ประวัติพระพุทธศาสนาตอนที่ ๔


พระพุทธศาสนาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒ ต่อ

 

พระพุทธศาสนาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒

      การสังคายนาพระไตรปิฎกในครั้งที่ ๒ สืบเนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนของพระพุทธวจนะและคัมภีร์ที่บรรดาพระภิกษุชาวเมืองวัชชีได้ยินได้ฟังมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ในสมัยที่เกิดการขาดแคลนอาหารซึ่งทำให้ภิกษุได้รับความเดือดร้อนและพระพุทธองค์ได้ตรัสอนุโลมให้ภิกษุวัชชีบุตรปฏิบัติตามวัตถุ ๑๐ ประการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่งหลังการสังคายนาครั้งที่ ๑ ผ่านไป ภิกษุชาววัชชีก็ยังประพฤติปฏิบัติตามวัตถุ ๑๐ ประการดังกล่าวอยู่จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในการประพฤติพระธรรมวินัยอันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดการสังคายนาครั้ง ๒ และการแยกนิกายของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาขึ้น

 

๓.๑  สาเหตุของการสังคายนาครั้งที่  ๒

                   สาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของการสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้ มีอยู่ ๒ มติ ทั้งฝ่ายเถรวาท และมหายาน โดยฝ่ายเถรวาทมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีเล่มที่ ๗ ส่วนมติฝ่ายมหายานได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ธรรมเภทจักรศาสตร์ของพระวสุมิตร และอรรถกถาแห่งคัมภีร์นั้น เพื่อให้นักศึกษาได้รู้อย่างกว้างขวางและรอบด้านจึงควรนำมากล่าว ณ ที่นี่ ดังต่อไปนี้

๓.๑.๑ หลักฐานฝ่ายเถรวาท

                   หลังจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปได้ ๑๐๐ ปี ความวุ่นวายเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของคณะสงฆ์ในชมพูทวีปก็เกิดความรุนแรงมากขึ้น นั่นคือได้มีภิกษุที่อยู่จำพรรษาอยู่ในเมืองเวสาลี  ได้แตกออกเป็น ๒ ฝ่าย  อันเนื่องมาจากการประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติ   โดยมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่อง วัตถุ ๑๐ ประการ โดยพวกหนึ่งเห็นว่า วัตถุ ๑๐ ประการนี้   ชอบด้วยพระธรรมวินัย อีกพวกหนึ่งเห็นว่า ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย    อันเป็นสาเหตุนำไปสู่การโต้เถียงกันอย่างรุนแรง จนเกิดการแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย และกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแตกแยกกันมาจนถึงทุกวันนี้ อันที่จริงวัตถุ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้แล้วในธรรมวินัย แต่ภายหลังต่อมาพวกภิกษุวัชชีบุตรได้พยายามตีความหมายให้ผิดไปจากของเดิมวัตถุ ๑๐ ประการนั้น คือ[1]

                   ๑) สังคิโลณกัปปะ ภิกษุเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์, กลักหรือกระบอกเขาควายที่นิยมใช้บรรจุดินปืน หรือสิ่งของอื่น บางทีใช้เป่าบอกอาณัติสัญญาณ) แล้วนำไปฉันกับอาหารได้ ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งผิดกับพุทธบัญญัติในวินัยข้อปาจิตตีย์ที่ ๓๘ ซึ่งทรงห้ามมิให้ภิกษุสั่งสมอาหาร  ความว่าอนึ่ง ภิกษุใดเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำการสั่งสม เป็นปาจิตตีย์[2]

                   ๒) ทวังคุลกัปปะ ภิกษุฉันอาหารในเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลีได้ ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งขัดกับพุทธบัญญัติในวินัยปาจิตตีย์ ข้อที่ ๓๗ ซึ่งทรงห้ามมิให้ภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาลตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้ว ความว่า อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี  ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์[3]

                   ๓) คามันตรกัปปะ ภิกษุฉันอาหารในวัดแล้วเข้าไปในบ้านเขาถวายอาหารให้ฉันอีกในวันเดียวกัน ภิกษุมิได้ทำวินัยกรรมมาก่อนก็ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งขัดกับพุทธบัญญัติในวินัยข้อปาจิตตีย์ที่ ๓๕ ซึ่งทรงห้ามมิให้ฉันอาหารที่เป็นอดิเรก ความว่า อนึ่ง ภิกษุใด ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดีฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดีเป็นปาจิตตีย์[4]

                   ๔) อาวาสกัปปะ อาวาสใหญ่ กำหนดสีมาอันเดียวกัน จะทำอุโบสถในที่ต่างๆ กัน เป็นอาบัติ แต่ภิกษุวัชชีแสดงว่าไม่เป็นอาบัติ

                   ๕) อนุมติกัปปะ ถ้ามีภิกษุที่ควรนำฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นำมา จะทำอุโบสถกรรมเสียก่อนไม่ควร แต่ภิกษุชาววัชชีว่า ควร

                   ๖) อาจิณณกัปปะ ข้อปฏิบัติอันใดที่เคยประพฤติตามกันมาแต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ แม้จะประพฤติผิด ก็ควรจะประพฤติตามท่านได้ ไม่ผิดวินัย

                   ๗) อามัตถิตกัปปะ ภิกษุฉันอาหารแล้ว ยังมิได้ทำวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ยังมิได้แปรเป็นนมส้มก่อนไม่ควร ภิกษุชาววัชชีว่าควรฉันได้ ไม่ผิดวินัย

                   ๘) ชโลคิง ปาตุง ภิกษุชาววัชชีเห็นว่า ภิกษุฉันเหล้าอ่อนๆ ที่ยังมิได้เป็นน้ำสุราเมา ได้  ข้อนี้ขัดกับพุทธบัญญัติปาจิตตีย์ ข้อที่ ๕๑ ซึ่งทรงห้ามมิให้ภิกษุดื่มน้ำสุราเมรัย

                   ๙)        อทสกัง นิสีทนัง ภิกษุชาววัชชีแสดงว่า ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายก็ควรไม่ผิดวินัย

                   ๑๐) ชาตรูปรชตัง ภิกษุชาววัชชีแสดงว่า ภิกษุจะรับเงินและทองก็ได้ ซึ่งข้อนี้ขัดกับพุทธบัญญัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ ข้อที่ ๑๘ ซึ่งทรงห้ามมิให้ภิกษุรับเงินและทอง

        ๓.๑.๒ หลักฐานฝ่ายมหายาน

                   จากคัมภีร์พระพุทธศาสนามหายานชื่อ ธรรมเภทจักรศาสตร์ ของพระวสุมิตร และอรรถกถาแห่งคัมภีร์นั้น ซึ่งแต่งโดยพระคันถรจนาจารย์ กุยกี่[5] ในราชวงศ์ถังของจีน บอกว่าการแตกแยกคราวนั้นเกิดขึ้นจากความวิบัติแห่งทิฏฐิ ซึ่งแสดงโดยพระมหาเทวะ ๕ ประการ คือ

                   ๑) พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนจนอสุจิเคลื่อนในเวลาหลับได้

                   ๒) พระอรหันต์อาจมีอัญญาณคือความไม่รู้ในบางสิ่งได้

                   ๓) พระอรหันต์อาจมีกังขา คือความลังเลสงสัยในบางสิ่งได้

                   ๔) ผู้จะรู้ว่าตนได้บรรลุมรรคผลชั้นใด จำต้องอาศัยการพยากรณ์จากคนอื่น

                   ๕) อริยมรรคอริยผลจะปรากฏเมื่อบุคคลเปล่งวาจาว่า “อโห ทุกฺขํ อโห ทุกฺขํ”

                   โดยท่านได้เล่าประวัติของพระมหาเทวะและทิฏฐิของท่านว่า พระมหาเทวะเป็นบุตรของพ่อค้าของหอมเมืองมถุรา เป็นชายหนุ่มผู้มีรูปงามเป็นที่ถูกเนื้อต้องตาของเพศตรงข้ามเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อบิดาไปค้าขายยังต่างถิ่น มหาเทวะลักลอบได้เสียกับมารดาของตน เมื่อบิดากลับมาเขากลัวความลับจะถูกเปิดเผยจึงวางแผนร่วมกับมารดาของตนฆ่าบิดาของเขาตายเสีย จากนั้นก็พามารดาหนีไปอยู่ ณ เมืองปาฏลีบุตร บังเอิญวันหนึ่งมหาเทวะพบพระอรหันต์ชาวมถุรารูปหนึ่ง ซึ่งตนเคยทำบุญแต่ครั้งอยู่มถุรา ก็เกิดระแวงจึงลอบประหารพระอรหันต์รูปนั้นเสีย หลังจากนั้นมารดาที่เป็นภรรยาด้วยนั้น ได้ลักลอบเป็นชู้กับชายอื่น เขาจับได้และโกรธมากจึงฆ่ามารดาทิ้งเสีย เป็นอันว่ามหาเทวะกระทำอนันตริยกรรมถึง ๓ ครั้ง คือ ปิตุฆาต อรหันตฆาต และมาตุฆาต หลังจากได้ทำบาปกรรมมามากแล้วเกิดความสลดใจ จึงเดินทางไปกุกกุฎารามเพื่อขอบรรพชาอุปสมบทกับสงฆ์โดยปกปิดกรรมของตน ได้ฉายาใหม่ตามชื่อ พระมหาเทวะเป็นคนฉลาด บวชแล้วตั้งใจเรียนพระธรรมวินัยจนมีความรู้แตกฉาน เทศนาไพเราะ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วกรุงปาฏลีบุตร จนพระเจ้ากาฬาโศกราชรับเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่พระมหาเทวะก็ยังไม่ละทิ้งนิสัยเดิม คิดหวังจะให้คนมายกย่องยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก จึงกล่าวอวดอ้างว่าตนบรรลุอรหัตผลแก่เพื่อนสหธรรมิกและสานุศิษย์ ทำให้คนเป็นจำนวนมากพากันเคารพนับถือและได้ลาภสักการะเพิ่มขึ้น และเพื่อเอาใจศิษย์ของตนจึงได้พยากรณ์ว่าคนนั้นเป็นโสดาบัน คนนี้เป็นพระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นต้น

                   ต่อมา ท่านนอนหลับฝันอสุจิเคลื่อน เมื่อลูกศิษย์นำผ้าไปซักเห็นเข้าจึงถามว่า “อาจารย์บอกว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ทำไมพระอรหันต์จึงยังนอนฝันอสุจิเคลื่อนเล่า”

                   “พระอรหันต์ทั้งหลายอาจถูกมารยั่วยวน จนอสุจิเคลื่อนได้ในเวลาหลับ” พระมหาเทวะตอบ

                   ศิษย์ที่ท่านบอกว่าตนเป็นพระอริยบุคคลนั้น มีความรู้สึกว่าท่านเองไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเอามากๆ แต่ทำไมอาจารย์จึงบอกว่าตนเป็นพระอริยบุคคล จึงเข้าไปเรียนถามว่า

                   “ท่านอาจารย์บอกกระผมว่า เป็นพระอรหันต์ แต่ทำไมผมไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ทั้งๆ ที่ผู้เป็นพระอรหันต์น่าจะรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริงมิใช่หรือ?”

                   “พระอรหันต์อาจมีอัญญาณ คือความไม่รู้ในบางสิ่งได้” พระมหาเทวะชี้แจง

                   “ในเมื่ออาจารย์บอกว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ทำไมกระผมจึงยังมีความสงสัยอยู่เล่า?”

                   “พระอรหันต์อาจมีกังขา คือความสงสัยในบางสิ่งได้” พระมหาเทวะกล่าว

                   “ตามธรรมดาท่านที่จะเป็นพระอรหันต์ จะต้องเกิดญาณรู้ด้วยตนเองมิใช่หรือว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ทำไมผมจึงไม่มีความรู้เช่นนั้น ยังต้องอาศัยการพยากรณ์จากอาจารย์อยู่เล่า?” ศิษย์ถาม

                   “ผู้ที่จะรู้ว่าตนเป็นพระอรหันต์ ต้องอาศัยการพยากรณ์จากคนอื่น” พระมหาเทวะตอบ

                   หลังจากทำเรื่องนอกรีตนอกรอยหลายอย่างเข้า พระมหาเทวะเกิดความไม่สบายใจ รู้สึกว่า จะอยู่ในอิริยาบถใดก็มีแต่ความเร่าร้อน คืนหนึ่งรู้สึกเร่าร้อนใจมากจนนอนไม่หลับ จึงอุทานว่า อโห ทุกฺขํ อโห ทุกฺขํ แปลว่า ทุกข์หนอๆ เมื่อศิษย์ของท่านได้ยินเข้าจึงถามว่า

                   “อาจารย์บอกว่า ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ทำไมจึงยังบ่นอยู่ว่า อโห ทุกฺขํ อโห ทุกฺขํ อยู่เล่า พระอรหันต์ยังมีทุกข์อยู่อีกหรือ?”

                   “อริยมรรคอริยผลจะปรากฏเมื่อบุคคลเปล่งวาจาว่า อโห ทุกฺขํ อโห ทุกฺขํ” พระมหาเทวะกล่าวตอบ

                   พระมหาเทวะได้ตั้งทิฏฐิ ๕ ประการของตนขึ้นแล้ว และได้พยายามหาพวกให้สนับสนุนความเห็นของตนเมื่อเห็นว่าได้มากสมพอควร จึงได้เสนอความคิดทั้ง ๕ นี้ในท่ามกลางสงฆ์ที่กุกกุฏาราม เพื่อให้สงฆ์ทั้งปวงยอมรับว่า ทิฏฐิของท่านเป็นธรรม แต่พระเถระที่เป็นพระอรหันต์และยึดมั่นในธรรมทั้งปวงปฏิเสธ พระมหาเทวะจึงขอให้ลงมติด้วยเยภุยยสิกา คือการถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณเนื่องจากท่านได้เตรียมบุคคลไว้มากก่อนแล้ว จึงชนะในการลงมติ ส่วนพระเถระที่ยึดมั่นในพระธรรมเห็นว่า ขืนอยู่ต่อไปก็คงขาดความสุขทั้งไม่อาจแก้ไขเรื่องนี้ได้ จึงหนีออกจากเมืองปาฏลีบุตรเพื่อไปจำพรรษาที่เมืองอื่น

                   พระเจ้ากาฬาโศกราชเมื่อทรงทราบ จึงขอร้องไม่ให้พระเหล่านั้นไป แต่พระเถระทั้งหลายไม่ยินยอม ทำให้พระเจ้ากาฬาโศกราชทรงกริ้ว เพราะเข้าใจผิด จึงทรงรับสั่งให้ปล่อยพระเหล่านั้นในเรือแตกกลางแม่น้ำคงคา พระเถระทั้งหลายใช้อิทธาภิสังขารลอยขึ้นไปบนอากาศลงไปสู่แคว้นกาศมีระ พระเจ้ากาฬาโศกราชทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ทรงทราบว่าพระองค์หลงผิดจนถึงกับทำอันตรายต่อพระอริยะเจ้า จึงส่งคนไปขอขมาและอาราธนาให้ท่านเหล่านั้นกลับเมื่อพระเถระเหล่านั้นไม่ยอมกลับจึงโปรดให้สร้างอารามถวายที่แคว้นกาศมีระ



[1] วิ.จูง(ไทย),๗/๔๔๖/๓๙๓

[2] วิ.ม.(ไทย),๒/๔๑๖/๕๑๒

[3] วิ.ม.(ไทย),๔/๔๑๒/๕๐๘

[4] วิ.ม.(ไทย),๔/๓๙๙/๔๙๙

[5] สุชาติ หงษา,(ดร.). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา จากอดีต สู่ ปัจจุบัน.พิมพ์ครั้งที่ ๑, (กรุงเทพฯ : ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรมศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนาจัดพิมพ์), ๒๕๔๙.

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 445890เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2011 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท