3 ปี 'อีออกชัน' บทเรียนที่ต้องแก้ไข


3 ปี 'อีออกชัน' บทเรียนที่ต้องแก้ไข
แม้ว่าประเทศไทยจะมีประสบการณ์การประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีออกชัน) มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าอี-ออกชัน เป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งอี-ออกชันยังไม่ใช่สูตรสำเร็จแก้ปัญหาการฮั้วหรือการโกงการประมูลได้แบบเบ็ดเสร็จ เพราะการประมูลผ่านอีออกชัน เป็นแค่วิธีการเท่านั้น และวิธีการก็กำหนดขึ้นโดยคน ฉะนั้นระบบจะดีอย่างไร หากคนไม่ดี       ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ เห็นได้จากตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นกระแสข่าวในทางลบเกี่ยวกับอี-ออกชันออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้รหัสลับ หรือพาสเวิร์ด คู่แข่งไปนั่งเคาะราคา หรือการเข้าไปใช้บริการอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ เคาะราคาประมูล  อย่างไรก็ดีกระบวนการคอร์รัปชั่นที่ซับซ้อนล่าสุดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมบัญชีกลางได้มีแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการประมูลจัดซื้อผ่านอี-ออกชันมาอย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันแม้ว่าอี-ออกชัน จะยังไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาการโกงการฮั้วได้ 100% แต่ก็ทำให้การตรวจสอบการทุจริตหรือความไม่ชอบมาพากลได้ง่ายขึ้น พันเอกรังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพันธวณิช จำกัด ผู้ให้บริการ  ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่าที่ผ่านมายังพบปัญหาการทุจริต หรือการฮั้วประมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือ อี-ออกชันอยู่ แต่มีแนวโน้มลดน้อยลง เนื่องจากมีการนำระบบซิลด์ บิต มาใช้ทำให้ผู้ร่วมประมูลไม่เห็นหน้าจอระหว่างการแข่งขันเสนอราคา ทั้งนี้เชื่อว่าอี-ออกชันในเมืองไทยจะมีการพัฒนามากขึ้น ทั้งในแง่ของหน่วยงานราชการ, ผู้ให้บริการตลาดกลางและผู้ประกอบการ และคาดว่าภายใน 3 ปี จะมีความโปร่งใส   "ถ้าหน่วยงานราชการ ล็อกสเปค และตั้งราคากลางสูงเกินไป การฮั้วประมูลจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเปิดกว้าง ตั้งราคากลางไม่สูง การฮั้ว      ก็จะไม่เกิดแน่นอน ซึ่งอี-ออกชัน จะช่วยสร้างความโปร่งใส และความยุติธรรม ในการประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ" พันเอกรังสี กล่าวต่อไปว่าปีที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและตลาดกลางมีความเข้าเกี่ยวกับเรื่องอี-ออกชั่นมากขึ้น  โดยในปี 2548 อี-ออกชั่นสามารถช่วยให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ 16,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 6.9% ของงบประมาณทั้งหมด ทั้งนี้ถ้าประเทศไทยมีความเข้าใจมากขึ้นเชื่อว่าจะช่วยภาครัฐในการประหยัดงบประมาณได้ 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี ด้านนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่ากรมบัญชีกลาง ค่อนข้างพอใจกับผลที่ได้รับจากอี-ออกชัน โดยสามารถช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบลงได้ 7% จากงบทั้งหมด    ลดระยะเวลาการจัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐลง 3 เท่าตัว  อย่างไรก็ตามกรมบัญชีกลาง ได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการประมูล  โดยที่กำลังผลักดันไปยังหน่วยงานภาครัฐ คือ เรื่องการกำหนดราคากลางของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหากมีการกำหนดราคากลางสูงเกินไปจะทำให้เกิดการฮั้วประมูล ขณะที่เงื่อนไขการประมูลหรือ ทีโออาร์   ที่ผ่านมากลไลอีออกชั่นได้แก้ไขปัญหาไปส่วนหนึ่งแล้ว โดยถ้าเกิดปัญหาการร้องเรียนการล็อกสเปค แต่ผู้บริหารไม่แก้ทีโออาร์ และเปิดให้มีการประมูลจัดซื้อ หากเกิดปัญหาขึ้นผู้บริหารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ  นอกจากนี้กรมบัญชีกลางยังได้ร่วมกับพีเอ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด ประเมินผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการตลาดกลาง 10 ราย ทั้งด้านบุคลากร ความปลอดภัยของระบบการเสนอราคา รวมถึงการปฏิบัติงานตามขั้นตอนของระเบียบ ซึ่งผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ    "ในอดีตผู้คนไม่เชื่อถือ อี-ออกชัน เพราะเป็นการประมูลอีออกชั่นเป็นระบบเปิด ผู้ร่วมประมูลสามารถเสนอราคาที่ไหนก็ได้ บางคนแจกพาสเวิร์ด ให้คนอื่น      ไปเคาะราคาแทน ซึ่งเราก็ได้มีการแก้ไขระเบียบให้เป็นระบบปิด โดยให้ทุกคนมาอยู่สถานที่ประมูลเดียวกัน   มีคณะกรรมการทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมการประมูล เพื่อสร้างให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น จนเวิล์ด แบงค์  ให้การสนับสนุน โดยเล็งเห็นว่าสร้างความโปรงใสให้กับประเทศ" นายบุญศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าผลการจัดหาพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 - 31 กรกฎาคม 2549 พบว่ามีการจัดหาพัสดุทั้งหมด 19,193 ครั้ง รวมงบประมาณ 232003 ล้านบาท ราคาที่จัดหาได้ คือ 215,789 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 93% ของงบประมาณทั้งหมด ราคาที่ประหยัดได้ทั้งหมด 16,217 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.99% ของงบประมาณทั้งหมด   ซึ่งจังหวัดที่มีการจัดหาพัสดุมากสุด คือ กรุงเทพ จำนวน 5,869 ครั้ง คิดเป็น 30.58% ของยอดรวม,  ขอนแก่น 750 ครั้ง คิดเป็น 3.91% ของยอดรวม   นครราชสีมา 505 ครั้ง     หรือ 2.63% ของยอดรวม   และจังหวัดอื่น ๆ 12,069 ครั้ง หรือ 62.88% ของยอดรวม   ส่วนจังหวัดที่มีการประหยัดงบประมาณสูงสุด คือ นนทบุรี ประหยัดงบได้ 602 ล้านบาท,   ฉะเชิงเทรา ประหยัดงบได้ 135 ล้านบาท,  สุพรรณบุรี ประหยัดงบได้ 101 ล้านบาท   และจังหวัดอื่น ๆ ประหยัดงบได้ 15,379 ล้านบาทประเทศไทยเริ่มนำอี-ออกชัน หรือ การประมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตั้งแต่ปี 2547 โดยเริ่มจากโครงการประมูลออนไลน์จ้างเหมาจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ หรือ สมาร์ทการ์ด จำนวน 12 ล้านใบ ที่ได้ราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณ 400 ล้านบาท ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เป็นครั้งแรก  เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2547ขณะที่โครงการที่สร้างความฮือฮามากสุดจากการนำระบบอี-ออกชันมาใช้ คือโครงการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบซีดีเอ็มเอ มือถือระบบซีดีเอ็มเอ ภูมิภาค มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2548 ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และประกาศให้ทุกหน่วยงานใช้การประมูลโครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบ โดยโครงการดังกล่าวนั้นได้นำวิธีการประมูลแบบปิด หรือ ซิลด์บิต มาใช้เพื่อให้ไม่ผู้ร่วมประมูลทราบราคาที่คู่แข่งเสนองานนั้นหัวเหว่ย ผู้ชนะการประมูล เคาะราคาในนาทีสุดท้ายที่ 7,199,800,000 บาท ช่วยให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ   ได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท

ฐานเศรษฐกิจ  15  ส.ค.  49

หมายเลขบันทึก: 44777เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2006 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท