มหาวิทยาลัยชีวิต (3) : บูรณาการ (บรรยายพิเศษโดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ)


"ทำอย่างไรผู้เรียนจึงจะสามารถจัดการอาชีพของเขา พัฒนาอาชีพของเขา พัฒนาชีวิตของเขาในสามปีเนี่ย และที่สำคัญที่สุดก็คือให้เขาคิดได้คิดเป็น คิดได้แล้วก็ตัดสินใจเลือกได้ วิชาต่างๆ จะต้องช่วยให้เขาได้สิ่งเหล่านี้ไป "

 

 

การบรรยายพิเศษ

ในการอบรมอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ประจำวิชา และอาจารย์พิเศษ

โรงแรมแม็กซ์ วันที่ 13 มิถุนายน 2554

โดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ

อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

 

 

     การเรียนรู้ที่เราเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง แล้วก็ทำให้เขาได้เรียนในชีวิตจริง แล้วก็ทำให้เขาได้เห็นตัวอย่างสำคัญมากครับ กระบวนการเรียนรู้ใหม่ การจัดการเรียนรู้ ถ้าเกิดเราไปช่วยให้เขามีฉันทะ มีความรักที่จะเรียนรู้เขาก็จะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งตรงที่สำคัญที่สุดก็คือว่า การเป็นอาจารย์ในสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เราอยากให้อาจารย์รู้ว่าจะจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร รู้จักสร้างแรงบันดาลใจ เพราะว่าครูที่นี่เป็นทั้งครูที่เป็นจิตวิญญาณแบบครูโบราณที่ลูกศิษย์กราบไหว้ได้ ต้องเป็นโค้ชคือเป็นผู้ให้คำแนะนำวิธีเรียนรู้ แนะนำให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างโค้ชกีฬาที่เก่งๆ ทำ เป็นเพื่อนที่รับฟังปัญหาเขาอย่างตั้งใจและเข้าใจ ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นเพื่อนเขาคอยรับฟัง ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นญาติเป็นคนที่จะติดตามไปดูว่าเขามีอาชีพอะไร ทำงานอย่างไร หากินอย่างไร รอบครัวเขาเป็นอย่างไร ที่แม่กลอง อาจารย์สุรเชษฐ อาจารย์สุมาลี และอาจารย์อีกหลายๆ ท่าน ก็ติดตามไปดูแล้วก็ประทับใจเพราะว่าเขามีอะไรดีๆ เยอะมาก แล้วก็กลายเป็นว่าได้ทำงานร่วมกัน เข้าออกสถาบัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน สถาบันเราไม่ใช่แบบอะไรก็ไม่รู้ ที่เขามาเรียนเสาร์อาทิตย์แล้วก็กลับไป ต้องเป็นญาติ เป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างของผู้ที่จะเรียนรู้ที่ดี


     เราได้ยินคำว่าบูรณาการมากเหลือเกิน ผมคิดว่าเป็นคำที่ดี ในร้อยคำที่ควรรู้นี่เป็นหนึ่งในคำหลัก บูรณาการก็แปลว่าไม่แยกส่วน หนึ่งเป็นการบูรณาการกับชีวิตนักศึกษาอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้นั่นแหล่ะ เป็นครู เป็นโค้ช เป็นเพื่อน เป็นญาติ สองบูรณาการกับวิชาอื่นๆ ประชุมกันเนืองนิจอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ประจำวิชา อาจารย์พิเศษ ต้องคุยกันนะครับ แต่อาจารย์ไม่มีสิทธิไปบอกให้สามีให้ลูกให้หลานให้เหลน หรือใครไม่รู้ให้มาสอนแทนเป็นไปไม่ได้นะครับ ต้องวางแผนกันให้ดีว่าถ้าเกิดเจ็บป่วยแล้วจะทำอย่างไร ต้องมีการประสานกันครับอาจารย์ เพราะถ้าไม่มีประชุมจะบูรณาการกันได้อย่างไร ต่างคนต่างก็ให้งาน คนนั้นหนึ่งชิ้น สองชิ้น สามชิ้น สี่ชิ้น สรุปเทอมนั้นนักศึกษาทำอยู่แปดชิ้น เหมือนที่ผมได้ยินในห้องน้ำ เค้าไม่รู้ว่าผมอยู่ในห้องน้ำ เขาบ่นมาว่า “งานเยอะฉิบหายเลยเทอมนี้” ไม่ดีหรอกครับ ถ้าไม่บูรณาการมันก็จะออกมาแบบนี้ แต่ถ้าบูรณาการมันก็อาจจะมีงานชิ้นเดียว ซึ่งเดี๋ยวท่านก็จะรู้ในสามสี่วันนี้ที่ต้องเตรียมการเรียนการสอน ปัญหาใหญ่ที่สุดของการสอนมัธยมมหาวิทยาลัยเหมือนกันก็คือต่างคนต่างสอนมองเป็นกลไกมองแยกส่วน บูรณาการกับวิถีชุมชน ถ้าท่านไม่ร่วมกับปราชญ์ กับผู้รู้ กับตัวอย่างที่ดีๆ ที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ท่านก็จะเรียนแต่หนังสือ เพราะฉะนั้นการที่เราให้เขามีปฎิสัมพันธ์ ไปเยี่ยมเยียน ไปขอเรียนรู้ ไปขอแลกเปลี่ยนกับกับชุมชนกับท้องถิ่นเนี่ย มันเป็นการกลับเข้าไปสู่ชีวิตที่มีการบูรณาการไว้แล้ว จะง่ายมากในการที่จะอธิบายคำว่าบูรณาการถ้าเราไปเรียนรู้กับชีวิตจริง ในห้องเรียนอธิบายว่าบูรณาการคืออะไร อธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจ ต้องไปดูชีวิตว่าเขากินอย่างไร เขาอยู่อย่างไร บูรณาการการศึกษาสู่การพัฒนา วันนี้นักศึกษาของเราหลายศูนย์ปรับโครงงานเป็นงานวิจัยและพัฒนาไปแล้ว และก็มีคนสนับสนุน มี อบต. มีเทศบาลสนับสนุน เพราะเขาเห็นว่าการทำงานแบบนี้ ทำไปด้วย เรียนไปด้วย พัฒนาไปด้วย มันไม่แยกกัน มันได้ผล มัน win-win ผู้เรียนก็ได้ ได้ทั้งความรู้และงบสนับสนุน อบต. เทศบาลที่ให้งบสนับสนุนก็ได้ผลงาน อย่างที่ขอนแก่น เขาเห็นว่าโครงงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพชุมชนมันได้ผล เขาก็ให้ทุน แล้วก็ทำการวิจัย ร่วมมือ สนับสนุน ส่งเสริม ตรวจสอบได้หมดเลย มันก็เป็นโครงงานที่ดี ทำอย่างไรเราจึงจะไม่แยกการพัฒนาจากการเรียนรู้ ทำอย่างไรจึงจะให้เกิดการบูรณาการกับชีวิตของตนเอง ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง ไปสอนคนอื่นให้ทำแต่ตัวเองไม่ทำ เราต้องมีสิ่งนี้


     ฉะนั้นถ้าเราจะเรียนแบบนี้ แปลว่าเราจะต้อง อันที่หนึ่งต้องมีข้อมูล แต่ข้อมูลที่ไม่มีความเชื่อมโยงเนี่ยมันเป็นขยะนะครับ You know what อย่างเดียว แต่ไม่ Know why มันก็ไม่มีปะโยชน์อะไร Why นี่ทำให้เชื่อมโยงได้ ผมไปดูงานวิจัยชิ้นหนึ่งของบ้านโคราช หนาอย่างนี้เลย โอโหตื่นเต้นมาก แต่มันไม่มีคำอธิบายว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น อธิบายมาน้อยมาก คือไม่มีการถอดรหัส ไม่มีการตีความ ไม่มีการเชื่อมโยง ให้เห็นคุณค่าและความหมายของสิ่งเหล่านั้น การเชื่อมโยงอันนี้จะกลายเป็นความรู้ แต่ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ถ้าไม่มีการนำไปปฏิบัติ และตกผลึกจนกระทั่งเป็นหลักคิดหลักการ เป็นปรัชญา เป็นปัญญา เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ของนักศึกษาคือไม่ใช่การที่ให้พวกเขาไปเก็บข้อมูล แต่ต้องให้เขาเรียนรู้ทั้งกระบวนการ คือให้พวกเขามีข้อมูลและรู้จักเชื่อมโยงให้พวกเขานำไปปฏิบัติ แล้วก็สรุป สังเคราะห์ และพัฒนาเป็นอะไรที่มีพลังของเขาเอง เป็นความรู้ใหม่เมื่อมันตกผลึกขึ้นมา นี่คือกระบวนการที่ผมคิดว่าสำคัญ และที่เราได้สรุปมาจากการทำงานกับชุมชน การเรียนรู้ของชุมชนและการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยชีวิตเป็นเรื่องเดียวกันครับอาจารย์


     ถ้าเราตอบโจทย์ไม่ได้ในแปดข้อต่อไปนี้ ถือว่าสอบตกครับ การเป็นอาจารย์ในสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนเราต้องการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มันสนุก สนุกเพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเขา เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติรอบตัวเขา เป็นวิธีแบบธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นอะไรที่เสแสร้ง ถ้าเขาไม่ได้อยู่บนภูเขาจะไปเรียนเรื่องหิมะทำไมให้มันวุ่นวาย อยู่ใกล้น้ำก็เรียนเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องพืช เรื่องสัตว์ อะไรต่ออะไร ทำให้เขาได้เห็นว่าสิ่งนั้นมีคุณค่าต่อตัวเขา ให้เขาได้ความรู้จริง ได้ปฏิบัติได้ทดลองด้วยตัวเอง ทำให้เขาได้เพื่อน สำคัญนะครับอาจารย์ เรามีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศตั้งแต่เชียงรายถึงสงขลา ตั้งแต่มุกดาหารไปจนถึงจังหวัดตาก พิษณุโลก เรามีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศอย่างอย่างไรให้เพื่อน ไม่ใช่แค่ 50 คนที่ศูนย์ เขาต้องไปเรียนเสาร์อาทิตย์ถึง 2 ครั้งนะครับ แต่ละใน ศรป. เขาจะได้มีเครือข่ายจะได้มีเพื่อน การที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่มานั่งฟังอาจารย์บรรยาย จะทำอย่างนั้นก็ได้ถ้าเป็นวิทยากรที่เขาจะหาฟังที่ไหนไม่ได้ ใน 3-4 วันนี้เราต้องเตรียมจัดกระบวนการเรียนรู้นี้ด้วย เพื่อให้เขาได้มาเรียนและมีความสุข ให้เขารู้สึกว่ามันคุ้มที่เขาจะเดินทางมา หลายคนเดินทางมาเป็นแปดสิบกิโลร้อยกิโลก็มี


     ทำอย่างไรผู้เรียนจึงจะสามารถจัดการอาชีพของเขา พัฒนาอาชีพของเขา พัฒนาชีวิตของเขาในสามปีเนี่ย และที่สำคัญที่สุดก็คือให้เขาคิดได้คิดเป็น คิดได้แล้วก็ตัดสินใจเลือกได้ วิชาต่างๆ จะต้องช่วยให้เขาได้สิ่งเหล่านี้ไป เช่นวิชากระบวนทัศน์พัฒนาเนี่ยอาจารย์หลายท่านก็สอนมาด้วย ผมพัฒนาวิชานี้ขึ้นมาเอง ผมเรียกมันว่า Positioning yourself ภาษาฝรั่ง คือให้รู้ว่าคุณยืนอยู่ตรงไหนในโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้ ให้คุณรู้ว่าคุณมาจากไหน และกำลังจะไปไหน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ ก็เพราะไม่รู้ไงครับถึงถูกครอบงำไปหมด ถูกชี้นำไปหมด ปัญหาของชาวบ้านไม่ใช่ขาดเงินแต่ขาดวิธีคิด ฉะนั้นเราต้องทำให้เขาบอกได้ว่าอยู่ตรงไหนแล้วเชื่อมโยงได้ วันหนึ่งผมพาคุณหมอประเวศ และคุณหญิงสุพัทรา แล้วก็ใครต่อใครไปดูงานที่แม่กลอง แล้วผมก็ชวนนักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตมา คือท่านอยากจะรู้ว่าคุณจัดอย่างไรมหาวิทยาลัยชีวิต อยากดู ก็มีนักศึกษาคนหนึ่งบอก หนูทำงานอยู่ที่เทศบาลแล้วก็มาเรียน เมื่อก่อนหนูไม่รู้เลยว่าชุมชนเป็นยังไงไม่รู้จัก พอมาเรียนแล้วถึงเขาใจว่าชุมชนเป็นอย่างไร และเริ่มเชื่อมโยงได้ว่าอะไรเป็นอะไร การเรียนรู้คือการเชื่อมโยง เริ่มเชื่อมโยงเป็น จนกระทั่งหนูมีความมั่นใจว่าหนูน่าจะเป็นนายกเทศมนตรีได้กระมัง เธอไม่ได้ขำตัวเองนะครับเวลาพูด เธอพูดจริงๆ เลยนะครับ คือคนเราพอเริ่มมีความเชื่อมั่นในตัวเองและเริ่มรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเนี่ย ก็จะเชื่อมั่นว่าเราเป็นผู้นำได้ นี่ก็คือได้วิธีการเรียนรู้และก็ได้แรงบันดาลใจ ซึ่งสำคัญมากการศึกษาจะมีประสิทธิภาพกว่านี้มากเมื่อทำให้เด็กออจากโรงเรียนได้รู้ว่า ยังมีเรื่องราวมากมายหลายอย่างที่พวกเขาไม่รู้ และทำให้พวกเขาเต็มไปด้วยความปรารถนาอยากจะเรียนรู้ตลอดชีวิต ถามว่าการศึกษาของเราเมื่อนำมาประยุกต์กับผู้ใหญ่เนี่ย มันจะช่วยให้เขาได้มีวิธีการเรียนรู้ ทำให้พวกเขาได้ลิ้มรสของคุณค่าของความรู้ และวิธีการที่เขาจะเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ถ้าเขามีสิ่งนี้เขาก็จะมีความสุขที่จะเรียนรู้ครับ ผมว่าการเรียนรู้จะต้องทำให้เขาจบแล้ว เขารู้สึกว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่เขาจะต้องไปเรียนรู้เองอย่างมีความมั่นใจ นั้นจึงจะใช่ ฉะนั้นผมอยากจะให้ท่านได้เห็นว่า การที่เราจัดกระบวนการเรีเยนรู้ในสถาบันแห่งนี้เนี่ย เราต้องการที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และได้ทำใน  3 สาระสำคัญของมหาวิทยาลัยชีวิต หนึ่งก็คือให้เขาได้ปรับวิธีคิดได้ ซึ่งหมายถึงปรับวิธีการมองโลก มองชีวิตใหม่ทั้งหมดเลย ซึ่งมันมีคำหลายอย่างที่มันจะช่วยให้เราได้เข้าใจ บางครั้งมันง่ายบางครั้งมันยากนะครับอาจารย์ จัดวิธีคิด จัดระเบียบชีวิต จัดการชุมชน สามอย่างนี้แหล่ะ มหาวิทยาลัยชีวิตต้องการทำ 3 เรื่องนี้ ทำอย่างไรให้ผู้เรียนปรับวิธีคิดของเขา จัดการชีวิตของเขา แล้วก็ช่วยให้ชุมชนได้เข้มแข็งขึ้น การปรับประบวนทัศน์บางทีมันก็ไม่ได้ยากอะไร อาจารย์ดูนี่ครับ ... (เปิดคลิปวิดีโอคนตาบอด)


     ผู้หญิงคนนี้เดินผ่านผู้ชายขอทานที่เขียนว่า “ผมตาบอดช่วยผมด้วย” ก็เหมือนกับคนขอทานทั่วไปที่เขียน แกเดินผ่านไป แล้วก็กลับมาเขียนให้ใหม่ว่า “วันนี้สวยงามมาก แต่ผมไม่เห็นมัน” (Today is beautiful but I can’t see it) ซึ่งประทับใจคนมาก ฉะนั้นการสร้างความประทับใจ การสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเนี่ยสำคัญมากครับ ทำให้เปลี่ยนวิธีคิดเขา ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา คือทำให้เขามีความสุขได้ ให้เขามีความรักที่จะเรียนได้ ให้เขามีความมุ่งมั่น นี่เป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่ง่ายครับอาจารย์ ผมบอกทุกคนเสมอว่ายุคเกษตรที่ข้าวมีความสำคัญมันผ่านไปแล้ว ยุคอุตสาหกรรมที่เคยสำคัญที่สุดมันผ่านไปแล้ว วันนี้เป็นยุคความรู้ ถ้าคุณไม่มีความรู้คุณอยู่ไม่ได้แน่นอน มีที่ดินแต่ไม่มีความรู้ที่ดินก็หมด มีเงินแต่ไม่มีความรู้ก็จะเหลือแต่หนี้เพราะวางแผนไม่เป็นใช้เงินไม่เป็น วันนี้คนมีความรู้เปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นป่าเป็นสวนเป็นไร่นาเป็นที่อยู่อาศัย แต่คนที่ไม่มีความรู้เปลี่ยนป่าให้เป็นทะเลทราย เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าถ้าไม่มีความรู้เขาอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ก็ถูกโกงถูกหลอกถูกเอาเปรียบ ทำอย่างไรจะให้เขารู้สึกว่า หนึ่งความรู้สำคัญที่สุด ถึงไม่ได้เป็นนายก อบต. คุณก็ต้องมีความรู้เพื่ออความอยู่รอด อันที่สองคือทำให้เขารู้ว่าไม่มีอะไรฟรีในชีวิต เขาต้องเรียนรู้ ต้องต่อสู้ ... อาจารย์จะให้เขาดูภาพนี้ก็ได้ครับ (เปิดคลิปคนพิการ)

 

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 445244เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท