ทำอย่างไรจึงจะเจริญสติได้ดีและใช้ขันติบารมีเมื่อมีอะไรมากระทบ


      เราเคยสังเกตบ้างไหม? เมื่อเวลาเรารู้สึกคันที่ใดที่หนึ่งในร่างกายแล้วเราก็ตอบสนองทันทีด้วยการเกา ซึ่งจะรู้สึกดีขึ้นบ้าง  แต่แล้วก็คันตรงโน้นตรงนี้อีก เราก็ตามไปเกา ก็เลยคันคะเยอทั้งตัว และรู้สึกโกรธหงุดหงิดรำคาญใจ
      บางคนนอนไม่หลับเพราะเวลาศีรษะจะถึงหมอนจิตก็กระหวัด(สัญญา)ไปถึงเมื่อคืนก่อนๆว่าจะนอนไม่หลับ ทำให้ร้อนวูบวาบ ไม่สบายเนื้อสบายตัว ยิ่งบังคับใจไม่ให้คิดก็ยิ่งฟุ้ง แล้วยิ่งโกรธไปกันใหญ่
      บางคนเวลาไม่สนใจจะไปรถเมล์สายใดก็จะเห็นรถเมล์สายนั้นวิ่งผ่านให้เห็น(ว่างด้วย)คันแล้วคันเล่า  แต่พอเราตั้งใจจะรอขึ้นจริงๆรอแล้วรออีกจนปวดเมื่อยกลับไม่มา ถึงมาแล้วก็แน่นจนขึ้นไม่ได้ เลยพาลหงุดหงิดไปกันใหญ่
      ได้อ่านข้อเขียนของคุณดังตฤณ ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
"...ถ้าหากเรามีความโกรธ เรามีความผูกใจอยู่กับใคร ความคิดถึงเขาคนนั้นหรือว่าเธอคนนั้น มันจะผุดขึ้นมากลางใจของเราหรือว่าในหัวของเราบ่อยๆ ในแต่ละวัน
แล้วแต่ละครั้งมันจะเกิดความรู้สึกคันอกคันใจ พูดง่ายๆ ว่ามโนภาพของเขาหรือเธอ มันเกิดขึ้นปุ๊บในหัว ในอกในใจนี่มันจะคันขึ้นมาทันทีหรือมีความกระวนกระวายขึ้นมาทันที หรือมีความอึดอัด มีความคับข้องขึ้นมาทันที
     ถ้าหากสังเกตได้ตามจริงอย่างนี้ อันนี้เริ่มต้นแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่คุณจะสร้างขันติบารมีอย่างถูกวิธี นั่นก็คือเมื่อเกิดความคันคะเยอขึ้นมา เมื่อเกิดความคันคะยิกขึ้นมา ขึ้นมาในกลางอก หรือมีอาการกระวนกระวาย ทุรนทุราย อยากพุ่งไปด่า พุ่งไปจับโทรศัพท์มาโทร โทรหาแล้วด่าเดี๋ยวนั้น  ให้ดูอาการที่มันเกิดขึ้น กระวนกระวายก็ดี พุ่งๆ ก็ดี ที่มันเกิดขึ้น ยอมรับตามจริงว่ามันเกิดขึ้น ยอมรับตามจริงว่ามีอาการพุ่งๆ อยู่ มีอาการทุรนทุรายอยู่
      เมื่อยอมรับตามจริงแล้วเกิดอะไร คุณจะเกิดความเห็นขึ้นมา ว่าอาการทุรนทุรายหรือว่าอาการพุ่งๆ นั้น มันแสดงความไม่เที่ยงให้ดูเกือบทันที เกือบทันทีที่คุณยอมรับนั่นเพราะอะไร เพราะว่าทันทีที่คุณยอมรับอาการเสียๆ ที่เกิดขึ้นทางใจและทางกายนี้นะ มันเป็นทันทีที่สติเกิดขึ้น สติเป็นธรรมชาติของกุศล
มันมาแทนที่โทสะ มันมาแทนที่โมหะ มันมาแทนที่ทุกอกุศลที่มันเกิดขึ้นในกายในใจเรานี้ได้เสมอ
      พูดง่ายๆ เราเอากุศลมาแทนอกุศลนั่นเอง กุศลคืออะไร กุศลคือสติ สติคืออะไร สติคือการยอมรับตามจริงอยู่เดี๋ยวนั้นแหละ ว่ามีอาการทุรนทุรายขึ้นมาในใจของเรา มีอาการรู้สึกอึดอัดขึ้นมา มีอาการรู้สึกแน่นอกขึ้นมา อาการที่เกิดขึ้นตามจริงในกายนั่นแหละ ที่เรารู้ตามจริงนั่นแหละ เป็นเหตุให้เกิดสติ
      แล้วสตินั่นแหละคืออกุศล กุศลมันก็มาแทนที่ มาละลายความรู้สึกผูกใจหรือว่ามีอาการอึดอัดคัดแน่นอก ขึ้นมาทันที ขันติบารมีที่ถูกต้อง พูดง่ายๆ คือเราควรจะเอาสติมาใช้เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาความฝืนใจมาเป็นตัวต่อสู้กับไอ้ความโกรธ ความโลภ ความหลง อะไรก็แล้วแต่ที่มันจะเกิดขึ้นมา 
      สังเกตง่ายๆ จำง่ายๆ ว่าอาการทางใจกับทางกายของคุณเป็นยังไง
ร่วมมือกันแล้วเกิดความทุนรนทุรายขึ้นมาอย่างไร ยอมรับตามจริงว่ามันเกิดขึ้น อย่าไปกด อย่าไปบังคับ อย่าไปฝืนมัน ปล่อยให้มันเกิดขึ้น แต่คุณดูมันไปด้วย
ดูว่าเมื่อเรารู้ตามจริงอยู่ เมื่อเรายอมรับตามจริงอยู่ มันแสดงความไม่เที่ยงให้ดูไหม หรือว่ามันตั้งอยู่ได้นานแค่ไหน สังเกตอยู่อย่างนี้ คุณจะรู้สึกว่าขันติของคุณดีขึ้นมาก  เพราะมันไม่ต้องไปข่ม มันไม่ต้องไปอดทน แต่มันเอาความสามารถในการระลึกรู้ มาเป็นตัวช่วย ช่วยผ่อนคลายไม่ให้มันอึดอัดจนเกินไป ช่วยผ่อนคลาย ไม่ต้องฝืนใจตัวเอง ช่วยผ่อนคลายไม่ต้องไปเก็บกักความร้อนเอาไว้ แบบทุนรนทุรายเหมือนอย่างที่ผ่านมา..." 
       ทำให้ผมคิดถึงคำพูดของหลวงพ่อคำเขียน วัดป่าสุขะโต จ.ชัยภูมิ  ที่ท่านบอกเสมอว่า เมื่อมีอะไรมากระทบให้ "ดูมันซือซือ"(ดูมันเฉยๆ) นั่นเอง

คำสำคัญ (Tags): #สติ ขันติ สมาธิ
หมายเลขบันทึก: 447102เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2011 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ชื่อบันทึกน่าสนใจ  ทำให้มาติดตามอ่านอย่างช้า ๆ ๒ เที่ยวค่ะ

มีอาการเหมือนที่อาจารย์กล่าวครั้งแรกค่ะ  แต่ภายหลังพยายามฝึก  ก็ทำให้รู้ทันขึ้น  หลังจากอ่านบันทึกนี้  คงจะระลึกรู้ได้มากขึ้นค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

กำลังเป็นอย่างที่ว่าครับ แต่ก็กำลังฝึกหลักธรรมนี้หลายครั้งเหมือนกัน บางครั้งก็ได้ผลมาก แต่บางครั้งก็ขาดสติ เก็บมาคิดมาฟุ้งมาก แต่ก็ไม่นาน ข้อคิดนี้เป็นสัจจะจริงครับ ขอบคุณครับ

คงเป็นอย่างที่ผมเคยบันทึกไว้ว่า "การวางอุเบกขาเป็นความยากที่สุดในการฝึกจริญสติวิปัสสนา แต่ก็เป็นหนทางนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง" เพราะเมื่อเกิดเวทนา(ความรู้สึก) เราก็มักจะปรุงแต่ง(สังขาร)ไปตามสัญญา(ความจำ)ที่เราสั่งสมเอาไว้ แล้วสั่งให้ร่างกายปฏิบัติ เช่น รู้สึกคันก็เกาๆๆๆ พอคันไปทั่วตัวก็ปรุงแต่งไปเป็นโกรธ สั่งสมกิเลสตามความเคยชิน(เหตุแห่งทุกข์) แต่ถ้าเราฝึกวางอุเบกขา ตามดูรู้ทันมัน แต่ไม่เต้นไปตามมัน เหมือนที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า "ดูมันซือซือ" นั่นแหละ ฝึกบ่อยๆก็จะเห็นความเป็นอนิจจัง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญญาและความสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท