กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๐) : ผลลัพธ์ของกระบวนการ Lesson Study (ตอนที่ ๒)


 

กุญแจสำคัญที่ช่วยให้ปฏิบัติการ Lesson Study สัมฤทธิผล

 

  • เป้าหมายที่ชัดเจนของกระบวนการ LS  ทำให้เห็นครูที่ดีในแต่ละหน่วยวิชาชัดเจนขึ้น และสามารถส่งคนเข้าพัฒนาให้ครูเหล่านั้นไปถึงขีดสุดแห่งศักยภาพของตนเองได้อย่างรวดเร็ว 
  • ความร่วมมือกันทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง  ทำให้ครูได้เห็นการทำงานของครูนิเทศ  ได้เรียนรู้การทำงานของครูนิเทศ  และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในทุกแง่มุม  ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างเป็นลำดับขั้น
  • การทำงานมีระบบ  มีขั้นตอนชัดเจน  ทำให้ครูเข้าสู่การทำงานอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอน  และเป็นการทำงานที่แท้จริง  ดังนั้น ทางช่วงชั้นจะเห็นครูตัวจริงของเพลินพัฒนาชัดเจนขึ้น  ส่วนครูที่ยังไม่ใช่จะเริ่มพัฒนาตัวเองโดยมีครูนิเทศตามดูแลอย่างใกล้ชิด
  • การจัดตารางเวลาที่คู่เรียนรู้ และครูนิเทศสามารถทำกระบวนการ  LS  ได้อย่างเต็มกระบวนการและทุกขั้นตอน 
  • การจัดคู่เรียนรู้ในสายวิชา และสายระดับชั้น  โดยให้คนแข็งคู่กับคนอ่อน เพื่อเป็นคู่ช่วยเหลือและเรียนรู้ร่วมกัน
  • การสื่อสารข้อมูลถึงกันทำให้หัวหน้าทีม  หัวหน้าช่วงชั้น  และผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้น  เห็นสถานการณ์การเรียนการสอนได้เร็ว และเข้ากู้สถานการณ์ได้ทันท่วงที

 

ความคืบหน้าของแต่ละหน่วยวิชา

 

หน่วยวิชา  “ภูมิปัญญาภาษาไทย”

 

ครูคู่เรียนรู้มีเวลาการเตรียมกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีการร่วมคิดร่วมกันวางแผนอย่างจริงจัง มีการเข้าสังเกตการสอนของกันและกันเพื่อพัฒนาแผนและการสอนของตนเองและทีม  และมีการสะท้อนหลังการสอนเพื่อปรับและพัฒนาแผนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ  และรู้สึกได้ถึงความเป็นทีมของระดับชั้น

 

หน่วยวิชา  “คณิตศาสตร์”

 

นักเรียนเริ่มสนุกคิดกับโจทย์ที่ท้าทายรวมถึงห้องเรียนในลักษณะเปิดมากขึ้นกว่าในตอนต้นภาคเรียน โดยเฉพาะในระดับชั้น ๑ ที่ทั้งครูและนักเรียนเข้าสู่กระบวนการ  Lesson Study และ  Open Approach  เนื่องจากระดับชั้นนี้เป็นครูใหม่และนักเรียนเพิ่งขึ้นมาจากชั้นอนุบาล  ยังไม่เคยผ่านกระบวนการเรียนการสอนในรูปแบบใดมาก่อนทำให้ทั้งครูและเด็กเริ่มกระบวนการนี้ไปพร้อมๆ กัน  

 

หน่วยวิชา  “มานุษกับโลก”

 

ครูรู้สึกว่ามีการช่วยเหลือกัน  มีความเป็นทีมมากยิ่งขึ้น  แผนและสื่อมีการจัดปรับได้อย่างทันท่วงที  มีห้วงเวลาในการวางแผน  การเข้าสังเกต  และการสรุปหลังการสอนอย่างชัดเจน  ทำให้ทุกคนทำงานได้ครบทั้ง  ๓  กระบวนการ  ทำให้เห็นภาพของตัวเองและเพื่อนในทีมอย่างชัดเจน

 

ในด้านการสอนมีความเป็น  co-teaching  มากกว่าเดิม  เนื่องจากหน่วยวิชานี้ต้องมีการจัดฐานปฏิบัติการและสังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคลทำให้ครูทุกคนในทีม ได้เห็นกระบวนการทั้งหมดในห้องและเห็นกระบวนการเรียนรู้นักเรียนทั้งระดับ และสามารถนำข้อมูลมาจัดปรับการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างทันท่วงที

 

หน่วยวิชา  “จินตทัศน์”

 

ครูมีความกล้าที่จะคิดแผนการเรียนรู้  และนำเสนอต่อกลุ่มอย่างมั่นใจมากขึ้น เป็นเหตุให้ความมั่นใจในการจัดกระบวนการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น  ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ครูทั้งระดับร่วมกันคิดแผน พัฒนาแผนและเป็นแผนที่มาจากความคิดของตนเองและทีม  รวมถึงมีการทดลองสอนร่วมกันก่อนในช่วงก่อนสอน  ทำให้เมื่อมีการสะท้อนกลับหลังการสอน ก็กล้าที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำผลการสะท้อนไปปรับพัฒนามากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันคิดหาวิธีการที่จะพัฒนานักเรียนร่วมกันอีกด้วย

 

ประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อ

 

  • การฝึกให้ครูสามารถทำการเปิดห้องเรียนด้วยคำถาม  สถานการณ์ปัญหา ตามแนวทางของ  open  approach
  • การฝึกให้ครู “อ่าน” วิธีการเรียนรู้ของนักเรียน
  • จัดคาบการเรียนรู้จากเพื่อนครูด้วยการสังเกตการณ์สอนของครูเข้าใหม่ให้เหมาะสม เพราะครูกลุ่มนี้ยังไม่ชำนาญในการคิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ต้องใช้เวลาเตรียมการค่อนข้างมาก

 

 

หมายเลขบันทึก: 445325เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2011 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

"ประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อ ..... •การฝึกให้ครู “อ่าน” วิธีการเรียนรู้ของนักเรียน... "

มีผลสะท้อนเล็ก ๆ จากศิษย์ถึงครู เพื่ออาจเป็นประโยชน์กับ "ประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อ" ค่ะ

ภูมิปัญญาภาษาไทย... สัปดาห์ที่แล้วลูกชายฝึกอ่านภาษาพาที "เพื่อนกัน" 2 ครั้ง (คืนวันศุกร์/วันอาทิตย์) ในคืนวันอาทิตย์ดูท่าทางเหมือนเบื่อ แม่เป็นผู้ถือหนังสือให้(นอนอ่าน) เค้าหันหลังและพูดไปเรื่อยๆ ..แต่ถูกต้องทุกคำค่ะ

...ล่าสุดคืนวันนี้(26/6/54) อ่าน "ไปโรงเรียน" ฝืด..มาก.. เลยให้พักค่ะ

คณิตศาสตร์...พ่อทึ่งมากที่ลูกชายใช้หลักอะไรไม่รู้ไม่สามารถจับต้องได้(ดูเหมือนไสยศาสตร์) ตั้งแต่ชั้น อ.3 สามารถบวกเลขได้ หลักหน่วยได้ผลลัพธ์เร็วมาก หลักสิบ หลักร้อย ได้ผลช้าลงตามลำดับ จนพ่อทดลองให้ หลักล้าน+หลักหน่วย/สิบ สามารถตอบได้ถูกต้อง (แต่ใช้เวลานานจนนึกว่าไม่บวกแล้ว)

มานุษกับโลก...การอ่านตามที่ครูมอบหมาย และรวบยอดความคิดผ่านบันทึก ทำได้ดีผ่านการชี้แนะเล็กน้อย (วิธีเรียนรู้แบบนี้แม่ชอบ)

...คงต้องใช้เวลาในการติดตามเฝ้าดูลูกชายคนนี้ต่อไป ผ่านการเรียนรู้โดยไม่ได้เรียนเสริมภายนอกเลย

ท้ายสุด...ฝากกำลังใจให้ครูหนึ่ง+ครู ชช.1 + ครูทุกท่าน / ขอบคุณเครื่องมือ (LS) ที่จะช่วยสร้างครูและศิษย์ที่มีคุณภาพต่อไปค่ะ

ขอบคุณคุณแม่ลูก2 มากค่ะ ที่เล่าเรื่องการเรียนรู้ของลูกชายมาให้ทราบ เพราะเป็นทั้งประโยชน์ และกำลังใจให้ครูมีประเด็นไปพัฒนางานต่อได้ดีมากเลยค่ะ

รบกวนเขียนมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ

:)

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท