ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๗๖. ช่วยหนุนให้ฝันของเขาเป็นจริง


งานสร้างสรรค์ที่ซับซ้อนขนาดนี้ ต้องการคนมีฝันมาร่วมกันทำงาน คนที่สำคัญที่สุดคือคนในพื้นที่ ที่ฝันอยากเห็นเด็กๆ ในพื้นที่ของตนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดี คนในพื้นที่เหล่านี้ได้แก่ ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา อปท. และสถานประกอบการขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่ต้องการทำโครงการ CSR ในพื้นที่ ซึ่งจำแนกได้เป็นฝ่ายลงมือทำ และฝ่ายสนับสนุน


          เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ค. ๕๔ ผมไปร่วมประชุมกับทีมของมูลนิธิสดศรีฯ (มสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล   เพื่อหารือกันเรื่องการเริ่มลงมือทำโครงการครูเพื่อศิษย์   โดยที่เป้าหมายสุดท้ายคือผลการเรียน (ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา) ของนักเรียนในพื้นที่เป้าหมาย ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม   การพูดคุยกันในเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง สร้างแรงบันดาลใจให้ผมเขียนบันทึกนี้

          การทำงานแบบไม่มีเงิน ดีอย่างนี้เอง มันทำให้เราต้องคิดหลายชั้น   ว่าจะวางยุทธศาสตร์การทำงานอย่างไร   มีผลทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ฉลาดขึ้น (จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้)

          ข้อเรียนรู้ของผมก็คือ โครงการเครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ ที่กำลังจะเริ่มลงมือนั้น   หากผู้ดำเนินการ คือ นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กับคุณอ้อ (วรรณา เลิศวิจิตรจรัส) วางท่าทีในลักษณะของการไปชวนครู  โรงเรียน  เขตพื้นที่  อปท. มาร่วมโครงการเพื่อบรรลุความฝันของ มสส.  ท่าทีแบบนั้นน่าจะผิด  และทำให้บุคลิกของโครงการเพี้ยน   ไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวังได้ 

          เพราะเป้าหมายสุดท้ายดังกล่าวนั้น จะเกิดขึ้นได้ต้องมีหลายปัจจัยมาประกอบกัน ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน   และดำเนินการอย่างซับซ้อน   หลายส่วนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว   คือทำตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนตายตัวไม่ได้ทั้งหมด   ต้องมีความยืดหยุ่นสูง   เพราะมันเป็นโครงการสร้างสรรค์

          งานสร้างสรรค์ที่ซับซ้อนขนาดนี้ ต้องการคนมีฝันมาร่วมกันทำงาน   คนที่สำคัญที่สุดคือคนในพื้นที่ ที่ฝันอยากเห็นเด็กๆ ในพื้นที่ของตนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดี   คนในพื้นที่เหล่านี้ได้แก่ ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา  อปท.  และสถานประกอบการขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่ต้องการทำโครงการ CSR ในพื้นที่   ซึ่งจำแนกได้เป็นฝ่ายลงมือทำ และฝ่ายสนับสนุน

          เราคุยกันว่า พลังของโครงการนี้อยู่ในพื้นที่   อยู่ในความฝันร่วมกันของหลายฝ่ายในพื้นที่ ที่ต้องการเห็นเด็กๆ ในพื้นที่ของตนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดี  แต่คนเหล่านี้ยังอยู่ในสภาพต่างคนต่างอยู่   ต่างคนต่างฝัน และฝันไม่ชัด หรือไม่รุนแรงพอ

          หน้าที่ของคุณอ้อแห่ง มสส. คือ ไปทำให้ฝันนั้นชัดเจน มีพลัง   เป็นฝันร่วมกันของคนในพื้นที่หลายฝ่าย   ด้วยการทำให้ความฝันที่แยกส่วนกันอยู่นั้น ประกอบกันเข้าจนมันเสริมพลังกัน  ไปสู่การลงมือทำร่วมกัน ในต่างบทบาท   ในลักษณะที่ “ทรัพยากร” หรือ “ท่อน้ำเลี้ยง” ร้อยละ ๙๐ มาจากพื้นที่

          บทบาทของ มสส. จึงไม่ใช่ไปชวนคนในพื้นที่ให้มาร่วมงานของ มสส.   แต่เป็นการไปร่วมทำให้ฝันของคนในพื้นที่เป็นจริง   ฝันนั้นเป็นของคนในพื้นที่ ไม่ใช่ของ มสส.

          พลังของ มสส. ไม่ใช่เงินบริจาคให้ทำโครงการ   แต่เป็นทักษะสำคัญ ๓ ประการ คือ (๑) ทักษะในการเชื่อมโยงให้คนในพื้นที่มารวมตัวกัน เกิดความฝันร่วมกัน ที่เป็นฝันที่ชัดเจน และมีพลัง จนเข้ามาร่วมกันลงมือทำ   (๒) ทักษะในการส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนรู้แบบ PBL  และ (๓) ทักษะในการอำนวยความสำดวกให้เกิด PLC  

          เครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายของ มสส. ไม่ใช่เงิน   เงินเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ   แต่ปัจจัยที่ยิ่งใหญ่คือ องค์สาม ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่แล้ว   รวมเป็นสี่ปัจจัย

          และปัจจัยที่ ๕ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อโครงการเครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์   คือท่าทีที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ)   อันได้แก่ท่าทีที่ไม่เป็นเจ้าของ   ในลักษณะของ empowerment leadership

 

          รวมเป็นปัญจปัจจัยแห่งความสำเร็จของ โครงการเครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๗ พ.ค. ๕๔
บนรถกำลังมุ่งหน้าสู่สัตหีบ


                
                
       

หมายเลขบันทึก: 446305เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านดูแล้ว แสดงว่าทั้งนิยามและหนทางของโครงการ "ครูเพื่อศิษย์" ยังรอการ "ตกผลึกเต็มที่" อยู่ เพราะยังคิดไม่เหมือนกัน รู้สึกไม่เหมือนกัน และฝันไม่เหมือนกันทีเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท