lส่งเสริมการอ่านอย่างหลากหลาย


เสียเวลากับการพรำบ่นของหน่วยงานต้นสังกัด

ส่งเสริมการอ่านอย่างหลากหลาย

     ในโรงเรียนขนาดเล็ก ณ วันนี้ หลายโรงเรียนมองเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการอ่าน ไม่ว่าโรงเรียนจะมีครูวิชาเอกภาษาไทยหรือไม่ เพราะภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่ทักษะการเรียนรู้ในสาระวิชาต่างๆ

     เรา ผู้บริหารและครู เสียเวลาไปกับการพร่ำบ่น ของหน่วยงานต้นสังกัด เกี่ยวกับการยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และเกี่ยงกันที่จะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ จัดทำแผนพัฒนาประสิทธิภาพ ว่าถ้าไม่ยุบจะทำอย่างไร บริหารอย่างไรให้เกิดมรรคเกิดผล  มีมาตรการ ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศกันอย่างไร ด้วยเครื่องมืออะไรบ้าง

      พอเจ้านายบอกว่าจะไม่ยุบ ก็ไม่เห็นมีแผนการพัฒนาโรงเรียนที่ชัดเจน ไม่ได้ทำข้อตกลงใดๆเพื่อรองรับหรือตอบคำถาม สพฐ.ได้ แต่กลับได้ยินว่า โรงเรียนเล็กซอมซ่อ โรงเรียนเล็กล้าหลังทำให้ผลสัมฤทธิ์ต่ำ (แต่ถ้าจะเอาผลงานเชิดหน้าชูตา ก็เห็นมีแต่โรงเรียนเล็กๆ  ที่มีนวัตกรรมคอยค้ำคออยู่)

       พูดมาเสียยืดยาว ก็เพื่อบอกว่า แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องใช้เวลา และแน่นอนปัจจัยที่เป็นอุปสรรค บุคลากรของโรงเรียนเล็กพยายามให้เกิดมีน้อยที่สุด และพร้อมก้าวไปข้างหน้า ด้วยกระบวนการที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน

       อย่างเช่น กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ที่ผู้เขียนพยายามปรับเปลี่ยน ค้นคว้าหารูปแบบ ปรับปรุงวิธีการ จนเกือบจะเป็นงานวิจัย (หน้าเดียว) ในไม่ช้านี้ โดยกิจกรรมดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่เปิดภาคเรียน ว่ากันตั้งแต่เช้าก่อนเข้าเรียนเพราะเด็กกำลังสดชื่นแจ่มใส

         เวลา ๐๗.๔๕ น. หลังจาก นักเรียนชั้น ป.๑-๓ ฝากเงินออมทรัพย์ กับธนาคารโรงเรียนแล้ว ก็จะไปอ่านหนังสือที่ศาลาใกล้สระน้ำ วันจันทร์ ถึงพุธ ให้อ่านหนังสือบันเทิงคดีทั่วไป เท่าที่สังเกตพบว่า นักเรียนอ่านได้บ้าง ไม่ได้บ้าง สนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง ดูรูปภาพอย่างเดียวก็มี อาจเป็นเพราะหนังสือมีคำยากเกินไป และเนื้อหาไม่เหมาะสม เรียกว่าขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์

           วันพฤหัสบดี ปรับเปลี่ยนเป็นหนังสือเรียนภาษาไทยและให้พี่ที่อยู่ชั้น ป.๔-๖ เป็นพี่เลี้ยง คอยดูแลสอนอ่าน  ใช้เวลา ๒๐-๒๕ นาที พบว่านักเรียนกระตือรือร้น สนใจอ่านในสิ่งที่เคยอ่านมาแล้ว มีคำที่อ่านได้มากมาย ได้อ่านอวดพี่ๆ และมีความอดทนที่จะอ่านได้นานๆ กิจกรรมพี่สอนน้องก็เกิดตามมา พี่จะไม่ดุไม่ตีน้อง ประคับประคองช่วยครู ให้ครูได้เบาใจ

        กิจกรรมตอนเช้าวันพฤหัสบดี ยังบูรณาการไปสู่กิจกรรมลูกเสือได้ด้วย พอได้เวลาเข้าแถว นักเรียนป.๔-๖ ที่เป็นลูกเสือ-เนตรนารี จะเข้าแถวทำความเคารพผู้เขียน แล้วรายงานว่าลูกศิษย์ของเธอ คนไหนบ้าง ที่อ่านดี อ่านพอใช้  และต้องปรับปรุง  เรียกว่าทราบผลกันทันทีทันใด

           ผ่่านไป ๑ เดือน ก็มีบ้างที่เด็กบางคน มีพัฒนาการทางการอ่าน ที่ยังต้องปรับปรุง แต่มีหลายคนพยายามพัฒนาตนเองจากพอใช้ ไปดี และดีมาก ซึ่งผู้เขียนจะต้องคอยเก็บข้อมูลต่อ กระตุ้นและส่งเสริมกิจกรรมการอ่านนี้ให้ตลอดภาคเรียน เพื่อสรุปให้ได้ว่ากิจกรรมตอนเช้าแบบนี้ส่งผลดีต่อการอ่านของเด็กหรือไม่อย่างไร

               แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูไปแล้วว่า งานอย่างนี้ เป็นวิจัยอย่างง่าย ที่ครูไม่ต้องจบ ป.โท ก็ทำได้ ขอเพียงแค่ครูคิด ศึกษา เรียนรู้ และต่อสู้กับความไม่รู้ของเด็กอย่างอดทน  ในส่วนของเอกสารงานวิจัย(หน้าเดียว) เมื่อเขียนเสร็จแล้ว จะนำให้ครูดู รับรองไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารเพ้อเจ้ออย่างแน่นอน (บอกครูไปอย่างนี้จริงๆ)

             

              

     

หมายเลขบันทึก: 447997เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2011 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณแทนเด็กๆทุกคนที่นั่น

ที่มีครู......ดีดี

ขอบคุณ คุณครูชยันต์ ที่ไปให้กำลังใจนะครับ

ขอบคุณแทนเด็กๆด้วยครับ

ผมเป้นคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือมาต้งแต่เด็กๆ คิดว่าสาเหตูที่ผมชอบอ่านเพราะ เป็นคนที่ไม่ค่อยมีเพื่อน ชอบอยุ่คนเดียว

หนังสือจึงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด

เรียน คุณ พ.แจ่มจำรัส

ผมก็เหมือนกัน

ชีวิตตนเอง และครอบครัว มีปมด้อย

ต้องต่อสู่้กับความจน อดทน ไม่ท้อถอย

เรียนรู้ ด้วยการอ่านหนังสือให้มาก มาก มาก และมาก

จนปัจจุบัน สายตาเกือบจะเสียศุนย์

ประสบการณ์...นำมาถ่ายทอดสู่เด็ก..ให้เขารักการอ่าน

เพื่อทักษะชีวิต ของเขาเอง

เห็นด้วยเป้็นอย่างยิ่งค่ะ อยากจะทำแบบที่ ผอ. ทำไว้สอนไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่มันยากนะคะ บริบทอะไรหลายอย่างแตกต่างกันเหลือเกินค่ะ ชีวิตครูในเมืองนี่แปลกจริง ๆ ค่ะ

เรียน คุณ is

ก่อนอื่น ผมขอเป็นกำลังใจ ให้คุณ is

ชีวิต การทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

ต้องริเริ่ม ทำในสิ่งดีงาม ค่อยเป็นค่อยไปแบบพอเพียง

พัฒนาและปรับปรุงไปเรื่อยๆ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

ข้อสำคัญ อย่าไปมองตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น ทำไมเขามาสาย

ทำไมเขากลับก่อนได้ ไม่ทำแถมยังได้ ๒ ขั้น

ถ้าเราเอาเยี่ยงอย่างอาจติดเป็นนิสัย แล้วทำแบบเขา

จงนึกถึงในหลวงที่ท่านทรงงานหนักเพื่อพวกเรา

คิดถึงพระองค์ท่าน คิดถึงพ่อกับแม่ จะทำให้เรามีกำลังใจ สามารถสู้สิ่งยากได้

ที่สุดแล้ว ประสบการณ์ดีๆ จะช่วยให้เราได้ดี และนำไปสอนลูกหลานได้อย่างภาคภูมิใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท