KM หน่วยทะเบียนมะเร็ง รพ.ร้อยเอ็ด (1)


ผลตอบรับความพึงพอใจของผู้ป่วย พบว่า 80 – 90 % มีความพอใจในการใช้บริการ และระบบการรักษาที่ต่อเนื่องของโรงพยาบาลในเรื่องการตรวจมะเร็งแบบครบวงจร และจำนวนกว่า 80 % ของผู้ให้บริการ ( Provider) มีการรับรู้ข้อมูลผ่าน IT ที่หน่วยทะเบียนมะเร็งฯ ของโรงพยาบาลเซ็ตขึ้นมาเพื่อการติดตามคนไข้อย่างใกล้ชิด

         

                เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมจับผม "นายแขก" พร้อมด้วยพี่อ้อ(วรรณา) ผู้เชี่ยวชาญการจับภาพในส่วนของโรงพยาบาลได้ลงพื้นที่ จับภาพกันที่ รพ. ร้อยเอ็ดซึ่งมีหลายส่วนและหลายหน่วยที่มีระะบบงานที่พอจะเห็นภาพ KMอยู่บ้าง เริ่มต้นที่ โครงการพัฒนาระบบการให้บริการตรวจรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกระยะก่อนมะเร็ง แบบครบวงจร โรงพยาบาลร้อยเอ็ด

              คุณเอมอร อาภารัตน์ หัวหน้าหน่วยทะเบียน บอกถึง งานของหน่วยมะเร็งปากมดลูก ที่เป็นปัญหาปีละ กว่า 50 ราย สูงเป็นอันดับ 3 ของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด แต่การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และการตรวจด้วย VIA เป็นวิธีการตรวจแบบใหม่ด้วยน้ำส้มสายชู ซึ่งผู้ที่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้ จะต้องผ่านการอบรมอย่างเข้มข้นของสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องผ่านการอบรมและมีใบรับรองยืนยันชัดเจน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งนี้ก็ผ่านการฝึกอบรมมาถึง 6 ท่านด้วยกัน         กลุ่มที่ผ่านการอบรมนี้ จะเรียกว่ากลุ่มผู้ให้บริการ (Provider) โดยการออกไปทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในชุมชน เมื่อเห็นความผิดปกติ ก็จะส่งคนไข้เข้ามาที่ รพ. ร้อยเอ็ด อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะมีสูตินรีแพทย์ประจำอยู่ที่ รพ. ทำการตรวจอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการส่องกล้องColposcope

            หากมีอาการการผิดปกติแล้ว หมอต้องการรักษาในเบื้องต้น และพิจารณาต่อไปว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ก็จะทำการตัดชิ้นเนื้อส่วนนั้นส่งตรวจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะมีพยาบาล ให้การดูแลในส่วนนี้อีกช่วงหนึ่งทางด้านพยาธิวิทยา และรอผลชิ้นเนื้ออีกครั้งหนึ่ง ประมาณ 3 สัปดาห์

               ทั้งนี้จะมีการขึ้นทะเบียนคนไข้ทุกครั้ง ว่าคนไข้แต่ละรายหลังจากตัดชิ้นเนื้อไปแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยคุณหมอที่ทำการรักษาก็จะมีการติดตามผล และนัดคนไข้เพื่อดูแผลว่า บริเวณที่ทำการติดนั้นมีการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งข้อแนะนำที่ รพ. ได้ให้กับผู้ป่วยไปแล้วอาจมีการปฏิบัติตามหรือละเลยก็ได้ ซึ่งทาง รพ. พบว่าคนไข้ละเลยการปฏิบัติตัวในช่วงการรักษาจำนวนมาก              

               อีกทั้งการทำงานหนัก ก็มีอาการข้างเคียงเข้ามา ซึ่งทาง รพ. ก็จะต้องนัดตรวจระยะยาว จาก 3 เดือน 6 เดือน 10 เดือน หรือ 1 ปี ก็เป็นได้ ซึ่งจะต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง ถึงจะครบวงจร หลังจากนั้นก็จะต้อง Follow up ทุก 1 ปี เพราะผู้หญิงที่มีสามีก็มีโอกาสที่เชื้อ HPV ที่เกิดจากมะเร็งปากมดลูกนั้นกลับมาได้      

             หน่วย VIA จึงเน้นการตรวจคัดกรองเฉพาะมะเร็งปากมดลูก หากช่วงใดที่มีการรณรงค์เรื่องเบาหวาน หรือ เส้นเลือดอุดตัด ก็จะมีการตรวจไปในคราวเดียวกันด้วย นอกจากนี้หากผู้ป่วยขึ้นเตียงแล้ว แทบทุกราย เจ้าหน้าที่จะให้ความรู้และตรวจเรื่องมะเร็งเต้านมด้วย เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มาตรวจ จะไม่มีความรู้เรื่องมะเร็งเต้านม เพื่อให้เขาไปสอนเพื่อนๆ ข้างบ้านด้วย               

             ส่วนมาก ผู้ป่วยในพื้นที่ จะไม่กล้าตรวจกับเจ้าหน้าที่ ที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน ซึ่งคุ้นหน้ากันอยู่แล้ว เขาก็จะรู้สึกเขินอาย แต่หลังจากที่เราเปลี่ยนกลยุทธ์ใช้การรักษาเชิงรุก โดยให้เจ้าที่ โรงพยาบาล ออกไปคัดกรองถึงในพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยกล้าตรวจมากขึ้น และเน้นการชี้ให้ผู้ป่วยเห็นถึงความสำคัญของการตรวจรักษามะเร็งด้วยการคัดกรอง ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกได้จำนวนมาก และหันมาใส่ใจกับสุขภาพตนเองเพิ่มมากขึ้น    คุณเอมอร ให้เหตุผลในการคัดกรอง         

               ทั้งนี้ทีมเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย กับทีมให้บริการ (  Provider) ก็จะมีการประชุมกันทุกเดือน ในการติดตาม ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งมีการติดตามกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการอายุ 35 45 ปี ทุกรายจะต้องได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูก

                 ปัญหาอีกอย่างคือ ชาวบ้านยังต้องมีภาระออกไปทำงาน ทำให้ไม่สามารถตรวจได้ครอบคลุมพื้นที่ทุกราย ซึ่งภาพรวมเรื่องนี้จะเป็นเหมือนๆกันทุกที่คือ ผู้รับการรักษายังมีจำนวนที่ค่อนข้างต่ำอยู่ (เกิดจากความอาย และความกลัว)               

                แต่สิ่งสำคัญคือ งานคัดกรอง หากตรวจแล้ว คัดกรองว่ามีโอกาสเสี่ยงจะเป็นมะเร็ง จะเป็นสิ่งที่น่ายินดีกับเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่จะให้การดูแลรักษา และป้องกันก่อนที่ผู้ป่วยท่านนั้นจะเป็นมะเร็งในระยะต่อไป ซึ่งคุณหมอ ก็ให้การดูและอย่างทั่วถึง                

                 ทีมออกไปเมื่อเจอแล้วเอามาให้คุณหมอทำการรักษา และดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่องครบวงจร ถ้าเป็นระยะก่อนมะเร็งคุณหมอจะมีวิธีให้การรักษาอย่างไร? และมีการบันทึกประวัติผู้ป่วย ติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ตัดชิ้นเนื้อไปแล้ว โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง อีก 5 10 ปี คุณหมอก็จะตัดชิ้นเนื้อให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำในแผนกผู้ป่วยนอกสามารถทำแล้วกลับบ้านได้เลยไม่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล             

                 วิธีนี้ เรียกว่า วิธี ( LEEP : Loop Electrosurgical Excision Proceder)คือ การตัดมะเร็งปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า เป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย มีภาวะแทรกซ้อนน้อย และค่าใช้จ่ายต่ำกว่า การผ่าตัดแบบดั้งเดิมด้วยการใช้มีดตัดปากมดลูกเป็นรูกรวย ( Cold Knife Conization)

              ทั้งนี้มีการดูแลเป็นระยะๆ เป็นการตัดวงจรที่ผู้ป่วยจะก้าวไปสู่มะเร็ง แต่หากเหนือการดูแล ของรพ.ร้อยเอ็ด ก็จะมีระบบส่งต่อให้คนไข้รักษาตัวที่ศูนย์มะเร็งขอนแก่น / อุบลฯ / อุดร ได้อีกด้วย          

                   การลงดัชนีผู้ป่วย ในหน่วยทะเบียนมะเร็ง ซึ่งเป็นการติดตามผู้ป่วยระหว่างเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย กับ โรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี เป็นการติดตามผ่านเว็บไซต์ ในเรื่องของอาการผู้ป่วย ทั้งจากสถานีอนามัย และการตรวจที่โรงพยาบาล ทำให้ความคาดเคลื่อนในการตรวจของผู้ป่วย ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากนั้นก็นัดคนไข้มาดูเป็นระยะๆ ซึ่งในแฟ้มประวัติจะมีการรายงานความก้าวหน้าของอาการผู้ป่วยทุกๆคน ทำให้การติดตามแต่ละครั้งสามารถดำเนินการรักษาได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว                 

                   คุณหมอชิตเขต โตเหมือน บอกว่า กลุ่ม Provider เป็นครู ก. ซึ่งมีการอบรม แล้ว ก็มีการให้Provider มีการอบรมกันเอง ซึ่งมีพยาบาลที่ให้การบริการ ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ในพื้นที่ ซึ่งที่ในหน่วยก็จะมีการเอาผลการตรวจทุกชนิดขึ้น Website ซึ่งเมื่อก่อน รพ.มีแค่การ Refer ในใบสีชมพู แต่เนื่องจากระบบดังกล่าวทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนในการติดตามผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองแล้ว ระหว่างสถานีอนามัย กับ โรงพยาบาลที่ต้องส่งผ่านข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก

                  ระยะหลังหน่วยทะเบียนมะเร็งจึงคิดหาวิธีการเรื่องระบบติดตาม จึงพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม    ซึ่งสามารถรับรู้ได้ว่าผู้ป่วยมีการตรวจแล้ว ผลเป็นอย่างไร และหมอจะรักษาอย่างไรต่อไป ซึ่งจะเป็นการใส่รหัสตัวเลขที่ง่าย และเป็นระบบที่รู้กันระหว่างหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด                   ซึ่งก่อนที่จะขึ้นทะเบียน จะมีการถามคนไข้เสมอว่า ยินยอมจะให้นำข้อมูลนั้น เปิดเผยได้หรือไม่ หากไม่ยินยอมก็จะไม่เปิดเผยข้อมูลในการรักษาและผลของการรักษา แต่หากยินยอมก็จะสามารถเปิดเผยข้อมูลขึ้นที่เว็บไซต์ ตามทะเบียนของคนไข้คนนั้น และคนไข้สามรถติดตามข้อมูลการรักษา พร้อมทั้งตารางวันนัดตรวจครั้งต่อไปของคนไข้ผ่านเว็บไซต์ได้อีกด้วย               

                     ทั้งนี้ในกลุ่ม Provider ก็จะมีการประชุมกันเองเดือนละครั้ง ทั้งเรื่อง การตรวจแบบ VIA  เรื่องระบบข้อมูลต่าง ๆ ปีแรกที่รพ. ร้อยเอ็ด ได้ HA เพราะเซ็ตระบบข้อมูล มารองรับทั้งระบบ Primary และ Secondary ซึ่งในสมัยก่อนไม่มีระบบ IT ทำให้คลาดเคลื่อนเยอะ ภายหลังจากที่มีระบบ IT ขึ้นมาทำให้การติดตามนั้นมีประสิทธิผลมากขึ้น               

                    ผลตอบรับความพึงพอใจของผู้ป่วย พบว่า 80 90 % มีความพอใจในการใช้บริการ และระบบการรักษาที่ต่อเนื่องของโรงพยาบาลในเรื่องการตรวจมะเร็งแบบครบวงจร และจำนวนกว่า 80 % ของผู้ให้บริการ ( Provider) มีการรับรู้ข้อมูลผ่าน IT ที่หน่วยทะเบียนมะเร็งฯ ของโรงพยาบาลเซ็ตขึ้นมาเพื่อการติดตามคนไข้อย่างใกล้ชิด                  

หมายเลขบันทึก: 44591เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2006 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท