ส่วนประกอบของรายงานทางการวิจัย จะจัดแบ่งเนื้อหาเป็นบท ๆโดยทั่วไปจะมี 5 บท และมีส่วนประกอบของรายงานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์คล้ายหนังสือทั่ว ๆ ไป ควรประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนนำ ประกอบด้วย

ปกนอก โดยทั่วไปปกนอกควรเป็นข้อความเกี่ยวกับชื่อเรื่อง (ทั้งไทยและอังกฤษ) ชื่อผู้ทำรายงาน หน่วยงานของผู้ทำวิจัย เดือน ปีที่ทำวิจัยเสร็จ

ปกใน มีข้อความเหมือนปกนอกทุกประการ

กิตติกรรมประกาศ ส่วนนี้จะเขียนบอกมูลเหตุของการทำวิจัยเรื่องนั้นสั้น ๆ สรุปผลการวิจัย การนำผลการวิจัยไปใช้ และข้อจำกัดของการทำวิจัยเรื่องนี้ รวมทั้งต้องระบุชื่อผู้มีอุปการะคุณ ผู้ช่วยเหลือทั้งด้านความคิด วิชาการ แรงงาน การเงินและการให้กำลังใจลงท้ายด้วยชื่อผู้ทำการวิจัยและวันเดือน ปีที่พิมพ์รายงานนั้น

บทคัดย่อ ส่วนนี้จะแบ่งป็นส่วนนำประกอบด้วย ชื่อเรื่อง ผู้ทำวิจัย ที่ทำงานของผู้ทำวิจัย ผู้สนับสนุนการเงิน และวัน เดือน ปีที่ทำวิจัย ส่วนที่สองเป็นส่วนเนื้อเรื่องของบทคัดย่อจะเป็นข้อความสั้น ๆ เขียนในเชิงสรุปในรูปของความเรียงเขียนติดต่อกันไปไม่ต้องมีหัวข้อ สรุปให้ผู้อ่านรู้ว่า ทำอะไร ทำอย่างไร และได้ผลอย่างไร เป็นไปตามสมมติฐานหรือไม่ ความยาวไม่ควรเกินหนึ่งหน้ากระดาษ โดยเน้นการนำเสนอวัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัยและผลการวิจัย เป็นหลัก

สารบัญ ประกอบด้วยสารบัญเนื้อหา ซึ่งจะระบุบทและหัวข้อที่สำคัญ ๆ ของรายงาน ถ้ามีตารางและรูปภาพ แผนภูมิมากก็จะต้องมีสารบัญตาราง และสารบัญรูปภาพ แผนภูมิที่ระบุ ชื่อ และหน้าที่ปรากฏตาราง หรือรูปภาพนั้นด้วย

ส่วนเนื้อหา ส่วนนี้จะทำเป็นบท ๆ ส่วนมากทำเป็น 5 บท ดังนี้

บทที่ 1 บทนำ เป็นการกล่าวให้ทราบถึงความเป็นมาของเรื่อง วัตถุประสงค์ สมมติฐาน ขอบเขต ข้อตกลงเบื้องต้น ข้อจำกัดและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ในบทนี้จะต้องเสนอแนวความคิด ทฤษฎีและรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างสรุปมาสนับสนุนหลักการและเหตุผลของการทำวิจัยด้วย

บทที่ 2 เอกสารและรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นการนำผลการทบทวนเอกสารและรายงานการวิจัยในอดีตมาจัดทำเป็นรายงาน เรียบเรียงใหม่ โดยยึดเนื้อหาของเรื่องเป็นหลัก บทนี้จะต้องเรียบเรียงผสมเนื้อเรื่องต่างๆให้เข้ากันต่อเนื่องเป็นเนื้อหาเดียวกัน

บทที่ 3 วิธีการดำเนินการวิจัย เป็นการเสนอวิธีการว่าดำเนินการหาคำตอบอย่างไร รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับประชากรและกลุ่มตัวอย่าง การรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเน้นให้ทราบว่าทำอย่างไรเป็นสำคัญ

บทที่ 4 ผลการวิจัย เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและรวบรวมมาทั้งหมด พร้อมกับแปลผล ตีความหมาย หาข้อสรุป ของคำตอบตามปัญหาที่ต้องการทราบ

บทที่ 5 บทสรุป อภิปรายและข้อเสนอแนะ เป็นการนำผลการศึกษาตั้งแต่ต้นจนจบมาสรุปให้อยู่ในลักษณะความเรียง และชี้ให้เห็นผลการวิจัยได้ข้อสรุปเป็นไปตามทฤษฎี แนวคิด และผลงานการวิจัยในอดีต หรือไม่อย่างไรและจะเสนอแนะเกี่ยวกับการนำผลที่ได้ไปใช้อย่างไร มีประเด็นที่ควรจะต้องศึกษาวิจัยต่อไป

ส่วนอ้างอิง จะประกอบด้วย

บรรณานุกรม เป็นส่วนของการรวบรวมเอกสารหลักฐานและหนังสืออ่านประกอบที่ใช้อ้าง ใช้ทำและใช้เขียนรายงานนั้นทั้งหมด โดยนำมาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่และเรียงตามลำดับตัวอักษร

ภาคผนวก เป็นส่วนขยายเพิ่มเติม เพื่อให้รายงานนั้นมีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น ส่วนมากจะได้แก่ เครื่องมือรวบรวมข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับการวิเคราะห์และตารางตัวเลขมาก ๆ

ประวัติผู้ทำวิจัย เป็นส่วนที่บอกประวัติของผู้ทำวิจัย ผู้ทำรายงาน หรือคณะผู้ทำวิจัย

ตัวอย่างการรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูล

การกล่าวนำในส่วนของการรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูล

การวิจัยเรื่อง “…………………………………………………………………………….”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ.......…………………………………………………………

และวิเคราะห์................................................................. ตามความคิดเห็นของ .................................

รวมทั้งเพื่อ........................ ด้วยการสุ่มตัวอย่าง และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจำนวน................ ชุด นำแบบสอบถามมาดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล และประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ สำหรับการตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัย ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลนำเสนอโดยแบ่งออกเป็น ………. ตอน ดังนี้

ตอนที่ 1 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป ของ ...........................................

ตอนที่ 2 ผลการวิเคราะห์ระดับความคิดเห็นของ……………. ในด้าน…………………. และด้าน........................................และในภาพรวม

ตอนที่ 3 ผลการทดสอบสมมุติฐาน

ซึ่งแต่ละตอนมีรายละเอียดต่อไปนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท