ปัญหาในการทำงาน และทัศนคติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม


ปัญหาในการทำงาน และทัศนคติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม

ปัญหาในการทำงาน และทัศนคติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม

เข้าใจว่าผู้ที่นำคำพูด (คำสอน) ของครูบาอาจารย์มากรอกหูพนักงานนั้นต้องการจะสื่อสารเพื่อให้กำลังใจ
            ที่องค์กรแห่งหนึ่ง พนักงานมักจะบ่นว่า “งานยุ่งมาก มีเรื่องยุ่งยาก มีปัญหาให้แก้ตลอดเวลา” หลังจากที่ผู้บริหารได้คุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่มีความเห็นคล้ายๆ กันว่า “น่าจะต้องมีเวลาพูดคุยประสานงานกันให้มากขึ้นหรือต้องมีการประชุมวางแผนให้มากกว่าที่ผ่านมา” แต่ปรากฏว่าพนักงานส่วนใหญ่กลับไม่เล่นด้วย (ไม่เห็นด้วย) กลับมีเสียงสะท้อนออกมาว่า “ที่ผ่านมาก็แทบจะไม่มีเวลาแล้ว ยังจะต้องมาเสียเวลานั่งประชุมกันอีกหรือ?”  ซึ่งผลสุดท้ายก็กลายเป็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ทุกคนยังยุ่งเหมือนเดิม ยุ่งอยู่กับปัญหาไม่มีเวลาพูดคุยประชุมกัน

 

            สิ่งที่น่าเป็นกังวล เป็นผลพวงอันเนื่องมาจากที่ระยะหลังๆ นี้ มีคำพูด (คำสอน) ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “ปัญหามา ปัญญาเกิด” หรือ “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ซึ่งเข้าใจว่าผู้ที่นำคำพูด (คำสอน) ของครูบาอาจารย์มากรอกหูพนักงานนั้นต้องการจะสื่อสารเพื่อให้กำลังใจ คือมีความหมายไปในทำนองที่ว่า “อย่าได้ท้อต่อปัญหา อย่ามองว่าการทำงานเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ” อะไรทำนองนั้น โดยที่ท่านไม่รู้เลยว่าสำหรับพนักงานแล้ว คำสอนเพื่อเตือนใจเหล่านี้กลับมีความหมายไปในทำนองที่ว่า “จงทนต่อไปเถอะ” หรือ “ให้นึกซะว่ากำลังปฏิบัติธรรมก็แล้วกัน”
            
            ผมฟังแล้วก็อดเป็นห่วงคนเหล่านั้นไม่ได้ คิดว่าท่านอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำสอนดังกล่าว ดูเหมือนท่านเหมาเอาว่าถ้าเป็นเรื่องที่ยากๆ เป็นเรื่องที่ลำบากก็ให้นึกถึงการปฏิบัติธรรม ผมว่านี่เป็นทัศนคติที่ผิดต่อคำว่า “ปฏิบัติธรรม” เพราะสำหรับผมแล้วการปฏิบัติธรรมคือการฝึกรู้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นกลาง ไม่มีลบไม่มีบวก ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ทำงานเจอปัญหามีความหนักใจก็ให้ “รู้สึกตัว” (รู้สึกถึงความหนักใจนั้น) หรือเมื่อทำงานได้ผลดีมีคนชม หัวใจพองโตก็รู้ได้ถึงความรู้สึกอันนั้น ไม่ได้ตีกรอบไว้ว่าถ้าเป็นเรื่องปัญหาหรือเรื่องที่น่าเบื่อถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม และที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่การสอนให้เรา “ทำใจ” สอนให้เรา “ทน” กับสภาพปัญหาเหล่านั้นให้ได้ เพราะถ้าเราฝึกทำแบบนั้นไปเรื่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้าใจของเราก็คงจะด้านชาไม่รู้สึกรู้สาอะไร ซึ่งผมว่ามันน่าจะไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการสอนให้มีสติรู้ตัว (รู้กาย รู้ใจ) ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมตามที่ผมเข้าใจ . . แต่บางทีผมอาจจะผิดก็ได้ . . แชร์กันเข้ามานะครับเผื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน !
คำสำคัญ (Tags): #บริหาร 5
หมายเลขบันทึก: 445892เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2011 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท