Creative Friend บทบาทของ “เพื่อน” ในการพัฒนาคุณค่าชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์


เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ย่อมเน้นหนักที่เงินทองและความมั่งคั่งเป็นคำตอบสุดท้าย หากทว่าในระหว่างเส้นทางที่ยืดยาวนั้น มิตรภาพและความไว้ใจกลับเป็นคำตอบที่มีคุณค่าสูงสุด ในจิตใจมนุษย์ที่แสนจะเปราะบางและโหยหาความเข้าใจ

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ (www.siamintelligence.com)

 

 
 


หากอยากรู้จักตัวตนของใครสักคน ให้ดูที่เพื่อนสนิทซึ่งอยู่ใกล้ชิดแวดล้อม


 

บางคนคบเพื่อนเพื่อเกาะกินผลประโยชน์ชื่อเสียง
บางคนคบเพื่อนเพื่อกินเที่ยวเล่นเมาหัวราน้ำ
บางคนคบเพื่อนเพราะถูกจริตนิสัยใจคอ หากทว่าสิ่งที่ไม่ค่อยตระหนักกันก็คือ
“เพื่อน” ต่างมีอิทธิพลต่อความคิดและนิสัยใจคอของเราไม่มากก็น้อย ดังนั้น
ความสำเร็จล้มเหลวในชีวิตคน จึงย่อมมีเพื่อนเป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอ
ไม่ว่าจะเลือกคบเพื่อนเพราะเหตุผลกลใดก็ตาม


มนุษย์เป็นสัตว์ที่แปลกประหลาดและซับซ้อนที่สุด
โดยมีธรรมชาติเป็นผู้ออกแบบที่ยิ่งใหญ่
ผ่านกระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์และวิวัฒนาการนับพันล้านปี
ทำให้มนุษย์ซึ่งมีสัญชาตญาณเห็นแก่ตัวเหมือนสัตว์ทั่วไป
หากทว่ากลับมีอารมณ์รู้สึกอ่อนไหว รู้จักผิดชอบชั่วดี
รู้จักตอบแทนบุญคุณและแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ
รู้จักร่วมมือกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพื่อก่อร่างสร้างอารยธรรมและเทคโนโลยี
ที่น่าอัศจรรย์ใจ


มนุษย์เหนือล้ำกว่าไดโนเสาร์และเสือสิงห์กระทิงแรด
ก็เพราะมีภาษาและการสื่อสารร่วมมือระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้มนุษย์แปรเปลี่ยนจากสัตว์อ่อนแอไร้เขี้ยวเล็บ
กลายเป็นเทพเจ้าทรงอำนาจและโหดเหี้ยมที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งปวง


เพื่อนร่วมคิด (Creative Friend) นับเป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์
ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมเที่ยว
และเพื่อนร่วมชะตากรรม
โดยอาศัยความฉลาดและทรัพยากรของตนในการผลักดันเพื่อนให้ไปสู่ความสำเร็จร่วม
กัน ในยามเหนื่อยล้าจากการทำงาน ก็พร้อมจะบุกตะลุยป่าเขาชายหาด
เพื่อชื่นชมสายหมอกและแสงดาวข้างเคียงกัน ในยามวิกฤตตกต่ำไร้คนเหลียวแล
ก็ยังทุ่มเทไหวพริบและความเสียสละ
เพื่อร่วมพลิกชะตาไปสู่แสงสว่างที่ปลายฟ้า
ไม่หวั่นเกรงว่าวันเวลาที่มืดมิดจะยืดยาวเพียงใด



ความสำเร็จของอัจฉริยะในแทบทุกวงการ ตั้งแต่ธุรกิจ การเมือง
ไปจนกระทั่งวิทยาศาสตร์และศิลปะ ก็ล้วนแต่อาศัย “เพื่อนร่วมคิด”
ในการแลกเปลี่ยนปัญญาและปรับแต่งความคิด (Knowledge Management)
ยืนหยัดสนับสนุนในวันที่โลกทั้งใบไม่ตระหนักเห็นในคุณค่า
ทำให้อัจฉริยะซึ่งเป็นคนมีเลือดมีเนื้อเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป
ไม่ท้อถอยสิ้นแรงไปก่อนวันเวลายิ่งใหญ่จะมาเยี่ยมเยือนในอีกหลายสิบปีเบื้อง
หน้า


ในห้วงยามที่อัจฉริยะได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่แล้ว
“เพื่อนร่วมคิด” ทั้งหลายก็จะถอยไปอยู่หลังฉากโดยปริยาย
อัจฉริยะบางคนอาจยังคงคบหากับเพื่อนร่วมคิดอย่างสม่ำเสมอเหมือนในวันแรกแห่ง
ความประทับใจ
หากทว่าอัจฉริยะก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากเพื่อนร่วมคิดเพียงแหล่ง
เดียวอีกต่อไป
เนื่องจากชื่อเสียงและความร่ำรวยย่อมเป็นใบเบิกทางให้อัจฉริยะสามารถเลือก
ใช้ทรัพยากรจากบุคคลภายนอกได้อย่างหลากหลายล้นเหลือ


สถานที่พักพิงสุดท้ายของเพื่อนร่วมคิด ก็คือ
หนังสือชีวประวัติของอัจฉริยะ
ที่อาจบรรยายบทบาทของเพื่อนร่วมคิดเพียงไม่กี่บรรทัด
แล้วข้ามไปถึงเนื้อหาตอนที่ประสบความสำเร็จแล้ว
ซึ่งเป็นที่สนใจของผู้อ่านในวงกว้างที่ไม่นิยมขั้นตอนและความยากลำบากในการ
สร้างเนื้อสร้างตัว หากทว่าชบชอบงานสังคมและการเลี้ยงฉลองที่หรูหราฟู่ฟ่า


ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (Creative Product)
เป็นสินค้าที่ต้องใช้เวลายาวนานในการสื่อสารกับผู้บริโภคที่คุ้นชินกับ
โลกทัศน์แบบเก่า นักสร้างสรรค์จึงต้องเผชิญ “ความเสี่ยง”
ในการถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า
จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่นักสร้างสรรค์จะนำไอเดียบรรเจิดของตนเองไปประเมินราคา
เพื่อขอเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกัน
กฎหมายลิขสิทธิ์ก็เป็นเพียงความฝันที่ห่างไกลสุดเอื้อม
เพราะผู้สร้างสรรค์เองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถยืนหยัดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ได้เนิ่นนานเพียงใด ภายใต้ผลตอบแทนที่แสนต่ำต้อย
ในโลกที่เต็มไปด้วยความเฉื่อยชาแห่งการต้อนรับสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากความ
คุ้นชินเดิม


ทางออกของนักสร้างสรรค์ ก็คือ การฝึกฝนเสน่ห์และบารมี (Charisma)
เพื่อชักจูงโน้มน้าวผู้คนในหลากหลายวงการ
ให้เปลี่ยนจากผู้ชื่นชมผลงานและเพื่อนสนิทกลายเป็น Creative Friend
ผู้ศรัทธาในอนาคตของนักสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์ ซึ่งพร้อมจะสนับสนุนทั้งเวลา
ความคิด เงินทุน และทรัพยากร
โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนในระยะสั้นและความเสี่ยงแห่งการเผชิญความล้มเหลวที่
มืดมิด


จงพลิกแพลงเงินทุนที่มีอยู่น้อยนิด
เพื่อใช้เป็นค่าเดินทางในการพบปะสร้างสัมพันธ์ที่ลุ่มลึกกับกลุ่มคนที่หลาก
หลาย
ปรับแต่งไอเดียอัจฉริยะของตนเพื่อสอดแทรกเข้าไปในบทสนทนาอย่างละมุนแนบเนียน
ขัดเกลาจังหวะลีลาและบุคลิกภาพให้ดูโดดเด่นกระชากวิญญาณฝัน
เอาใจใส่กับรายละเอียดที่อยู่ลึกลงไปในระหว่างบรรทัดของคู่สนทนา
เพื่อหวังว่า 100 คนที่พานพบ จะมีเหลือสัก 1 คนซึ่งจะกลายเป็นเพื่อนร่วมคิด
(Creative Friend) ที่จะพลิกเปลี่ยนชีวิตนักสร้างสรรค์ไปตลอดกาล


ระหว่างรอคอยความสำเร็จมาเยือน
นักสร้างสรรค์อาจต้องมีอาชีพพิเศษที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ (Cash Cow)
เพื่อหล่อเลี้ยงปากท้องและใช้เป็นทุนรอนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
จนกว่าโลกหล้าที่เฉื่อยชาจะขานรับ


Creative Friend แตกต่างจากสาวกผู้ศรัทธา (Zealot)
ที่ยินดีสนับสนุนผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์แบบไม่ลืมหูลืมตา
หากทว่าไร้คุณูปการในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงส่งดีเลิศ
เพียงพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหญ่ Creative Friend
จึงเป็นสินทรัพย์ที่หาได้ยากยิ่ง
เพราะไม่เพียงเข้าใจลึกซึ้งถึงผลิตภัณฑ์ของนักสร้างสรรค์
หากยังส่งมอบมุมคิดที่ “แตกต่าง”
เสริมใส่ทัศนะวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ล้นเหลือให้กับนักสร้างสรรค์
ที่สำคัญก็คือ ความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ (Creative Conflict)
จะต้องไม่รุนแรงเกินขีดจำกัด
ซึ่งจะทำให้สายสัมพันธ์แห่งการเป็นเพื่อนร่วมคิดต้องสูญสลายไป


เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) จึงมีลักษณะที่ลักลั่นย้อนแย้ง
ในด้านหนึ่งก็เป็นความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจที่ผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาแลก
เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ตามแนวทางแห่งกลไกตลาดที่เยือกเย็น
หากทว่าด้วยลักษณะพิเศษของผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (Creative Product)
ที่ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้บริโภคซึ่งต้องใช้เวลายาวนานในการเรียนรู้
จึงทำให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ไม่อาจพึ่งพาแหล่งรายได้จากกลไกตลาดเพื่อ
หล่อเลี้ยงตนเองได้ในระยะเริ่มต้น
หากต้องมีการพัฒนาสายสัมพันธ์เชิงสังคมที่เรียกว่า Creative Friend
ในการฟูมฟักหล่อเลี้ยงผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์
จนกระทั่งได้รับการตอบสนองที่ดีจากผู้บริโภคในระบบตลาดทั่วไป


รัฐบาลไทยจำเป็นต้องตระหนักถึงความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ที่ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการตลาดเพียงอย่างเดียว
หากยังมีความสัมพันธ์เชิงสังคมของมนุษย์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงบ่มเพาะนัก
สร้างสรรค์ (Creative Talent)
ให้ยืนหยัดจนกระทั่งผลงานเป็นที่ยอมรับในระบบตลาดอีกด้วย


การทุ่มเททรัพยากรมหาศาลไปที่การพัฒนากลไกตลาดเพื่อรองรับเศรษฐกิจสร้าง
สรรค์เพียงอย่างเดียว
ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฏหมายลิขสิทธิ์หรือการแปลงความคิดสร้างสรรค์ให้
กลายเป็นสินทรัพย์เพื่อค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์
จึงเป็นเพียงการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ธรรมดาที่ได้ครอบครองตลาดอยู่แล้วให้ขยาย
ตัวต่อไปจนถึงจุดอิ่มตัวเท่านั้น ไม่ได้เป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์
(Creative Product) ที่มีความสดใหม่
เต็มไปด้วยศักยภาพมหาศาลในการเติบโตได้มีโอกาสงอกงามขึ้นมาเป็นตัวขับ
เคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากขีดจำกัดของความตีบตัน


Creative Friend จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ไทย
ที่เต็มไปด้วยสุดยอดความคิด หากยังขาดแคลนทรัพยากรในการสนับสนุน
การจัดสรรเงินทุนที่มีน้อยนิดไปกับงบการตลาดเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่
รู้จักจึงเป็นวิธีคิดที่ผิดพลาด
เพราะละเลยลักษณะเฉพาะของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการ
พัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค หากทว่า
การลงทุนจากเงินเพียงน้อยนิด
โดยผสมผสานหัวใจยิ่งใหญ่ลงไปในการสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมแบบ Creative
Friend ย่อมเติบโตเป็นสินทรัพย์ยิ่งใหญ่ที่คงทนต่อกาลเวลาในการพิสูจน์
ซึ่งช่วยรดน้ำพรวนดินให้ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อม
ได้รับโอกาสในการผลิบาน


เศรษฐกิจสร้างสรรค์
ย่อมเน้นหนักที่เงินทองและความมั่งคั่งเป็นคำตอบสุดท้าย
หากทว่าในระหว่างเส้นทางที่ยืดยาวนั้น
มิตรภาพและความไว้ใจกลับเป็นคำตอบที่มีคุณค่าสูงสุด
ในจิตใจมนุษย์ที่แสนจะเปราะบางและโหยหาความเข้าใจ


“เพื่อน”
เป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากฝูงสัตว์ที่มาอยู่รวมกันเพราะผลประโยชน์และความ
อิ่มท้องเท่านั้น
การแสวงหาคุณค่าจากเพื่อนทั้งในเชิงของการกินเที่ยวผ่อนคลายหรือการเป็น
เพื่อนร่วมคิด (Creative Friend) ที่ร่วมมือกันไปสู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่นั้น
ก็ย่อมมีความละเอียดอ่อนของจิตใจเป็นที่ตั้ง
จะใช้เพียงความสมเหตุสมผลอย่างเดียวไม่เพียงพอ
หากยังควรเรียนรู้ศิลปะแห่งการผ่อนสั้นผ่อนยาว
มนต์เสน่ห์ในการสร้างความแปลกใหม่ให้ความสัมพันธ์ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ
การสื่อสารจากใจถึงใจ ที่ไม่อาจหยั่งวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ตลอดกาล



หมายเลขบันทึก: 445934เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2011 01:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับคุณเจริญชัย

ผมขอแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ครับว่า...เริ่มจากตัวเราในการเป็นเพื่อนแบบสร้างสรรค์... ไม่ใช่เพื่อหวังผลว่าจะได้ผลตอบแทน นะครับ ...แต่ผมว่าคงจะดีกว่าหรือเห็นผลเร็วกว่าหากเริ่มที่ตัวเราก่อนเรา... ด้วยเพราะผมเชื่อในอานุภาพของการแบ่งปันครับผม

ขอบคุณครับ เห็นด้วยครับว่า ควรจะเริ่มจากตัวเรา แต่หากเขียนทั้งฝั่งตัวเราและคนอื่นพร้อมกัน จะทำให้บทความซับซ้อนเกินควรครับ (แค่นี้หลายคนก็บอกว่าอ่านแล้วงงเลยครับ)

การสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่าการเป็นเพื่อนปกติ นอกจากทำให้เราได้รับประโยชน์แล้ว ยังทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกันที่เข้มข้นขึ้น ทำให้ความผูกพันยิ่งแนบแน่นลึกซึ้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท